“อโรคยา ปรมา ลาภา ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ”
พุทธพจน์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและการให้คุณค่าต่อการมีสุขภาพที่ดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ หนึ่งในจุดมุ่งหมายของการมีชีวิตที่มีความสุขซึ่งมีมาตั้งแต่อดีตกาล ปัจจุบันถ้าให้ทันโลกมากขึ้นก็ต้องเติมคำว่า “Sustainabilty” หรือ “ความยั่งยืน” ดังนั้นการมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน (Sustainable Wellness) น่าจะเป็นเรื่องเดียวกับพุทธพจน์ประโยคนี้
วันที่ 27 พฤศจิกายน “วันสร้างสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งตรงกับวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข ถือเป็นวันที่มีความสำคัญต่อการสาธารณสุขของไทย ที่ไม่เพียงแค่ส่งเสริมการดูแลสุขภาพของประชาชน แต่ยังเชื่อมโยงกับแนวคิดของความยั่งยืนอย่างชัดเจน หากเราต้องการสร้างสังคมที่แข็งแรงจริงๆ การรักษาโรคอย่างเดียวคงไม่พอ แต่การสร้างสุขภาพที่ดีให้ยั่งยืนเพื่อไม่ให้เกิดโรคต่างหากคือคำตอบ
หลายปีมานี้แนวคิด Sustainable Wellness ทำให้เราเห็นถึงมิติสุขภาพกับความยั่งยืน ผู้เขียนในฐานะผู้สื่อข่าวสายสุขภาพเคยได้ฟัง หมอแอมป์-นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก พูดบนหลายเวทีถึงเรื่องของ Sustainable Wellness จึงอยากนำมาสรุปให้ได้อ่านกันเนื่องในวัน “วันสร้างสุขภาพแห่งชาติ”

ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ตีกรอบให้คนป่วยง่าย
ต้องยอมรับว่าในยุคนี้ ไลฟ์สไตล์ของเราเป็นอะไรที่ “รีบเร่ง” ตื่นเช้ามาก็แทบจะพุ่งตัวไปทำงาน พยุงตัวให้รอดท่ามกลางการจราจรที่แออัด กลางวันก็ไม่ต่างอะไรกับการทดสอบความอดทนของร่างกายและจิตใจ ใช้อาหารจานด่วนปลิดความหิว (เลือกแค่ร้านที่ไม่ต้องรอนานก็โอเคแล้ว) เติมพลังด้วยเครื่องดื่มหวานๆ ที่อัดแน่นด้วยน้ำตาลจนเกือบกลายเป็นน้ำเชื่อม ถึงตอนเย็นก็ฝ่าฟันรถติดกลับถึงบ้าน ขณะที่กำลังคิดว่าจะทำงานต่อหรือพัก? ดันมีซีรีส์รออยู่ มีฟีดโซเชียลให้ไถดู จนเปลือกตาเคลิ้มหลับไปแบบไม่รู้สึกผิด
จากไลฟ์สไตล์แบบนี้ในมุมมองทางการแพทย์ อาจกำลังถอนหายใจอยู่ตรงมุมห้อง เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลเสียที่ยิ่งใหญ่ตามมา เพราะแค่กินให้อิ่มแต่ไม่มีประโยชน์ ดื่มน้ำตาลแบบสำราญใจ ซดแอลกอฮอล์ในปริมาณที่ใกล้เคียงกับปริมาณน้ำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน การสูบบุหรี่แถมควันจาก PM2.5 บวกความเครียดจากงานที่ไม่เคยจบ และการที่ร่างกายได้ออกกำลังกายแค่ตอนเอื้อมไปหยิบโทรศัพท์เปิดๆ ไถๆ รวมถึงการนอนแค่พอให้ร่างกายและหัวใจไม่ล้มเหลว (นอนน้อยแต่นอนนะ) ล้วนทำให้ชีวิตเราอยู่ในสถานะของคนที่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) พร้อมจะส่งใบสมัครให้ทุกเวลา

โลกก็กำลังป่วย
เราต่างรู้ว่าโลกกำลังป่วย ความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นทำโลกร้อน รวน และเดือด ตามสเต็ป Global Warming > Climate Change > Global Boiling
“ลองเปรียบโลกของเราเหมือนกับตัวเรา อุณหภูมิตัวเราเท่ากับ 37.5 องศา ถ้าเพิ่มขึ้น 1.5 องศา เป็นอุณหภูมิ 39 องศา เรียกว่าเริ่มไข้สูง และถ้าเพิ่มขึ้น 2 องศา เป็น 39.5 องศาเรียกว่ามีไข้สูงมากจนมีสิทธิ์เสียชีวิตได้เลย จะเห็นว่าถ้าเราเปรียบโลกเหมือนตัวเรา ก็เท่ากับว่าโลกกำลังป่วยหนัก”
นายแพทย์ตนุพล กล่าวบนเวทีงาน SX2024

ปัจจุบันเรากำลังเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) มีการคาดการณ์ว่าปี 2030-2050 อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นจะทำให้ผู้คนเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 250,000 คนต่อปีจากภาวะทุพโภชนาการ โรคมาลาเรีย ท้องร่วง รวมถึงภาวะเครียดจากผลกระทบด้านมลพิษ ความร้อน น้ำท่วม นอกจากนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคาดการณ์ว่าจะมีคนเสียชีวิต 7 ล้านคนต่อปีจากการสัมผัสมลพิษทางอากาศ

