พูดถึง ‘ความยั่งยืน’ คุณอาจจะคิดถึงโลกร้อน มลพิษ ภัยธรรมชาติ ไฟป่า ฯลฯ ที่เกิดจากความบิดเบี้ยวของสิ่งแวดล้อม เพราะฝีมือมนุษย์
แต่นั่นเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น เพราะความยั่งยืนเกี่ยวข้องในหลายมิติ ตั้งแต่เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งชีวิตประจำวันของเราทุกคน
เทรนด์ปฏิเสธถุงพลาสติก สโลว์แฟชั่น รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงคำเขียวๆ อย่าง ESG, SDGs, Zero Waste, Net Zero ฯลฯ ล้วนเกิดขึ้น เพื่อตอบโจทย์ (พูดให้ตรงกว่าคือแก้ปัญหา) คืนความยั่งยืนให้กับโลก
หากลองเงี่ยหูฟังเสียงบนอินเทอร์เน็ตผ่าน Google Trends ตั้งแต่ปี 2004 หรือในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าเสียงที่เกี่ยวกับ #ความยั่งยืน ดังขึ้นเรื่อยๆ และระดับเสียงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจนไม่อาจจินตนาการว่า เพดานเสียงจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน

เสียงความยั่งยืนที่ดังขึ้น ดูเผินๆ เป็นเรื่องน่ายินดี แต่หากมองลึกลงไป มันคือการเรียกร้องทวงคืนสิ่งที่กำลังสูญหาย
ปัญหาสิ่งแวดล้อมคืบคลานสู่จุดวิกฤตจนบรรษัทยักษ์ใหญ่ไม่อาจยักไหล่เมินเฉย UN หรือองค์การสหประชาชาติ ถอดคำว่า Global Warming (โลกร้อน) แล้วแทนด้วย Global Boiling (โลกเดือด) เมื่อปีที่แล้ว (2023) เป็นการส่งสัญญาณว่า ‘สิ่งแวดล้อมคือวาระเร่งด่วน’ ถ้าไม่ปรับตอนนี้ อาจไม่มีโอกาสให้แก้ไข เมื่ออุณหภูมิโลกเดินสู่จุดที่ไม่อาจหันหลังกลับ

“จริงๆ หลายประเด็นเรื่องวิกฤตโลกร้อนและความยั่งยืนที่ถกกันในวันนี้ มันเป็นเรื่องที่คุยกันมา 20 กว่าปีแล้ว”
ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ที่สนใจคลื่นแห่งอนาคต อ้างถึงความเห็นของ ดร.สุธาวัลย์ เสถียรไทย--แม่ของเขาที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมรุ่นบุกเบิกคนหนึ่งของประเทศไทย ในหนังสือเล่มล่าสุด TWISTS AND TURNS คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม (พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2567)
ความจริงกระแสความยั่งยืนหรือในอดีตนิยมใช้คำว่า Green ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ได้รับการพูดถึงและกระทุ้งจากกลุ่มคนที่เล็งเห็นถึงปัญหาที่ก่อตัวขึ้นจากระบบเศรษฐกิจที่เน้นผลกำไรมาเป็นระยะ เพียงแต่ในเวลานั้นเสียงเหล่านี้ไม่ใช่กระแสหลัก แต่จัดอยู่ในประเภททำก็ดี ไม่ทำก็ได้ เพราะยังไม่มี ‘มาตรการบังคับ’ ให้ทุนต้องปรับตัว

กระทั่งทุนนิยมที่หมกมุ่นและมุ่งมองแต่ตัวเลขกำไร-ขาดทุน เริ่มฉุดลากโลกทั้งใบเข้าใกล้ขอบเหว ก่อนที่ทุกสิ่งจะพังทลาย แนวคิดเกี่ยวกับความยั่งยืน (Sustainability) ก็ถือกำเนิด ไม่ว่า SDGs, ESG รวมถึงแนวคิด 3P ที่พูดถึงบรรทัดสุดท้ายทางบัญชีที่มองมูลค่าธุรกิจมากกว่าผลกำไร (Profit) โดยนำโลก (Planet) และผู้คน (People) เข้ามาอยู่ในสมการ
เพราะทุนนิยมที่ขับเคลื่อนด้วยการผลิตและบริโภคที่มุ่งเป้าการเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด นำไปสู่การผลิต-กิน-ใช้ที่ล้นเกินจนโลก สังคม และผู้คนไร้สมดุล
เพราะโดยธรรมดาธรรมชาติ คือความสมดุล
เมื่อสิ่งใดเสียสมดุล
สิ่งนั้นกำลังสูญเสียความเป็นปกติ
เมื่อความไม่ปกติดำรงอยู่
ความป่วยไข้และโรคภัยก็ตามมา
อุณหภูมิโลกทุกวันนี้จึงร้อนราวแสงแดดเป็นไข้
ฤดูกาลหลงฤดูเหมือนคนเป็นอัลไซเมอร์
เช่นเดียวกับผู้คนอีกมากมาย แม้จะฉาบทาตัวเองด้วยฟิลเตอร์สดใส
แต่กลับซ่อนความไม่ปกติทางกายและใจที่ “ไร้สุข” ภายใต้รอยยิ้มแสนสุขบนใบหน้า

กระแสความยั่งยืนวันนี้จึงเป็นความท้าทายของมนุษย์ ว่าจะพาตัวเองพ้นกับดักการพัฒนาที่บูชาการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ไปสู่อนาคตและชีวิตที่ดีกว่า หรือจะถลำลึกลงสู่ก้นเหวแห่งหายนะจนจมลงสู่ความมืดมิดอนธการ
เสียงความยั่งยืนที่ดังขึ้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็อย่าเพิ่งเข้าใจว่าเพียงแค่การพูดและตะโกนถึงคำนี้จะทำ “ให้โลกเราสวย” เพราะถึงที่สุด ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย “พวกเรามาช่วยกัน” อย่างจริงจัง ทั้งภาครัฐที่วางนโยบายส่งเสริมความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ภาคธุรกิจที่ทำอย่างจริงใจ ภาคสังคมที่ทุ่มเทพร้อมใจ และภาคประชาชนที่ไม่เพิกเฉยต่อสิ่งที่อยู่ด้านตรงข้ามของความยั่งยืน
ในโลกที่ซวนเซเพราะเสียสมดุล #ความยั่งยืน คือแต้มต่อสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ ธุรกิจ และชีวิต ทุกสิ่งโยงใยถึงกันอย่างไม่อาจแยกขาด

เวลานี้คือจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ จงเลือกหนทางที่อยู่บน ‘ความพอดี’ อย่าให้ผลลัพธ์สุดท้ายต้องลงเอยเหมือนคำกล่าวของ อลานิส โอบอมซาวิน (Alanis Obomsawin) ศิลปิน นักสร้างภาพยนตร์ และนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน-แคนาเดียน ที่ว่า
“เมื่อต้นไม้ต้นสุดท้ายถูกหักโค่นลง เมื่อปลาตัวสุดท้ายถูกจับ เมื่อแม่น้ำสายสุดท้ายเน่าเสีย เมื่อการสูดอากาศหายใจทำให้ป่วยไข้ คุณจะตระหนักได้ว่าความมั่งคั่ง หาใช่ตัวเลขในบัญชีธนาคาร และเงินนั้นกินไม่ได้ แต่นั่นก็สายไปเสียแล้ว”
OPEN º53: THE EARTH
ถ้าความยั่งยืนถูกทำลายเพราะฝีมือมนุษย์ ผู้กอบกู้ความยั่งยืนนั้นให้กลับมา คงหาใช่ใครอื่น นอกจากเรา