JOY LIFE: โกรธแล้วเงียบไม่ได้ดีเสมอไป! ชวนเข้าใจความโกรธและวิธีปลดปล่อยที่ดีต่อใจ

6 กันยายน 2566 - 10:09

how-to-express-anger-positively-SPACEBAR-Thumbnail
  • การเก็บความโกรธไว้กับตัวเองไม่ได้ดีอย่างที่คิด ชวนรู้จักวิธีโกรธที่ดีต่อตัวเองและเป็นมิตรต่อเพื่อนร่วมโลก

รู้ไหมว่าสังคมที่ดีไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากความโกรธ...  

ความโกรธเป็นส่วนสำคัญของชีวิตที่ทำให้เราปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองโดยการสู้หรือหนี (Fight-or-Flight Response) ซึ่งอยู่ในตัวมนุษย์มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์เพื่อป้องกันตัวเองจากศัตรูและภัยอันตราย 

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ‘ความโกรธ’ และ ‘ความคลั่ง’ เป็นคนละอย่างกัน โดยความโกรธส่งผลดีได้มากกว่าที่คิด เช่น กระตุ้นให้เราจัดการกับปัญหา เกิดความคิดสร้างสรรค์ ตระหนักถึงความไม่ยุติธรรม เรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเอง ฯลฯ ขณะที่ความคลั่งอาจทำให้เราควบคุมตัวเองไม่ได้จนไปทำร้ายคนอื่น 

นอกจากนี้ยังมีการวิจัยโดย University of Michigan School of Public Health พบว่าคนที่เก็บซ่อนความโกรธมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหลอดลมอักเสบและหัวใจวายมากกว่าคนที่ปล่อยให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองโกรธเมื่อเจอเรื่องรำคาญใจ 

วันนี้เราขอแนะนำวิธีจัดการความโกรธ และปลดปล่อยแบบเป็นมิตรทั้งต่อตัวเองและคนอื่น! 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5Opz6EPhzFjYXMVzc1p5UP/6921dc1f7e4a345d1607329be41c208a/how-to-express-anger-positively-SPACEBAR-Photo01

1. เริ่มจากการบอกให้คนอื่นรับรู้ว่าเรากำลังโกรธอยู่ 

เมื่อกำลังเผชิญกับความโกรธ เราจะจัดการกับการกระทำและคำพูดได้ไม่เหมือนภาวะปกติ และนั่นอาจไปกระทบคนอื่นได้ ฉะนั้นเราควรบอกให้คนอื่นรู้ว่าตอนนี้เรากำลังสื่อสารได้อย่างลำบาก และถ้อยคำที่ใช้ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เราอยากพูดจริงๆ 

การบอกแบบนี้ไม่ใช่ข้ออ้างให้เราทำตัวแย่ๆ แต่เป็นการเปิดบทสนทนาเพื่อให้อีกฝ่ายรู้ว่าเรากำลังเผชิญกับอะไร และคุยลึกลงไปถึงปัญหาที่ทำให้อารมณ์นี้เกิดขึ้น โดย ดร.โฮวาร์ด คาสซิโนฟ (Howard Kassinove) นักจิตวิทยา กล่าวว่าสิ่งสำคัญคือ “การใช้น้ำเสียงที่เหมาะสมและไม่ดูหมิ่นคนอื่น” 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5xHsqLwVuNVViKnB2oflWi/0dd1e40a0dbcd3389bbee9ba6f72119e/how-to-express-anger-positively-SPACEBAR-Photo02

2. หยุดสักนิดก่อนคิดจะทำอะไร 

แม้ว่าอีกฝ่ายจะกำลังรอการตอบโต้จากเรา ลองหยุดสักนิดก่อนจะตัดสินใจทำอะไรตอนโกรธจัด โดยอาจอธิบายกับอีกฝ่ายว่าเราอยากรอให้อารมณ์เย็นลงเพื่อการตัดสินใจหรือคำพูดที่ดีกว่า ระหว่างนั้นก็หายใจลึกๆ และทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ 

การทำแบบนี้ไม่ใช่แค่ทำให้โกรธน้อยลงเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือพอให้เวลาตัวเองได้คิด เราก็จะมีตัวเลือกมากขึ้นว่าในสถานการณ์แบบนี้เราทำอะไรได้บ้าง อาจลองเช็กกับตัวเองว่าความโกรธของเรากำลังทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือแย่ลง แล้วเราแก้อะไรได้ไหม ถ้าแก้ไม่ได้ก็ต้องยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว และหาวิธีรับมือต่อไป 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6ibH9x5igF2iWuNNMZI5xq/55fcd4e1fe2e866ff9f888623542c065/how-to-express-anger-positively-SPACEBAR-Photo03

3. ฝึกประเมินความโกรธ  

จอห์น ริสคายน์ (John Riskind) นักจิตวิทยาคนหนึ่งกล่าวว่า จริงๆ แล้ว ‘ความโกรธ’ ไม่ได้เป็นปัญหาเท่าความรู้สึกว่าสิ่งที่มากระตุ้นหรืออันตรายนั้นเพิ่มมากขึ้น เพราะความคุกคามที่ใกล้เข้ามายิ่งกระตุ้นให้เราหยุดสิ่งนั้นอย่างฉับพลัน ซึ่งนั่นอาจนำมาซึ่งผลเสียระยะยาว เช่น การใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาและถูกดำเนินคดีในภายหลัง 

ก่อนอื่นเราต้องประเมินว่าความโกรธเรากำลังเพิ่มขึ้น ลดลง หรือคงเดิม ถ้าความโกรธพุ่งสูงจนถึงจุดเดือด เราต้องค่อยๆ ลดความรุนแรงลงเพื่อให้ยังสามารถควบคุมตัวเองได้ และประเมินว่าอีกฝ่ายพร้อมคุยหรือไม่ มีแนวโน้มที่จะโจมตีเราหรือแค่อยากจบปัญหา หลายคนอาจรู้สึกว่ายิ่งปล่อยเวลาผ่านไปเราก็ยิ่งตอบโต้ได้น้อยลง แต่ความจริงการฝึกแบบนี้เป็นการสร้างพื้นที่ให้จิตใจได้หายใจ และช่วยให้เราเรียนรู้ที่จะรับมือกับความโกรธได้ดีขึ้น 

อ่านมาถึงตรงนี้ทุกคนคงรู้แล้วว่าความโกรธไม่ใช่ความรู้สึกที่เราต้องเก็บซ่อนหรือปกปิด แต่เป็นสิ่งที่เราควรทำความเข้าใจและจัดการให้เป็นมากกว่า

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์