“เราจะเห็นค่าของสิ่งที่มีอยู่ เมื่อเราสูญเสียมันไปแล้ว”
ถ้อยคำที่ดูคลิเช่แบบนี้ดูจะใช้ได้ในทุกกรณี แม้กระทั่งเรื่อง #ความยั่งยืน
ใครที่ติดตามข่าวจะรู้ว่า ทุกวันนี้สังคมตื่นตัวกับเรื่องนี้กันมาก คำประเภท SDGs, ESG, Net Zero, Carbon Neutrality ฯลฯ ที่พุ่งเป้าไปจบลงที่การพัฒนาที่ยั่งยืน ถูกพูดถึงกันอย่างดาษดื่น
ด้านหนึ่งเพราะคนตื่นตัวเรื่องนี้กันมากขึ้น อีกด้านหนึ่งเพราะโลกอยู่ในจุดที่เปราะบางคล้ายแก้วร้าวที่รอวันแตกสลาย
“ประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงเฉลี่ย 73% ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา”
รายงาน Living Planet
“พื้นที่ป่าในประเทศไทยในช่วงร้อยปี หายไปจาก 71% เหลือเพียง 31% ของพื้นที่”
หนังสือ The Lost Forest ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยฯ โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
ตอนนี้ทั่วโลกรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันฉุดรั้งอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพราะถึงจุดนั้นเมื่อไหร่ โลกจะป่วยเป็นไข้รุนแรง ธารน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกจะหายไปหมดในฤดูร้อน (เกิดอย่างน้อย 1 ครั้งในรอบ 100 ปี) แนวปะการังลดลง 70-90% พายุจะรุนแรงขึ้น คลื่นความร้อนและภัยแล้งจะรุนแรงหนัก
เรากำลังสูญเสียทุกสิ่งที่เคยมีอยู่ไป คำถามคือ ตอนนี้เราเห็นคุณค่าสิ่งที่มีอยู่แค่ไหน
SPACEBAR VIBE นึกสนุก ลองหาคำตอบผ่านข้อมูลบน Google Trends โดยเทียบกับดัชนีอุณหภูมิพื้นดินและมหาสมุทรทั่วโลก (Global Land-Ocean Temperature Index) ขององค์การนาซา (NASA)
แล้วก็พบว่า ถ้อยคำคลิเช่ในย่อหน้าแรก ไม่เคยล้าสมัย เพราะข้อมูลที่พบยิ่งย้ำเตือนว่า มนุษย์จะตระหนักถึงสิ่งที่มีอยู่มากขึ้น เมื่อเรากำลังจะสูญเสียมันไป...