“สุขภาพดี โลกดี” คำนี้ไม่เกินจริง!!
5 หนทางสู่การมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน (Sustainable Wellness)
1. อาหารจากพืช คืออาหารที่ยั่งยืน
แน่นอนว่าเนื้อสัตว์อร่อย แต่การบริโภคโปรตีนจากสัตว์บ่อยๆ และมากๆ ทำลายทั้งสุขภาพและทำร้ายโลกของเราไปพร้อมๆ กัน เพราะผลกระทบจากการเลี้ยงปศุสัตว์อย่างวัวและแกะปล่อยก๊าซมีเทนทำลายบรรยากาศได้พอๆ กับการปล่อยของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม การหันมากินอาหารจากพืช เช่น วีแกน, มังสวิรัติ, Flexitarian หรือวิถีการกินแบบยืดหยุ่นตามใจ เน้นกินพืชผักให้มากและกินเนื้อให้น้อยเข้าไว้ นอกจากจะดีต่อร่างกายแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยมลพิษ และต่อสู้กับภาวะโลกร้อนให้เย็นลงได้ถึง 50%

2. ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและโลก
เคลื่อนไหวร่างกายตอนนี้เรียก “ออกกำลังกาย” เคลื่อนไหวร่างกายตอนสาย เรียก “กายภาพบำบัด” การออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือแพงๆ ก็สามารถทำได้ อย่างแค่เปลี่ยนจากการใช้เครื่องยนต์กลไกและพลังงาน มาใช้ “เครื่องยนต์มนุษย์” เดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยาน ก็ได้ออกกำลังกาย ได้การเผาผลาญไขมัน ดีต่อหัวใจ ห่างไกลเบาหวาน ความดัน ไขมัน ได้แต้มสุขภาพแล้วยังได้แต้มทำดีต่อโลก ง่ายๆ แค่เปลี่ยนก็ช่วยโลกและสุขภาพพร้อมกัน
3. อากาศดี โลกดี ชีวิตดี
รู้ไหมว่าอากาศแย่ๆ ไม่ใช่แค่ทำให้เราหายใจไม่สะดวก แต่ยังทำร้ายร่างกายทั้งภายในและภายนอก เมื่อโลกของเราป่วยจากมลพิษทางอากาศ อากาศเสียก็วนกลับมาทำให้คนเราป่วยง่ายขึ้น ทั้งตาแสบ แสบจมูก หายใจไม่สะดวก และยังเสี่ยงโรคหัวใจ มะเร็ง รวมถึงภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงอีกด้วย เราสามารถช่วยโลกได้ง่ายๆ เพียงแค่เริ่มจากการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่สูบบุหรี่ ลดอาหารแปรรูป กินให้หมด แค่เปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ก็ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและฝุ่น PM2.5 ที่ทำร้ายสุขภาพเราและโลกไปพร้อมๆ กัน
4. การนอนหลับที่ดีและยั่งยืน
การนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพและการนอนที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคภัย ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง และเกิดปัญหาสุขภาพจิต และเมื่อมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นก็เพิ่มของเสียทางการแพทย์ เพิ่มขยะกำจัดยากเป็นภาระของโลกมากขึ้น นอกจากการนอนจะเป็นพฤติกรรมที่ดีในมิติสุขภาพแล้ว การนอนหลับยังเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพราะในขณะตื่นนอน มนุษย์จำเป็นต้องอาศัยทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร พลังงานไฟฟ้า และเชื้อเพลิง หมายความว่ายิ่งเรานอนหลับน้อยลงเท่าใด ก็ยิ่งเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น
5. กิจกรรมอาสา สร้างอารมณ์แห่งความสุข
ใครจะรู้ว่าแค่ทำดี บางทีอาจจะทำให้เราได้ "ดี" กลับมาอีกเป็นสิบเท่า การมีจิตอาสาไม่เพียงแค่ทำให้โลกใบนี้สดใสขึ้น แต่ยังช่วยให้ใจของเราสดชื่นขึ้นด้วย ลองนึกภาพตัวเองช่วยปลูกต้นไม้ หรือเก็บขยะในสวนสาธารณะ แล้วกลับมาบ้านพร้อมรอยยิ้มและความรู้สึกว่า "ฉันทำอะไรดีๆ ให้โลกแล้ว!" อารมณ์ดีๆ แบบนี้แหละที่ช่วยลดความเครียดและทำให้สมองปลอดโปร่ง ไม่ต้องห่วงเรื่องสุขภาพจิต ยิ่งช่วยคนอื่น ยิ่งทำให้เราแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ เรียกว่า “ทำดีเพื่อโลก ทำดีเพื่อเรา”
ทั้ง 5 พฤติกรรมนี้ไม่ได้แค่ช่วยให้สุขภาพของเราแข็งแรงขึ้น แต่ยังช่วยโลกใบนี้ให้มีสุขภาพดีไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นการดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีไม่ใช่แค่เพื่อเราแล้ว แต่ยังเพื่อคนที่เรารักและโลกที่เราต้องอยู่ด้วย มาร่วมกันสร้างสังคมสุขภาพดีอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน