ถ้าคุณกำลังวางแผนเที่ยวปลายปี และยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะไปที่ไหน เราอยากแนะนำ 6 พิกัดสถานที่ท่องเที่ยวไทยที่ได้รับเลือกให้ติดรายชื่อ Green Destinations Top 100 Stories ในปี 2024
จุดสำคัญที่ต้องเน้นย้ำ คือ สถานที่ที่ได้รับเลือก ไม่ได้แปลว่าจุดหมายปลายทางนั้นบรรลุแล้วซึ่งความยั่งยืน แต่เป็นจุดหมายปลายทางที่ประสบความสำเร็จ หรือมีเรื่องราวที่จุดประกายการสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
ที่สำคัญที่สุด ต้องคุ้มค่าต่อการแบ่งปันเรื่องราวนั้นไปทั่วโลก
และนี่คือ 6 สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยที่ได้รับเลือกให้อยู่ในลิสต์ Green Destinations ระดับโลกในปีนี้
ถ้าโลกรู้ คนไทยก็ต้องได้รู้ ไม่แน่คุณอาจได้สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ไปหย่อนใจในช่วงปลายปี
1. เชียงคาน, จังหวัดเลย
หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ผู้คนนิยมไปเที่ยวเพื่อหลีกหนีจากความวุ่นวาย ความเร่งรีบของเมืองใหญ่ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสชีวิตสบายๆ และจมอยู่ในความเงียบสงบอย่างแท้จริง เพราะเมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำโขงแห่งนี้เต็มไปด้วยวัฒนธรรมและความงามทางธรรมชาติ
คูปองอาหารเช้าร้านท้องถิ่น
ผู้ประกอบการที่พัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของบ้านไม้เก่าๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ และที่พักแรมของนักท่องเที่ยว กับพันธมิตรเครือข่ายเชียงคานได้จัดทำระบบ “คูปองอาหารเช้า” ให้นักท่องเที่ยวใช้ในร้านอาหารท้องถิ่น เพื่อเป็น “ตัวกลาง” ในการทลายอุปสรรคในการสื่อสารและแลกเปลี่ยน ช่วยกระรายได้ให้กับธุรกิจและชาวบ้านในชุมชน
2. หัวหิน, จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เมืองท่องเที่ยวชายหาดและทะเลชั้นนำของไทย ขับรถประมาณ 3 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ ชายฝั่งทอดตัวยาวตามแนวอ่าวไทย ทิวทัศน์ทะเล ต้นไม้ สลับภูเขา พรั่งพร้อมด้วยที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวก คาเฟ่เก๋ๆ ร้านอาหารชั้นดี รวมถึงสปาระดับเวิร์ลคลาส
สร้างจิตสำนึกสู่เมืองปลอดขยะ
เทศบาลนครชะอำมุ่งมั่นที่จะจัดการขยะและปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมือง เริ่มต้นจากการสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนจัดการขยะจนเป็นศูนย์ รวมถึงในระดับสังคม โดยให้ทุกคนลดขยะและคัดแยกขยะก่อนทิ้ง และมีส่วนร่วมในการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เพื่อให้หัวหินเป็นเมืองปลอดขยะเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดี
3. เมืองสงขลา, จังหวัดสงขลา
เมืองเก่าสงขลา อดีตเมืองท่าทางภาคใต้ของไทย มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน สมบูรณ์ด้วยวัฒนธรรม ประเพณี และศาสนาที่หลากหลาย ก่อให้เกิดความเป็น ‘สังคมพหุวัฒนธรรม’ ปรากฏชัดในทุกสิ่งตั้งแต่อาหารท้องถิ่นรสเลิศ จนถึงสถาปัตยกรรมบนตัวอาคารต่างๆ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากไทย จีน มาเลย์ และชาติตะวันตก
การฟื้นฟูเมืองเก่าสงขลา การเปลี่ยนแปลงที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน
การฟื้นฟูเมืองเก่าที่กำลังหมดลมหายใจ ด้วยความร่วมมือและทุ่มเทกันของชาวเมืองสงขลาผ่านมูลนิธิ Songkhla Heritage Trust เพื่อฟื้นฟูเมืองที่เผชิญกับภาวะเสื่อมโทรมเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ เอกชน การศึกษา และชุมชน ในการชุบชีวิตเมืองสงขลาให้กลับมาเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาและมีเสน่ห์อย่างเหลือร้าย
4. เมืองโบราณอู่ทอง, จังหวัดสุพรรณบุรี
