ECO EYES: ทะเลอุ่นสุดในรอบ 400 ปี

5 ก.ย. 2567 - 09:10

  • อุณหภูมิน้ำตามแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟอบอุ่นที่สุดในรอบ 400 ปี

spacebar สเปซบาร์, เกรตแบร์ริเออร์รีฟ, Great Barrier Reef, ออสเตรเลีย, ความยั่งยืน, เต่าตนุ, Green Turtle

ภาพถ่ายใต้ทะเลบริเวณเกาะลิซาร์ต (Lizard Island) ที่อยู่ในแนวปะการัง #เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) เมื่อเมษาหน้าร้อนที่ผ่านมา

นี่คือส่วนหนึ่งของแนวปะการังที่เป็นหลักฐานชั้นดีที่บ่งชี้ว่า สุขภาพโลกของเราอยู่ในจุดไหน

เกรตแบร์ริเออร์รีฟ เป็นแนวปะการังตามแนวชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลียที่ยาวที่สุดในโลก กว่า 2,300 กิโลเมตร มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีปะการังกว่า 400 ชนิด ปลาราว 1,500 สายพันธุ์ รวมถึงสิ่งมีชีวิตที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หลายชนิด เช่น เต่าตนุ (Green Turtle) ที่กำลังว่ายน้ำอยู่ในภาพ

spacebar สเปซบาร์, เกรตแบร์ริเออร์รีฟ, Great Barrier Reef, ออสเตรเลีย, ความยั่งยืน, เต่าตนุ, Green Turtle

ล่าสุด (7 สิงหาคม) ผลการศึกษาที่เผยแพร่ใน Nature วารสารด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลกระบุว่า ช่วงสิบปีที่ผ่านมา อุณหภูมิน้ำตามแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟอบอุ่นที่สุดในรอบ 400 ปี

“ผมตกใจมากเมื่อเห็นข้อมูลโผล่ขึ้นมา จนเราต้องตรวจสอบอีกหลายครั้ง ว่ามันคือเรื่องจริง” ดร.เบนจามิน เฮนลีย์ หัวหน้าทีมเขียนงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นกล่าว

จากสถิติที่บันทึกตั้งแต่ปี 1960 พบว่า อุณหภูมิของมหาสมุทรรอบๆ แนวปะการังเพิ่มขึ้นทุกปี แต่กลับร้อนขึ้นเป็นพิเศษในช่วงปรากฏการณ์ 5 ปีที่ร้อนที่สุดที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา (คือปี 2004, 2016, 2017, 2020) ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการเกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ (Mass bleaching)

และล่าสุดคือครั้งที่ 6 ในเดือนมกราคมถึงมีนาคมเมื่อต้นปี 2024 ที่ผ่านมา

“เราอาจจะได้เห็นการล่มสลายของหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของโลก”

นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ถึงมรณกรรมของเกรตแบร์ริเออร์รีฟ หากมนุษย์ยังไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริงจังเหมือนกับที่พูด 

นับตั้งแต่ปี 1995 ปัญหาโลกร้อนได้ทำลายแนวปะการังแห่งนี้ไปแล้วราวครึ่งหนึ่ง ขณะที่น้ำทะเลที่อุ่นเกินไปส่งผลให้เนื้อเยื่อ (coral polyp) ของปะการังขนาดใหญ่ที่เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลตาย

ส่วนการฟอกขาวที่เกิดขึ้นเพราะปะการังเผชิญกับความเครียด เพราะสภาวะที่ผิดปกติ พวกมันจึงขับสาหร่ายที่อาศัยอยู่ซึ่งเป็นสีสันของปะการังออกไป จนปะการังกลายเป็นสีขาวโพลน

สหประชาชาติ (UN-United Nations) ระบุว่า ถึงจะรักษาอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นเพียง 1.5 องศาเซสเซียส ปะการังราว 90% ของโลกก็ไม่รอดอยู่ดี

อุณหภูมิโลกวันนี้สูงขึ้น ราว 1.48 องศาเซลเซียส (นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18)  ถ้าดูจากนาฬิกาสภาพอากาศ (Climate Clock) ที่นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน 2 คน คือ โกแลน (Gan Golan) และแอนดรูว์ บอยด์ (Andrew Boyd) ร่วมกันสร้างเพื่อเตือนมนุษยชาติให้หันมาตระหนักถึงภาวะโลกร้อนว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน

เพราะเราเหลือเวลาอีกเพียง 4 ปีกับอีก 300 กว่าวันเท่านั้น ที่จะหยุดยั้งอุณหภูมิโลกให้ไม่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

เพราะถ้าถึงจุดนั้น โลกจะเข้าสู่ภาวะอันตราย สภาพอากาศผิดเพี้ยนอย่างไม่มีวันหวนกลับ สัตว์เฉพาะถิ่นจะสูญพันธุ์ น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกจะหดหาย น้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้นเกือบเมตร คนจำนวนมากจะอดอาหาร แนวปะการังทั่วโลกจะหายไป 70-90%

ข่าวดีคือเรายังพอมีเวลาเยี่ยวยาให้โลกกลับมาเหมือนเดิม แต่ข่าวร้ายก็คือแทบจะไม่มีใครใยกับปัญหาโลกร้อนอย่างแท้จริง

หลักฐานทางสถิติเกี่ยวกับอุณหภูมิโลกและภาวะโลกร้อนบอกเราเช่นนั้น ตั้งแต่โลกมีการพูดถึงประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2530 ในรายงานฉบับสำคัญ (โดย World Commission on Environment and Development) ที่ต่อมาพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Our Common Future ที่กล่าวถึงคำว่า sustainable development ครั้งแรกในโลก

อุณหภูมิโลกกลับสูงขึ้น โดยไม่มีทีท่าจะลดลง สวนทางกับเสียงรณรงค์และโฆษณาเรื่องความยั่งยืนที่ดังขึ้นทุกวัน

แต่ดูเหมือนเสียงนั้นจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ในทางอื่นมากกว่าจะให้น้ำหนักกับการเยียวยาสิ่งแวดล้อมอย่างซื่อตรง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์