อาการซึมกระทือหลังวันหยุดยาว มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า “Post-Holiday Blues” หรือ “Post-Vacation Syndrome” เป็นความรู้สึกโศกเศร้าชั่วคราวที่เกิดขึ้นเมื่อต้องกลับมาเริ่มงานวันแรกหลังได้หยุดพักยาวๆ โดยจะมีกลุ่มอาการตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน บางคนก็รู้สึกเหนื่อยล้า หมดไฟ เมื่อมองงานปึกใหญ่ตั้งอยู่ตรงหน้าก็รู้สึกซึมเซาเอื่อยเฉื่อยไม่อยากลงมือทำ รู้สึกเฉื่อยชาไม่อยากทำอะไร แทบอยากจะขอให้โดเรม่อนมีจริงเพื่อย้อนเวลากลับไปสองวันก่อนตอนที่กำลังสนุกสนานอยู่ให้รู้แล้วรู้รอด
อาการเหล่านี้ช่างขัดสามัญสำนึกของคนเรา ที่มักจะคิดว่าการได้พักผ่อนหย่อนใจต้องทำให้เราหายเหนื่อยกลับมาพร้อมสู้งาน พานให้หลายๆ คนอาจจะตั้งคำถามถึงสภาพจิตใจ ไปจนถึงดูถูกตัวเองว่าทำไมเราถึงได้เป็นคนขี้เกียจไร้จุดหมายไปเสียอีก ซึ่งแท้จริงแล้ว อาการนี้แทบจะพบได้ทั่วไปในผู้คนทั่วทั้งโลก โดยองค์กรพันธมิตรผู้ป่วยโรคทางจิตแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (US National Alliance on Mental Illness) หรือ NAMI ได้ประเมินจากผู้คนทั่วโลกมีถึง 64 เปอร์เซ็นต์ที่ประสบกับสภาวะนี้
สาเหตุที่เกิดภาวะนี้ขึ้นก็มีหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งระดับฮอร์โมน หรือ อะดรีนาลีนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทันใดจากเหตุการณ์สำคัญ หรือวันหยุดยาวที่กิจวัตรของเราเปลี่ยนไป อาจจะตื่นเต้น มีความสุขมากขึ้นแบบฉับพลัน และถูกเปลี่ยนกลับมาอย่างกะทันหัน ทุกอย่างล้วนส่งผลต่อสภาพจิตใจเราทั้งสิ้น
หรือทั้งปัจจัยภายนอกที่อาจจะเกิดจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเราในช่วงวันหยุดยาวก็เป็นอีกสิ่งสำคัญในสมการนี้เช่นกัน
- การดื่มแอลกอฮอล์ ในวันหยุดยาวร่างกายเราอาจจะได้รับแอลกอฮอล์มากเป็นพิเศษ อย่างที่รู้กันดีว่าการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาอาจจะมีผลกระทบต่อสภาวะจิตใจในหลายรูปแบบ อาการซึมๆ เศร้าๆ ก็เป็นหนึ่งในนั้น

- การพักผ่อน แม้วันหยุดยาวจะมีไว้พักผ่อน แต่สำหรับบางคนการไปเที่ยวที่ต่างๆ หลายๆ ที่ หรือถูกผู้คนดึงดูดให้ทำกิจกรรมต่างๆ นานาในช่วงหยุดยาว บางครั้งก็อาจจะเกิดอาการพักผ่อนไม่เพียงพอขึ้นได้ ซึ่งมันส่งผลอย่างยิ่งต่อความเหนื่อยล้าเมื่อกลับมาทำงาน
- การกิน บ่อยครั้งที่กิจกรรมในวันหยุดมักมุ่งเน้นไปที่อาหารการกิน ซึ่งการรับประทานอาหารจำนวนมากเกินปกติ โดยเฉพาะหากเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ก็ล้วนมีผลต่อระดับฮอร์โมน และสุขภาพทั้งสิ้น
- ภาวะทางการเงิน การใช้จ่ายมากเกินไปในวันหยุดจนส่งผลต่อปัญหาการเงิน ก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในจิตใจลึกๆ ที่พัฒนามาเป็นอาการเครียด หรือ หดหู่ได้เช่นกัน
