โลกกำลังป่วยขั้นโคม่า แต่มีกี่คนที่ไย? ถ้ามนุษย์ไม่ไย (ด้วยใจจริง) การแก้ปัญหาโลกร้อน ก็เป็นแค่ความเพ้อฝัน

10 พ.ค. 2567 - 05:49

  • 5 ปี 76 วัน คือระยะเวลาที่มนุษย์เหลืออยู่ เพื่อหยุดยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกเดินไปสู่จุดวิกฤตที่ไม่อาจหวนกลับ

  • ระบบที่รัฐถูกแทรกแซงจากนักการเมืองและนายทุน คือโจทย์ท้าทายในการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง

  • หัวใจการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ที่คนชั้นบนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรจะยอม

how-to-fix-climate-crisis-SPACEBAR-Hero.jpg

ข่าววิกฤตสิ่งแวดล้อม ภัยฝุ่นพิษ PM2.5 ไฟป่า ธารน้ำแข็งละลาย ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ฯลฯ คือสิ่งที่องค์กร สื่อ และนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมตะโกนบอกเรามาตลอด

ไม่มีใครไม่รู้ว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับโลก Climate Clock หรือนาฬิกาสภาพอากาศ ที่สร้างสรรค์โดยกลุ่มศิลปินและนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน แสดงตัวเลขนับถอยหลัง บอกว่ามีเวลาเหลืออยู่เท่าใด ก่อนอุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส

หากร้อนถึงจุดนั้น วิกฤตสิ่งแวดล้อมโลกจะเลวร้ายจนไม่อาจย้อนกลับ ระบบนิเวศจะพังจนไม่อาจฟื้นให้เหมือนเดิม

how-to-fix-climate-crisis-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: มลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ

ข่าวร้ายคือ ข้อมูลปี 2023 บอกว่า โลกมีอุณหภูมิร้อนขึ้น (กว่ายุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม) ราว 1.48 องศาเซลเซียส

ข่าวดีคือ เรามีเวลาอีก 5 ปีกับอีก 76 วัน (ข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2024) ที่จะช่วยให้อุณหภูมิโลกไม่ไปถึงจุดนั้น

how-to-fix-climate-crisis-SPACEBAR-Photo02.jpg

คำถามคือ มีโอกาสแค่ไหนที่อุณหภูมิโลกจะไม่เดินไปสู่เขตแดนที่ 1.5 องศาเซลเซียส คำตอบนั้นขึ้นอยู่กับว่า เรามีความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของต่อโลกที่เราอยู่มากน้อยแค่ไหน

ลองคิดดูว่าถ้าโลกเป็นลูกหรือคนในครอบครัวของเรา ซึ่งกำลังป่วยหนัก เราคงจะรีบรักษาและไม่ปล่อยให้โรคลุกลามจนกลายเป็นอาการป่วยเรื้อรัง และกลายเป็นคนที่เจ็บออดๆ แอดๆ ทั้งชีวิต

ใช่, โลกของเราตอนนี้กำลังป่วยขั้นโคม่า แต่มีสักกี่คนที่ไย ซึ่งนี่คือประเด็นใหญ่และเป็นหัวใจของการแก้ไขวิกฤตสิ่งแวดล้อม

ยานิส วารูฟากิส (Yanis Varoufakis) นักเศรษฐศาสตร์ชาวกรีซ พูดถึงประเด็นนี้ไว้น่าสนใจในหนังสือ คุยกับลูกสาวเรื่องเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ย่อของทุนนิยม (TALKING TO MY DAUGHTER About the Economy) โดยตั้งคำถามว่า ผลประโยชน์ของบุคคลกับของโลกจะไปด้วยกันได้ไหม?

how-to-fix-climate-crisis-SPACEBAR-Photo_SQ01.jpg
Photo: หนังสือ คุยกับลูกสาวเรื่องเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ของทุนนิยม จัดพิมพ์โดย Silkworm Books

ให้ความสำคัญที่ ‘คุณค่า’ มากกว่า ‘มูลค่า’

