วิถีชีวิตคนเมืองในปัจจุบันยังคงกระจุกตัวอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม ทำให้การจัดการขยะที่เกิดขึ้นภายในคอนโดมิเนียมกลายเป็นเรื่องที่สำคัญ ล่าสุด สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ร่วมมือกับ องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งเดนมาร์ก (DEPA) และกรุงเทพมหานคร (BMA) เดินหน้าโครงการ “คัดแยกขยะครัวเรือนในคอนโดมิเนียมกรุงเทพฯ” ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างต้นแบบการจัดการขยะที่สามารถขยายผลไปทั่วประเทศ โดยเริ่มต้นในสองเขตนำร่องคือ คลองเตย และวัฒนา

ทำไมการแยกขยะในคอนโดมิเนียมถึงสำคัญ?
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย อธิบายว่า ในปัจจุบันไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มีพฤติกรรมการอยู่อาศัยจากบ้านเป็นคอนโดมิเนียมมากขึ้นด้วยหลายสาเหตุด้วยกัน ดังนั้นทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในฐานะองค์กรที่ขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรม ที่ปรับ เปลี่ยน พฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการเสนอแนวทางการจัดการขยะครัวเรือนในคอนโดมิเนียม จึงได้มีการนำเสนอโครงการนำร่องคัดแยกขยะครัวเรือนในคอนโดมิเนียม กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งเดนมาร์ก (DEPA) ภายใต้การดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตคลองเตย และสำนักงานเขตวัฒนา

“TEI มีบทบาทในการโครงการคือ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานทำการศึกษา ตั้งแต่การศึกษาข้อมูลการคัดแยกขยะจากกรณีศึกษาต่างประเทศ ในประเทศ และกรุงเทพมหานคร การศึกษาทบทวน และการจัด Workshop สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การจัดทำข้อตกลงกับผู้เก็บขยะและผู้รีไซเคิล การจัดซื้อและติดตั้งอุปกรณ์คัดแยกขยะ การพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลอาคารและผู้อยู่อาศัย และการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน เป็นการรายงานความคืบหน้า แนวทาง และระเบียบปฏิบัติสำหรับการคัดแยกขยะ ไปจนถึงการลงมือปฏิบัติในพื้นที่คอนโดมิเนียมนำร่อง 5-20 แห่งในเขตคลองเตยและเขตวัฒนา และการติดตาม ประเมินผล พร้อมนำไปจัดทำเป็นรายงาน”

โครงการที่ทำมากกว่าการคัดแยกขยะ
ในมุมมองของ วรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การร่วมมือกันในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญและสอดรับกับการดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมฯ (ฉบับใหม่) ซึ่งหากคอนโดมิเนียมที่เข้าร่วมโครงการนำร่องการแยกขยะ จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของพื้นที่อาคารสูง อีกทั้งยังเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่อาคาร นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยที่ต้องการมีส่วนร่วมในการเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

“การพัฒนาการแยกขยะในตึกสูงในคอนโดมิเนียม จะครอบคลุมถึงขั้นตอนการติดตั้งถังขยะและภาชนะรองรับขยะแก่ผู้อยู่อาศัย และการพัฒนาระบบการคัดแยกขยะที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างโมเดลและคู่มือที่สามารถขยายผลได้สำหรับการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ให้ข้อมูลสำหรับแนวทางการคัดแยกขยะระดับชาติ และให้ข้อเสนอแนะสำหรับการนำไปใช้ในวงกว้างทำซ้ำกับพื้นที่อื่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ทั้งในกรุงเทพมหานคร และภูมิภาคอาเซียน” มาร์ติน ชนีคล็อธ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนจากสถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กฯ และ เจนส์ นีทอฟต์ ราสมุสเซ่น ผู้จัดการโครงการฯ จาก DEPA กล่าวเสริม
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเพื่อเป้าหมายที่ยั่งยืน
โครงการนี้มุ่งหวังผลสำเร็จในปี 2026 และเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายจัดการขยะและขยะพลาสติกของประเทศ ที่จะนำไปสู่เป้าหมายการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแค่เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ยั่งยืนในระดับพื้นฐาน
การเริ่มต้นแยกขยะในคอนโดมิเนียมไม่ใช่แค่การลดขยะ แต่คือการส่งเสริมให้ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สร้างแรงบันดาลใจให้กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคขยะของเราทุกคน ตั้งแต่วันนี้…เพื่อโลกที่ดีกว่าในวันหน้า