อู่ทองอาจไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในเรดาห์ของคนส่วนใหญ่ แต่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ความร่ำรวยของวัฒนธรรมและโบราณสถานที่นี่ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจเฉพาะกลุ่ม แต่การอนุรักษ์ที่เข้มข้น ก็เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้คนกลุ่มใหญ่เริ่มหันหน้าอยากมาเยือนที่แห่งนี้
ฟื้นฟูมรดกอู่ทอง พัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยจิตวิญญาณของชาวบ้าน
อู่ทองเป็นเมืองโบราณที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปี เคยเป็นทั้งเมืองหลวงของอาณาจักรทวารวดี และเป็นศูนย์กลางของสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรม ประเพณี และศิลปะ ก่อนการพัฒนาพุทธมณฑลในจังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างปี พ.ศ. 2534 ถึง พ.ศ. 2554 พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นเหมืองร้าง เนื่องจากสัญญาการทำเหมืองหมดอายุ ประชาชนท้องถิ่นทิ้งขยะ ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเสพยาเสพติด เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทุกภาคส่วนจึงมุ่งมั่นพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดสุพรรณบุรี
5. เมืองเก่าอุทัยธานี, จังหวัดอุทัยธานี
เมืองอุทัยธานีเก่าตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำสะแกกรัง มีอายุยาวนานกว่า 419 ปี นับตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นที่รู้จักของคนไทยในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่เน้นวิถีชีวิตสโลว์ไลฟ์ เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวมาสักการะวัดวาอาราม และเดินเล่นในเมืองเก่า
รักษาความภาคภูมิใจของเรา ชุมชนบ้านแพแห่งสุดท้ายของประเทศ
จังหวัดแห่งนี้กำลังทำงานอย่างจริงจังเพื่ออนุรักษ์ชุมชนบ้านแพแห่งสุดท้ายของประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมริมแม่น้ำสะแกกรังที่มีอายุยาวนานกว่า 400 ปี เทศบาลเมืองอุทัยธานีได้ร่วมมือกับจังหวัดอุทัยธานีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ได้แก่ การปรับปรุงคุณภาพน้ำของแม่น้ำสะแกกรัง การยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน และการดำเนินโครงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อเผยแพร่วิถีชีวิตทางวัฒนธรรมของชุมชนบ้านแพที่เหลืออยู่
6. เวียงภูเพียง, จังหวัดน่าน
เวียงภูเพียงแช่แห้ง ตั้งอยู่บนเนินเขาทางทิศตะวันออกที่มองเห็นแม่น้ำน่าน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อายุประมาณ 670 ปี มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชาวล้านนา โดยเฉพาะผู้ที่เกิดปีกระต่าย สถานที่แห่งนี้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุดึงดูดพุทธศาสนิกชนจากทั่วประเทศไทย
ผนึกกำลังชุบเทศกาลหกเป็งให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
การท่องเที่ยวในจังหวัดน่านประสบปัญหาในช่วงนอกฤดูกาล ภาครัฐ ธุรกิจท่องเที่ยว ชุมชนท้องถิ่น และพระสงฆ์ จึงปรับปรุงเทศกาลหกเป็งแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่อดีตในช่วงฤดูเทศกาลเพ็ญเดือน 6 (เหนือ) เจ้าผู้ครองนครน่านพร้อมด้วยข้าราชการบริพานจะพากันไปนมัสการพระธาตุแช่แห้ง เพื่อฟื้นคืนประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวาให้กลับมาอีกครั้ง และมีการจัดตั้งหน่วยงานประสานงานกลางเพื่อผลักดันน่านไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
Green Destinations Top 100 Stories คือรายการที่จัดทำขึ้นประจำทุกปี โดยมูลนิธิ Green Destinations เพื่อส่งเสริมโครงการริเริ่มที่สร้างสรรค์และนวัตกรรมจากทั่วโลกที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน