ความหนักใจ มักจะตกมาที่คนที่ต้องขับรถกลับบ้านหลังจากปาร์ตี้เลิกราเสมอ บางคนดีหน่อยกดเรียกบริการคนขับรถส่วนตัวได้ แต่สำหรับหญิงสาวในประเทศที่ยังมีการรณรงค์ให้ป้องกันตัวเอง และเบลมเหยื่อทุกครั้งในกรณีที่เหยื่อหมดสติ หรือแต่งตัวยั่วยุอารมณ์ทางเพศ ก็เป็นเรื่องค่อนข้างหนักใจ และคิดว่าขับรถกลับเอง น่าจะปลอดภัยกว่า
แต่ถ้าหากว่าในร่างกายมีปริมาณแอลกอฮอล์ที่สูงมากๆ แล้วคิดจะขับรถกลับเอง อยากบอกว่า หยุดเถอะ... ให้ใครสักคนขับรถให้ดีกว่า ในปัจจุบันบริการคนขับรถส่วนตัวตามแอปพลิเคชันต่างๆ มีความน่าเชื่อถืออยู่มาก ถ้าหากยังดื้อที่จะขับรถเอง มันอาจจะเกิดอุบัติเหตุที่ไม่ใช่เจ็บแค่ตัวเรา แต่อาจจะทำให้คนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่มาบาดเจ็บหรือถึงขั้นเสียชีวิต เพราะการเมาแล้วขับของเราก็ได้ และยังเสี่ยงต่อการถูกตำรวจจับ เนื่องจากปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายมีมากกว่ามาตรฐานกำหนด หรือประมาณ 50 mg. นั่นคือผิดกฎหมายจราจรและต้องเสียค่าปรับและเข้าไปสร่างเมาในซังเตแทน
กระแสเลือดจะนำพาแอลกอฮอล์ไปกระจายในร่างกายเราอย่างรวดเร็ว และหากรับประทานอาหารมาก่อนแล้ว แอลกอฮอล์จะใช้เวลา 1-6 ชั่วโมงในการดูดซึมไปถึงระดับที่สูงสุดของเลือด แต่ถ้าหากว่าดื่มตอนท้องว่าง แอลกอฮอล์จะดูดซึมเข้าไปในระดับสูงสุดเพียง 30 นาที หรือ 2 ชั่วโมง
สำหรับการเผาผลาญแอลกอฮอล์ในร่างกาย แอลกอฮอล์ในร่างกายถูกกำจัดโดยตับเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 95% ที่เหลือถูกขับออกทางลมหายใจ ปัสสาวะ เหงื่อ อุจจาระ น้ำนม และน้ำลาย ตับจะทำหน้าที่กำจัดพิษของแอลกอฮอล์อย่างช้าๆ ต้องใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมง เพื่อจัดการกับแอลกอฮอล์เพียง 45 ซีซี ในวิสกี้ 1 แก้ว หรือประมาณ 15-20 mg.
แต่มันก็มีวิธีที่จะทำให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดนั้นลดลงด้วย ซึ่งก็มีหลายๆ คนออกมาแชร์ทริกต่างๆ จำนวนมาก เช่น การกินกาแฟเข้มๆ หรือกินยาแก้เมา แต่นั่นไม่ได้ช่วยทำให้สร่างเมา เท่ากับว่า ไม่มีวิธีใดที่จะลดแอลกอฮอล์ในเลือดได้ ทำได้เพียงรอเวลาเท่านั้น
ในส่วนของด่านเป่าเครื่องตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ หลายคนอาจจะได้เห็นคลิปวิดีโอคนเมาเป่าเครื่องตรวจ เพื่อยืนยันว่าไม่ได้เมา เป่าแรง เป่าจะตดแตก จริงๆ แล้ว เครื่องตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายไม่จำเป็นต้องเป่าแรง แค่เป่าด้วยลมหายใจปานกลาง เพียง 5 วินาที เครื่องจะสุ่มเก็บลมหายใจราว 1 ซีซี ไปตรวจหาแอลกอฮอล์ได้แล้ว
โดย รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี ยังเคยได้ให้ข้อมูลผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว หมอหมู วีระศักดิ์ เกี่ยวกับ “แอลกอฮอล์อยู่ในร่างกายให้ตรวจได้นานเท่าไร?” ด้วย ระบุว่า
- เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือด ร่างกายจะเริ่มเผาผลาญแอลกอฮอล์ในอัตรา 20 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (mg/dL) ต่อชั่วโมง
- ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือด แต่ละคนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มีผลต่อความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือด ได้แก่ อายุ น้ำหนัก การได้รับการรักษาบางอย่าง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตอนท้องว่าง หรือแม้แต่การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากในระยะเวลาสั้น ๆ ก็มีผลเช่นกัน
- 20% ของแอลกอฮอล์ที่ได้รับเข้าไปในช่วงแรกจะไหลเข้าสู่หลอดเลือด และถูกพาไปยังสมอง ส่วนอีก 80% ที่เหลือจะถูกส่งไปที่ลำไส้เล็กและเข้าสู่กระแสเลือดต่อไป หลังจากนั้นแอลกอฮอล์จะถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยตับ
- การตรวจปัสสาวะสามารถตรวจพบแอลกอฮอล์ได้ตั้งแต่ 12-48 ชั่วโมงหลังการดื่ม หรือในการตรวจสอบที่มีความแม่นยำสูงอื่น ๆ สามารถตรวจพบแอลกอฮอล์ในปัสสาวะหลังการดื่มได้ถึง 80 ชั่วโมง
- การวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ สามารถตรวจพบแอลกอฮอล์ที่อยู่ในเลือดหลังจากการดื่มได้นานถึง 24 ชั่วโมง
- แอลกอฮอล์ยังสามารถสะสมอยู่ในผมได้มากกว่า 90 วัน ในบางครั้งสามารถตรวจพบแอลกอฮอล์ได้จากน้ำลาย เหงื่อและเลือดอีกด้วย
- สำหรับการตรวจในเลือด: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะนำให้ตรวจภายใน 4 ชั่วโมง (หากเกิน 6 ชั่วโมงปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจะลดลงต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด 50 mg)
ทางที่ดี การที่ไปสังสรรค์แล้วรู้ตัวว่าต้องเมาแน่ๆ การเรียกให้คนใกล้ตัวที่มีสติเต็มร้อย หรือการใช้บริการคนขับรถส่วนตัวในแอปพลิเคชันต่างๆ เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ต่อตัวคุณเอง คนรอบข้าง ผู้คนที่ไม่รู้เรื่องบนท้องถนน และทรัพย์สินของคุณเองด้วย