ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 กรุงเทพฯ เริ่มขยายตัวทั้งพื้นที่ของเมือง และจำนวนประชากร
ทรัพยากรที่เคยใช้ร่วมกันได้เป็นปกติเริ่มไม่ปกติ โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค รัชกาลที่ 5 ปรารถนาจะให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตดีเหมือนต่างประเทศที่มีน้ำประปาใช้

เมื่อ ‘น้ำ’ เป็นของจำเป็น ภารกิจหาน้ำมาใช้ จึงเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2447
ที่ปรึกษาของรัชกาลที่ 5 ให้ความเห็นว่า หากจะทำประปาจะต้องขุดคลอง วางท่อ นำน้ำจากชานเมืองเข้ามาใช้ในเมือง แต่ด้วยจุดที่นำน้ำมาให้บริการอยู่ห่างจากเกาะรัตนโกสินทร์มาก จะสูบจากแม่น้ำอาจไม่ได้น้ำที่สะอาดพอ ต้องมีการกรองน้ำก่อน จึงต้องลำเลียงน้ำมาเข้ากระบวนการบำบัด แล้วส่งมาเข้าถังเก็บในเมือง แล้วปั้มน้ำจ่ายให้บริการในเมืองชั้นใน ทำให้มีการก่อสร้างถังเก็บน้ำ และ ประปาแม้นศรี เพื่อภารกิจสำคัญนี้

เวลาผ่านไปร้อยกว่าปี น้ำประปาเกิดขึ้นทั่วประเทศ วันนี้ประปาแม้นศรีปิดตัวไปแล้ว กลายเป็นความทรงจำของการทำน้ำประปา
ถึงแม้วันนี้เราจะมีน้ำประปาไปทุกจังหวัด แต่การเข้าถึงน้ำประปาและสุขาภิบาลยังไม่ทั่วถึง ปัญหาน้ำยังอยู่กับประเทศไทย ทั้งที่เรามีกรมชลประทาน มีเขื่อน แต่เราไม่มีต้นไม้พอที่จะมีน้ำจากฝน แถมด้วยภาวะเอลนีโญที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น คลื่นความร้อนรุนแรงขึ้นจนน่าหวั่นใจ
คาดว่าปีนี้ (พ.ศ.2567) ฝนจะทิ้งช่วงและน้ำจะไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ขณะบางพื้นที่มีน้ำท่วม อุทกภัยและภัยแล้ง เศรษฐกิจและสังคมเกิดความเสียหาย เพราะรัฐต้องใช้งบประมาณแก้ภัยแล้งและน้ำท่วม ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอกระทบการส่งออก และรายได้ของประเทศ

วันนี้เราไม่ได้เจอปัญหาน้ำดื่มน้ำใช้ไม่มี แต่มีไม่พอ เนื่องจากการเข้าถึงน้ำประปาแตกต่างกันไปตามภูมิภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน มีประชากร 3.5 ล้านครัวเรือน หรือ 8.25 ล้านคน ประมาณ 11.5% ของประชากรทั้งหมดที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบประปาได้
ขณะที่อัตราค่าน้ำประปาไม่มีการเปลี่ยนแปลงมานานมากกว่า 23 ปี แสดงว่าอัตราค่าน้ำประปาไม่สอดคล้องกับเงินเฟ้อ และค่าดำเนินการ

ถ้าเมืองไทยต้องการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปัญหาสุขาภิบาล สิ่งปฏิกูล ปัญหาน้ำเสียต้องได้รับการแก้ไข การแก้ปัญหาน้ำต้องทำทั้งระบบ ทั้งการบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้ง การระบายน้ำออกจากพื้นที่เมือง การวางแผนและระบบผลิตน้ำที่เพียงพอความต้องการ การบริหารจัดการน้ำประปาระดับท้องถิ่น การจัดการน้ำเสียและกากตะกอนสิ่งปฏิกูลในเขตเมือง การนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ เพื่อประโยชน์เชิงอุตสาหกรรมและการฟื้นฟูระบบนิเวศ
การแก้ปัญหาและพัฒนาเรื่องน้ำอย่างยั่งยืนอาจดูใหญ่และไกลตัวคนตัวเล็กๆ อย่างเรา แต่ความจริงเราทุกคนช่วยได้กัน และทำได้ทันที
นั่นคือใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าให้คุ้มกับสิ่งที่แลกมาให้เราได้ดื่ม กิน และใช้อย่างสบายในวันนี้
