คนไทย VS. ข้าวเหนียวมะม่วง ความอร่อยนี้เริ่มมาตั้งแต่เมื่อไร?

12 เม.ย. 2566 - 05:41

  • ข้าวเหนียวมะม่วงเป็นเมนูอาหารหวานที่มีมานาน คาดว่ามีมาตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา และได้รับความนิยมมาตั้งแต่นั้น ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องยากเช่นกันในการหาที่มาของอาหารหวานจานนี้ เพราะวัฒนธรรมการกินอาหารนั้นมีการพัฒนามานานจนจับต้องได้ยาก

history-of-mango-sticky-rice_Main
หน้าร้อนประเทศไทยยังไงก็ต้องคู่กับเมนูของหวาน หนึ่งในของหวานสุดเด็ดก็คงไม่พ้นข้าวเหนียวมะม่วง ซึ่งเป็นเมนูของหวานที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน จะว่านานตั้งแต่ใครหลายคนจำความได้ก็ไม่ผิดนัก  คล้ายกับทุกคนรู้ว่าเมื่อเข้าฤดูร้อนเมื่อไร เมนูข้าวเหนียวมะม่วงมักเป็นหนึ่งในลิสต์เมนูของหวานที่ต้องได้ลิ้มรสเสมอ  รสชาติของมะม่วงหวานฉ่ำที่กินพร้อมกับข้าวเหนียวมูนอันหวานมัน เคล้าด้วยกลิ่นถั่วซีกคั่วที่โรยอยู่ข้างบน  

อย่างไรก็ตามแม้ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าที่มาของเมนูอาหารนี้มาจากไหน เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไร่ ทำไมต้องข้าวเหนียวมูนต้องคู่กับมะม่วง ทำไมข้าวเหนียวไม่คู่กับของคาวเพียงอย่างเดียว มาไขข้อสงสัยนี้ไปพร้อมๆกัน 

ที่มาของการเริ่มกินข้าวเหนียวมูนคู่กับมะม่วงยังไม่เป็นที่แน่ชัด สันนิษฐานกันว่าเริ่มกินเมนูนี้กันมาในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 2 แต่ที่แน่ๆ คือการกินข้าวเหนียวคู่กับผลไม้ปรากฎอยู่ในหลักสูตรอาหารหวานไทยในรัชกาลที่ 5 และเป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน  

ส่วนทำไมคนไทยถึงต้องกินข้าวเหนียวกับมะม่วงนั้น คาดว่าเป็นเรื่องปกติที่คนไทยในสมัยก่อนพยายามหาผลไม้ที่สามารถกินคู่กับข้าวเหนียวมูนแล้วอร่อยลงตัว  

มาดูกันต่อว่าคนไทยเริ่มกินข้าวเจ้า ข้าวเหนียว กันตั้งแต่เมื่อไร
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3JcwecfvCrUMEtgRjZZphU/e2bfd5844d20a837c07eca29b826ab36/history-of-mango-sticky-rice_Photo01
ในดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ ข้าวเป็นแหล่งอาหารหลักที่สำคัญ เราจะพบกับวัฒนธรรมร่วมทางอาหารกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เช่น พม่า ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงแดนตะวันออกไกลอย่างจีน และญี่ปุ่น โดยพื้นเพเดิมคนไทยไทยเริ่มกินข้าวเจ้า และข้าวเหนียว มาตั้งแต่ก่อนสมัยทวารดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 หรือคริสต์ศตวรรษที่ 7-10) ต่อมาข้าวเจ้าเริ่มเป็นที่นิยมปลูกกันในภาคกลาง และใต้ มากกว่าข้าวเหนียว เนื่องจากสภาพอากาศ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการปลูกข้าวที่ได้รับจากต่างชาติ ทำให้มีผลผลิตได้ดีกว่า  

ส่วนภูมิภาคอื่นก็ยังคงนิยมข้าวเหนียว กับข้าวเจ้าปนกันไป อย่างภาคเหนือ และภาคอีสาน แต่ภาคกลางก็ไม่ได้ทิ้งข้าวเหนียวไปเสียทีเดียว ด้วยคุณสมบัติของข้าวเหนียวที่จับตัวกันง่าย ชาวภาคกลางจึงนำมาทำเป็นของหวานกันมากกว่า ขนมไทยส่วนใหญ่จึงทำจากแป้งข้าวเหนียว 

ส่วนวัฒนธรรมการทำอาหารด้วยกะทิก็เริ่มจากพื้นที่ภาคกลาง และภาคใต้ มากกว่าภาคเหนือ และภาคอีสาน เนื่องจากต้นมะพร้าวปลูกได้ดีในพื้นที่ภาคกลาง และใต้ เหมือนที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าอาหารภาคกลางมักใส่กะทิ 

จากทั้งหมดที่กล่าวมา ที่มาของเมนูข้าวเหนียวมะม่วงก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดเป็นรูปธรรมมากนัก เพราะดูเป็นเมนูอาหารหวานที่เกิดจากวัฒนธรรมการกินอาหารท้องถิ่นที่มีการพัฒนามาเรื่อยๆ การที่จะหาต้นกำเนิดของข้าวเหนียวมะม่วง ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอดีตนับว่าเป็นเรื่องยาก ต่างจากขนมทองหยิบ ทองหยอด ที่คนไทยสามารถพูดได้เต็มปากว่ามาจากวัฒนธรรมอาหารของชาวโปรตุเกส แต่หากเราต้องการหาที่มาของทองหยอดในประวัติศาสตร์โปรตุเกสก็นับว่าเป็นเรื่องยากพอๆ กัน 

แม้จะฟังดูคลุมเครือหาข้อสรุปไม่ได้ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดและเราทำได้  คือชื่นชมความสร้างสรรค์ของบรรพบุรุษที่มักสรรหา สร้างสรรค์ สิ่งต่างๆ มาลองจับคู่ ผสมผสานอยู่เสมอ จนเกิดเป็นเมนูอาหารแสนอร่อยให้เราได้กินกันทุกวันนี้ หนึ่งในนั้นก็คือ ข้าวเหนียวมะม่วงแสนอร่อยนั่นเอง! 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์