ร้อนกว่านี้ก็นรกแล้วล่ะ! ทำไมเรารู้สึก ‘ร้อนกว่า’ ที่พยากรณ์อากาศบอก?

23 เม.ย. 2568 - 07:34

  • วันนี้ (23 เม.ย.) กรุงเทพมหานครแจ้งเตือนค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) อยู่ในเกณฑ์ “อันตราย” แนะลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง

  • หน้าร้อนปีนี้ถูกคาดการณ์ว่าอากาศจะร้อนจัด และค่าดัชนีความร้อนอยู่ในเกณฑ์อันตรายถึงอันตรายมาก กระทบสุขภาพ เสี่ยงฮีทสโตรก

ecoeyes-why-do-we-feel-hotter-than-the-weather-forecast-says-SPACEBAR-Hero.jpg

ช่วงเดือนเมษายน หลายคนรู้สึกเหมือนใช้ชีวิตอยู่ในเตาอบ ทั้งที่พยากรณ์อากาศระบุว่าอุณหภูมิแค่ 36-37 องศาเซลเซียสเท่านั้น แล้วเหตุใดเราถึงรู้สึกโซฮอต ร้อนปรอทแตกมากกว่าตัวเลขที่ปรากฏบนเทอร์โมมิเตอร์จนน่าตกใจ?

คำตอบคือ เพราะสิ่งที่เรารู้สึกไม่ใช่เพียงอุณหภูมิอากาศจริงที่วัดได้จากเทอร์โมมิเตอร์ แต่มันคือดัชนีความร้อน หรือ Heat Index ซึ่งเป็นค่าที่สะท้อนว่าอุณหภูมิที่ร่างกายรู้สึกได้จริงนั้นรุนแรงกว่าที่ตัวเลขในแอปพยากรณ์บอกไว้มาก

ล่าสุดวันนี้ กรุงเทพมหานครแจ้งเตือนค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) 42.0-51.9°C อยู่ในเกณฑ์ “อันตราย” แนะควรลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง จำกัดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เวลา 11.00-15.00 น. รวมทั้งสังเกตอาการตัวเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์

ขณะที่การพยากรณ์ในรอบ 24 ชั่วโมงจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าประเทศไทยมีอากาศร้อนโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคกลาง

สำหรับค่าดัชนีความร้อนในพื้นที่กรุงเทพมหานครสัปดาห์นี้อยู่ในช่วง 42.0–51.9 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าเป็นระดับ “อันตราย” ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การ NOAA ของสหรัฐฯ ที่ระบุว่าเมื่อดัชนีความร้อนเกิน 41 องศา ร่างกายจะเข้าสู่ภาวะเสี่ยงสูงต่อ ภาวะลมแดด (Heat Stroke)

SPACEBAR ชวนมาหาคำตอบกันว่า ทำไมเราถึงรู้สึกร้อนกว่าที่พยากรณ์อากาศบอก?

ที่หลายคนสงสัยว่า ทำไมพยากรณ์บอก 36°C แต่รู้สึกเหมือนอยู่ในเตาอบ? นั่นเป็นเพราะ “อุณหภูมิที่วัดได้” กับ “ความรู้สึกร้อนที่เราสัมผัส” ไม่ใช่สิ่งชี้วัดเดียวกัน

ecoeyes-why-do-we-feel-hotter-than-the-weather-forecast-says-SPACEBAR-Photo01.jpg

อุณหภูมิจริง vs ความรู้สึก

อุณหภูมิอากาศจริง (Air Temperature) คือค่าพลังงานของอนุภาคในอากาศที่สามารถวัดได้ เช่น 36°C, 38°C แต่ความรู้สึกร้อน-เย็นของเรา เกิดจากการรับรู้ของระบบประสาทที่ตอบสนองต่อการถ่ายเทความร้อนจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ร่างกาย โดยสิ่งที่มีผลต่อความรู้สึกร้อนอีกอย่างคือ “ความชื้น” เพราะเมื่ออากาศชื้น เหงื่อจะระเหยช้า ร่างกายจึงระบายความร้อนได้ยาก ทำให้เรารู้สึกร้อนมากกว่าความเป็นจริง

แล้วดัชนีความร้อนคืออะไร?

