รู้จักปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (Temperature Inversion) สาเหตุทำกรุงเทพฯ จมฝุ่น

7 ม.ค. 2568 - 10:40

  • สาเหตุหลักที่ทำให้กรุงเทพฯ จมฝุ่น PM2.5 มาจากการใช้รถยนต์ ปัญหาจราจร บวกกับปัจจัยด้านภูมิอากาศ

  • ข้อมูลของกรมอุตุฯ เผยว่าภาวะอุณหภูมิผกผัน (Temperature Inversion) มักเกิดในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ทำให้ค่า PM2.5 พุ่งสูงขึ้น

ecoeyes-temperature-inversion-causing-bangkok-to-drown-in-dust-SPACEBAR-Hero.jpg

ค่าฝุ่นวันนี้ PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เกินเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ และผลจาก Air Visual แบบเรียลไทม์ (ช่วงสายวันนี้) เผยค่ามลภาวะทางอากาศกรุงเทพฯ ประเทศไทย รั้งอันดับ 12 ของโลก!!!

ecoeyes-temperature-inversion-causing-bangkok-to-drown-in-dust-SPACEBAR-Photo01.jpg

เปิดที่มาปัญหาเมืองคลุกฝุ่น

สาเหตุหลักที่ทำให้ฝุ่น PM2.5 ครอบเมืองกรุงจนแผนที่เป็นสีส้ม (บางพื้นที่วัดจากสมาร์ทโฟนเป็นสีแดง) มาจากการใช้รถยนต์และปัญหาจราจร โดยเฉพาะจากพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ที่มีกระบวนการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เกิดเขม่าและฝุ่นควันมาก โดยข้อมูลกรมขนส่ง แสดงให้เห็นว่าจากยานพาหนะทั้งหมด 11.99 ล้านคันในเขตกรุงเทพฯ เป็นเครื่องยนต์ดีเซลมากถึง 3.28 ล้านคัน (27.37%) ยิ่งยานพาหนะมีอายุมากเท่าไหร่ การปล่อยมลพิษก็มีมากตามไปด้วย ซึ่งยานพาหนะทุกเครื่องยนต์ที่อายุ 11–20 ปีมีอยู่ถึง 3.16 ล้านคัน (26.4%) และอายุมากกว่า 20 ปีมีอยู่ 989,476 คัน (8.3%) นอกจากนี้ ยังบวกกับการผลิตไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดใกล้เคียง ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น 

ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (Temperature Inversion) 

สำหรับช่วงสัปดาห์นี้ ยังมีอีกสาเหตุที่ดันวิกฤตฝุ่น PM2.5 หนักขึ้น เนื่องจากปัจจัยด้านภูมิอากาศที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน” หรือ Temperature Inversion พูดให้เข้าใจก็คือการระบายอากาศในเมืองอยู่ในอัตราต่ำกว่าปกติ

ecoeyes-temperature-inversion-causing-bangkok-to-drown-in-dust-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ในสภาวะปกติ เมื่อพื้นดินคลายความร้อนออกมา อากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นสูง พัดพาฝุ่นลอยกระจายตัวออกไปด้วย แต่ในช่วงปลายฤดูหนาว (โดยเฉพาะช่วงเช้าตรู่) เกิดอุณหภูมิผกผัน ทำให้มีอากาศสามชั้น อุณหภูมิที่ผิวพื้นมีความเย็นกว่าชั้นอากาศที่อยู่เหนือกว่า ขณะเดียวกันก็มีอากาศชั้นที่สามที่อยู่บนสุด แต่มีความเย็น เพราะอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ชั้นอากาศร้อนชั้นที่สองกลายเป็น “ฝาชีครอบ” กักอากาศที่ผิวพื้นไว้ นี่แหละที่ทำให้หมอกควันไม่เคลื่อนตัว และสะสมอยู่ใกล้พื้นโลก

ecoeyes-temperature-inversion-causing-bangkok-to-drown-in-dust-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: สถิติค่า PM2.5 และค่าความสูงของชั้นบรรยากาศที่อยู่ใกล้ผิวโลก (กรุงเทพฯ) ปี 2566–2567

ในกรุงเทพฯ ข้อมูลของกรมอุตุนิยมฯ แสดงว่าภาวะอุณหภูมิผกผัน มักเกิดในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ทำให้ค่า PM2.5 พุ่งสูงขึ้น (เส้นสีฟ้า) ขณะที่ค่าความสูงของชั้นบรรยากาศที่อยู่ใกล้ผิวโลก (เส้นสีแดง) มีค่าต่ำลงกว่าปกติ แต่มีข้อสังเกตว่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ จะกลับมาเพิ่มสูงอีกในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งที่เป็นช่วงเวลาที่ไม่มีภาวะอุณหภูมิผกผัน

ecoeyes-temperature-inversion-causing-bangkok-to-drown-in-dust-SPACEBAR-Photo V01.jpg
Photo: ผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง 7 วันข้างหน้า โดยศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ

PM2.5 จะอยู่กับคนกรุงทั้งสัปดาห์  

สำหรับในช่วงวันที่ 8-14 มกราคม 2568 พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นวันที่ 8 - 10  และยังคงต้องเฝ้าระวังในบางพื้นที่ เนื่องจากการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ “ไม่ดี-อ่อน-ดี” ขณะที่มีการเกิด Inversion ใกล้ผิวพื้น ทำให้มลพิษทางอากาศสามารถแพร่กระจายได้อย่างจำกัด ส่งผลให้ความเข้มข้นของฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 วัน ก่อนจะลดลงในช่วงสุดสัปดาห์ และจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ทำให้หลายคนย้อนถามหามาตรการรัฐ และ พ.ร.บ.อากาศสะอาด 

คำแนะนำสุขภาพช่วงฝุ่นครอบเมือง   

สีเหลือง : ระดับปานกลาง (38–50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) 

  • ประชาชนทั่วไป ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง 
  • กลุ่มเสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน หากออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น 
  • ผู้มีโรคประจำตัว ควรเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ 

สีส้ม : ระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (51–90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) 

  • ประชาชนทั่วไป ควรลดหรือจำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้าน 
  • กลุ่มเสี่ยง ควรลดเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ 
  • ผู้มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม 

สีแดง : ระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป)  

  • ประชาชนทั่วไป ควรลดหรืองดการทำกิจกรรมนอกบ้าน เปลี่ยนมาออกกำลังกายในบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์  
  • กลุ่มเสี่ยง ให้งดออกนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้ง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ 
  • ผู้มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างน้อย 5 วัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์