ฮาวทูกู้โลกรวน ฉบับพูดง่าย ทำยาก
วิธีที่ 1: กินง่ายๆ (ก็แค่เอาใส่เข้าปาก เอ่อ...เดี๋ยวนะ)
การสรรหาของกินที่ ‘เยอะ’ และ ‘ยาก’ (จนเกินพอดี) นำมาซึ่งปัญหาโลกร้อน
แนะนำ : อาหารที่ทำจากวัตถุดิบท้องถิ่น (Local Food & Local Ingredients)

WHAT (เกิดอะไรขึ้นอ่ะ?)
ไม่ใช่แค่อินเทอร์เน็ตจะเชื่อมโลกถึงกัน แต่วัตถุดิบอาหารจากทั่วโลกที่เคยเป็นของหายากจากต่างแดน เช่น เนื้อวากิว, ปูอลาสก้า, คาเวียร์, เนื้อหมูไอเบริโก ฯลฯ ก็มาจบลงที่กระเพาะของเราได้ง่ายๆ เพราะโลกแห่งการค้าขายไม่อนุญาตให้ใครอยู่กับที่ ต้องขยาย ต้องเติบโต (การพูดว่า “Growth” จะช่วยให้คุณดูเก๋เท่ขึ้นทันที) ทุกๆ ปี แน่นอน มนุษย์เข้าถึงของอร่อยได้ง่ายขึ้น (แต่ก็ยังแพงกว่าวัตถุดิบท้องถิ่นอยู่ดี) ร้านอาหารต่างชาติมีทุกหัวมุมถนน แต่ก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุนแฝงทางสิ่งแวดล้อมมหาศาล
WHY (ทำไมโลกร้อนล่ะ, เกี่ยวไร?)
ทำไมเรื่องกินของอร่อยจากแดนไกลถึงส่งผลให้โลกร้อนน่ะเหรอ เอางี้ สิ่งที่เราต้องรู้ (หรือ “ตระหนัก”) ก็คือทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ล้วนสร้างก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้นทั้งนั้นแหละ ทีนี้การกินอะไรที่ได้มายากๆ (ส่วนจะอร่อยหรือไม่ ลิ้นใครลิ้นมัน) ก็ต้องผ่านกระบวนการเยอะแยะกว่าวัตถุดิบนั้นจะเดินทางจากต้นทางมาถึงกระเพาะของเรา

ยกตัวอย่าง เนื้อหมูไอเบริโกแสนอร่อยจากแดนกระทิงดุ ก็ต้องผ่านการเลี้ยงดู แปรรูป แพคเกจจิ้ง เก็บรักษา ขนส่งข้ามน้ำข้ามทะเล พอถึงที่หมายก็ต้องขนส่งและเก็บรักษา (อีกครั้ง) กระจายสินค้าและจัดจำหน่าย จนถึงปรุงอาหาร ใส่จาน กระทั่งมานอนเอิ่บอาบกับน้ำกรดในกระเพาะ ถ้าหากกินเหลือ ก็กลายเป็นขยะอาหารหรือ Food Waste อีกด้วย
ความจริงที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือทุกขั้นตอนที่ทำให้โลกร้อน ก็จะย้อนกลับมาทำลายความมั่นคงด้านอาหารอย่างเงียบๆ ช้าๆ จนอาหารดีๆ ลดฮวบและสาบสูญ เพราะความตามใจปากที่เกินพอดีของมนุษย์

HOW (ทำอย่างไรล่ะทีนี้)
ทางออกของเรื่องนี้ง่ายมาก (แต่ทำใจยาก โดยเฉพาะคนที่ชอบของอร่อย) เพียงแค่กินอาหารที่ปรุงด้วยวัตถุดิบท้องถิ่น กินตามฤดูกาลนั่นแหละ เช่น พวกอาหารไทย ผลไม้ไทย และอาหารท้องถิ่นต่างๆ (พูดให้ร่วมสมัยหน่อยก็ต้องว่า “Local Food” ที่ทำจาก “Local Ingredients”)
อาหารเหล่านี้มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อดินปลูก ความสูง อากาศเหมาะสม ย่อมทำให้พืชพรรณเติบโตอวบอิ่มเต็มที่ แบบไม่ต้องอัดปุ๋ยเร่งโต ลดการใช้สารเคมี (แน่นอนว่า ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม) ตัดระยะทางการขนส่ง ซึ่งเป็นการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ต้องใช้พลังงานในการแช่เย็นเก็บรักษา แถมเราก็ได้กินของที่สดใหม่ หนำซ้ำยังได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะได้อุดหนุนคนในชุมชน เม็ดเงินหมุนวนภายในท้องที่

เรียกว่า “กินอร่อย ดีต่อใจ ส่งเสริมชุมชน เสริมสร้างสุขภาพ” ไปพร้อมกัน
ขอจบเรื่องนี้ด้วยกลอนดีๆ จากโฆษณาดังเมื่อยุค 90s