สถิติตัวเลขคุณภาพอากาศที่น่าสูดให้เต็มปอดนับวันยิ่งต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เพราะมีเพียง 17% ของเมืองทั่วโลกที่สามารถบรรลุมาตรฐานคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) และดูท่าว่าจะลดลงอีกเมื่อมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ ยุติบางโครงการที่กระทบกับโลกโดยตรง

โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก ได้เปิดเผยข้อมูลคุณภาพอากาศตามที่รวบรวมโดยบริษัท IQAir โดยพบว่าปีที่ผ่านมา ทั้งโลกมีเพียง 7 ประเทศเท่านั้นที่สามารถบรรลุมาตรฐานคุณภาพอากาศของ WHO คือ ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, บาฮามาส, บาร์เบโดส, เกรเนดา, เอสโตเนีย และไอซ์แลนด์
ส่วนที่ตรงกันข้ามอย่างสุดขั้วคือ ประเทศชาด และบังคลาเทศ เป็นประเทศที่มีมลพิษสูงที่สุดในโลกแห่งปี 2024 โดยระดับมลพิษเฉลี่ยสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกมากถึง 15 เท่า ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบจากฝุ่นจากทะเลทรายซาฮารา และการเผาไหม้ทางการเกษตรที่ไม่ได้รับการควบคุม โดยค่าความเข้มข้นเฉลี่ยของอนุภาคขนาดเล็กที่เป็นอันตราย หรือ PM2.5 ในปีที่แล้วในประเทศนี้อยู่ที่ 91.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าในปี 2022 เล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม มีช่องว่างข้อมูลที่สำคัญ โดยเฉพาะในเอเชีย แอฟริกา และหลายประเทศกำลังพึ่งพาเซ็นเซอร์คุณภาพอากาศที่ติดตั้งบนสถานทูตและสถานกงสุลของสหรัฐฯ ในการติดตามมลพิษทางอากาศของตน
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ยุติโครงการดังกล่าว โดยอ้างถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณ ซึ่งข้อมูลมากกว่า 17 ปีถูกลบออกจากเว็บไซต์การติดตามคุณภาพอากาศของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่าง airnow.gov เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
คริสตา ฮาเซนคอฟ ผู้อำนวยการโปรแกรมอากาศสะอาดจากสถาบันนโยบายพลังงานมหาวิทยาลัยชิคาโก (EPIC) กล่าวว่า มีอย่างน้อย 34 ประเทศที่จะสูญเสียการเข้าถึงข้อมูลมลพิษที่เชื่อถือได้ หลังจากการยุติโครงการของสหรัฐฯ โครงการของกระทรวงการต่างประเทศช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมืองที่ติดตั้งเครื่องมอนิเตอร์ ทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น และแม้แต่ลดค่าทดแทนความเสี่ยงสำหรับเจ้าหน้าที่ทูตสหรัฐฯ ซึ่งหมายความว่าโครงการนี้จ่ายคืนตัวเองได้

และแน่นอนว่าเมื่อพูดถึงเรื่องของคุณภาพอากาศ อินเดีย เป็นประเทศที่หลายคนกังวลจากภาพที่มักปรากฏตามสื่อ
สำหรับประเทศอินเดีย ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 5 ของประเทศที่มีมลพิษสูงสุด รองจากชาด, บังคลาเทศ, ปากีสถาน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก พบว่าค่าเฉลี่ยของ PM2.5 ลดลง 7% จากปีก่อน โดยอยู่ที่ 50.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
บทสรุปจากนักวิจัยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) กำลังมีบทบาทมากขึ้นในการเพิ่มมลพิษ โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เกิดไฟป่าที่รุนแรงและยาวนานขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้เผาผลาญพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอเมริกาใต้ อย่างที่เห็นเป็นประจักษ์แล้ว