ดัชนีความร้อน (Heat Index) คืออุณหภูมิที่ร่างกายรู้สึกได้จริง คำนวณจากอุณหภูมิจริง+ความชื้นสัมพัทธ์ โดยองค์การ NOAA ของสหรัฐฯ ใช้สมการถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression) สร้างตารางประเมินค่าที่ใช้ได้ทั่วไป

หลักการจำโดยทั่วไปคือ Heat Index จะ “สูงกว่า” อุณหภูมิจริงเสมอในวันที่อากาศชื้น เช่น อุณหภูมิ 36°C แต่ความชื้นสูง อาจรู้สึกร้อนเทียบเท่า 45°C ได้เลย นี่แหละคือสาเหตุที่เรารู้สึกว่ามันโซฮอต...

ระดับความเสี่ยงของดัชนีความร้อน

ดัชนีความร้อนที่สูงเกินไปสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราได้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่อุณหภูมิพุ่งสูง โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับความเสี่ยง ดังนี้

  • 27-32.9°C ระดับ “เฝ้าระวัง” อาการอ่อนเพลีย เวียนหัว อาจเกิดจากการออกแรงกลางแจ้ง
  • 33-41.9°C ระดับ “เตือนภัย” อาจเกิดตะคริว หรืออาการเพลียแดด หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
  • 42-51.9°C ระดับ “อันตราย” มีโอกาสปวดเกร็ง เสี่ยงต่อภาวะลมแดด
  • ≥52°C ระดับ “อันตรายมาก” ระบบร่างกายอาจล้มเหลว เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
ecoeyes-why-do-we-feel-hotter-than-the-weather-forecast-says-SPACEBAR-Photo02.jpg

ดัชนีความร้อนส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไรบ้าง?

ความร้อนระดับนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของความไม่สบายตัว แต่สามารถส่งผลต่อระบบภายในร่างกายอย่างรุนแรง โดยเฉพาะหากร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อาการเบื้องต้นที่อาจพบ ได้แก่ เวียนศีรษะ อ่อนแรง หงุดหงิด ผิวบวมแดงหรือมีผื่นขึ้น หากยังฝืนทำกิจกรรมนอกอาคารต่อไป อาจเกิดตะคริว ความดันต่ำ ช็อกจากลมแดด และในกรณีรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต

กลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

  • เด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 5 ปี)
  • ผู้สูงอายุ (ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป)
  • หญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน
  • ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น พนักงานก่อสร้าง ตำรวจจราจร ไรเดอร์
  • นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ไม่คุ้นชินกับสภาพอากาศร้อนจัด

วิธีป้องกันและดูแลตัวเองในวันที่ดัชนีความร้อนสูง

  • หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงเวลาแดดแรงที่สุด หรือในช่วงเวลา 11.00–15.00 น.
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ แม้ยังไม่รู้สึกกระหาย
  • เลือกสวมเสื้อผ้าบาง ระบายอากาศดี สีอ่อน
  • ไม่อยู่ในรถยนต์ที่จอดกลางแดด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดี
  • หากมีอาการผิดปกติ เช่น หน้ามืด มึนศีรษะ คลื่นไส้ ให้รีบเข้าในร่มและพบแพทย์ทันที

ตรวจสอบค่าดัชนีความร้อนได้จากที่ไหน?

เราสามารถดูการคาดหมายค่าดัชนีความร้อนรายวัน จากการวิเคราะห์ค่าดัชนีความร้อน (HEAT INDEX ANALYSIS) โดยกลุ่มวิจัยและพัฒนาสารสนเทศอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งจะคาดการณ์เป็นแผนที่สีคร่าวๆ ล่วงหน้า 10 วัน และคาดหมายเป็นรายจังหวัดที่ดัชนีความร้อนสูงสุดล่วงหน้า 3 วัน โดยดูจากเว็บไซต์ กรมอุตุนิยมวิทยา

ภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นมากแค่ไหน?

ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิสูงสุดของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฤดูร้อนยาวนานขึ้น และจำนวนวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

แม้อากาศร้อนจะเป็นเรื่องที่คนไทยคุ้นเคย แต่การเข้าใจและให้ความสำคัญกับ “ดัชนีความร้อน” คือสิ่งจำเป็นในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง เพราะนี่ไม่ใช่แค่เรื่องของ “รู้สึกร้อน” แต่คือภัยสุขภาพที่อาจคุกคามชีวิตได้ในพริบตา

ท้ายที่สุดแล้วฤดูร้อนที่ร้อนขึ้นจนหลายคนบ่นว่า “ร้อนกว่านี้ก็นรกแล้ว” คงผ่านไปได้เหมือนทุกปี แต่สิ่งที่ต่างไปคือความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น และหน้าที่ของเราคือการรู้เท่าทัน เพื่อปกป้องตัวเองและคนรอบข้างอย่างรอบคอบ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์