หลังโลกเดินเข้าสู่สังคมตลาด ทำทุกสิ่งให้กลายเป็นสินค้า คือมีราคาและครอบครองได้ด้วยการซื้อขาย ทำให้มูลค่าในการแลกเปลี่ยนมีความหมายมากกว่ามูลค่าเชิงประสบการณ์ สำนึกของความเอื้อเฟื้ออย่างจริงใจในโลกยุคเก่าแปรเปลี่ยนเป็นสำนึกของกำไรขาดทุน

ยานิสคิดว่าวิธีที่พอจะช่วยโลกได้ คือต้องทำให้ผู้คนหันกลับมาให้ความสำคัญกับมูลค่าเชิงประสบการณ์ที่สังคมตลาดไม่ให้ความสนใจ ด้วยวิธี ‘การจำกัดพฤติกรรมในการแสวงหากำไร’

“ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศเอกวาดอร์มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สิทธิ์ในการคุ้มครองตัวเองแก่ป่าฝน โดยไม่สนใจมูลค่าในการแลกเปลี่ยน”

how-to-fix-climate-crisis-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: ทิวทัศน์ป่าฝนอเมซอนในเอกวาดอร์ มองเห็นน้ำตกที่ไหลลงมาตามเทือกเขาแอนดีส

การเขียนกฎหมายเพื่อกำหนดกติกาในสังคม โดยบังคับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องห้ามหรือจำกัดพฤติกรรมที่เป็นการทำร้ายสิ่งแวดล้อม คือหนึ่งในวิธีที่ทำได้ แต่ก็ใช่ว่าผู้มีอำนาจกำหนดกติกาจะเอาด้วย

“การเขียนกฎหมายขึ้นมาเพื่อควบคุมกิจกรรมของเจ้าของกิจการ และเก็บภาษีจากกำไรที่ได้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่คำถามใหญ่กว่านั้นก็คือ เราจะทำยังไงให้ความรับผิดชอบต่อทรัพยากรโลกถูกรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

“ในเมื่อมีคนแค่หยิบมือเดียวที่มีอำนาจอยู่ในมือไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลที่เป็นคนเขียน บริหาร และบังคับใช้กฎหมายด้วย?”

มุมมองที่ต่างกันระหว่าง นายทุน-ประชาชน

“จะทำยังไงให้ความรับผิดชอบต่อทรัพยากรโลก เป็นส่วนหนึ่งของสังคม?” คำถามเดียวกัน แต่ยานิสบอกว่า คำตอบที่ได้อาจต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนตอบ

ถ้าถามคนงานหรือแรงงานที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง อาจได้คำตอบว่า

how-to-fix-climate-crisis-SPACEBAR-Photo04.jpg

“วิธีที่จะหยุดการควบคุมการใช้ทรัพยากรโลกของพวกเจ้าของกิจการก็คือต้องไม่ให้พวกเขาเป็นเจ้าของที่ดิน วัตถุดิบ และเครื่องจักรอีกต่อไป ความรับผิดชอบร่วมกันจะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อมีความเป็นเจ้าของร่วมกันเท่านั้น โดยจะต้องมีการบริหารจัดการแบบประชาธิปไตยทั้งระดับท้องถิ่นผ่านระบบสหกรณ์และระดับชาติผ่านระบบรัฐ”

แต่ถ้าถามคนกลุ่มน้อย (นายทุน--ผู้เขียน) ที่เป็นเจ้าของที่ดินผืนใหญ่และเครื่องจักร คำตอบที่ได้อาจเป็นคนละเรื่อง เช่นเป็นอะไรทำนองนี้

“ก่อนอื่นมาตกลงกันก่อนว่า เราจะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยโลก...”

how-to-fix-climate-crisis-SPACEBAR-Photo05.jpg
Photo: เมืองดาวอส สวิสเซอร์แลนด์ เป็นเมืองที่เป็นเจ้าภาพจัดงาน World Economic Forum ทุกปี งานนี้ผู้นำจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อหารือและกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลก

ถึงตรงนี้ ยานิสตั้งคำถามชวนฉุกคิดว่า แต่คุณเชื่อจริงๆ หรือว่ารัฐบาลจะสามารถดูแลผลประโยชน์ร่วมของเราทุกคนได้อย่างบริสุทธิ์ใจ

“ไม่!” ยานิสตอบเองในประโยคต่อมา “รัฐบาลดูแลผลประโยชน์ของพวกนักการเมือง และข้าราชการที่คุมมันอยู่ต่างหาก”

‘ระบบตลาด’ ผู้ร้าย…ที่ (อาจ) กลายเป็นผู้กอบกู้โลก

แล้วจะทำอย่างไรเพื่อช่วยโลกของเรา? คำตอบคือ “เปลี่ยนทรัพยากรโลกให้กลายเป็นสินค้า”

นั่นคือการเปลี่ยนทรัพยากรที่มีค่าแต่ไม่มีราคามาให้คนสามารถทำกำไรจากมันได้

แนวคิดนี้ (เช่น Carbon Credit--ผู้เขียน)มีคนเห็นด้วยมากขึ้นเรื่อยๆ ภาครัฐและภาคธุรกิจเริ่มใช้มาได้สักพักหนึ่งแล้ว โดยแทนที่จะให้เอกชนเข้ามาเป็นเจ้าของชั้นบรรยากาศ รัฐบาลบางประเทศใช้วิธีต่อไปนี้ในการจัดการปัญหามลพิษแทน

  • กำหนดให้ทุกบริษัทมีสิทธิ์ปล่อยก๊าซพิษออกมาในชั้นบรรยากาศได้จำนวนหนึ่งเท่านั้น และสามารถขายสิทธิ์ที่ตัวเองมีให้กับบริษัทอื่นได้
  • ในตลาดที่ถูกสร้างใหม่นี้ บริษัทที่ผลิตรถ สายการบิน หรือกิจการอื่นๆ ที่ต้องการปล่อยก๊าซพิษ จะสามารถซื้อสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซพิษจากบริษัทที่ไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิ์นี้ เช่น บริษัทที่ใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์
how-to-fix-climate-crisis-SPACEBAR-Photo06.jpg
Photo: อุตสาหกรรมการบินปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3.5% ของการปล่อยคาร์บอนฯ ทั่วโลก

ยานิสบอกว่า การใช้ระบบนี้มีข้อดี 2 ข้อ

1. จะเป็นแรงจูงใจให้บริษัทก่อมลพิษน้อยลง เพราะยิ่งก่อมลพิษน้อยเท่าไหร่ ก็จะได้เงินมากขึ้นจากการขายโควต้าการปล่อยมลพิษส่วนที่เหลือไปให้กับบริษัทอื่น

2. บริษัทที่ปล่อยมลพิษเกินโควต้าต้องซื้อสิทธิ์จากบริษัทอื่นตามราคาที่กำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานในตลาด (แทนที่จะกำหนดโดยนักการเมืองที่ไว้ใจไม่ได้)

“ฟังดูเป็นแนวคิดที่เฉียบแหลมใช้ได้เลย …ว่าไหม?” แต่…

ความย้อนแย้งของระบบ ความฉ้อฉลของใจคน

ทุกระบบมีช่องโหว่ และยานิสชี้ให้เห็นช่องโหว่ของระบบซื้อขายโควต้าการปล่อยก๊าซพิษข้างต้นว่า มีความย้อนแย้งในตัวเอง

“เหตุผลที่เราใช้ตลาดเป็นทางออกก็เพราะว่าเราไม่สามารถไว้วางใจรัฐบาลได้ แต่การที่ทางออกที่เราพูดถึงกันอยู่นี้จะเป็นไปได้ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเต็มๆ เลย”

ใครล่ะ จะเป็นคนตัดสินใจว่าแต่ละบริษัทควรได้โควต้าเท่าไหร่?

ใครจะค่อยตรวจสอบว่าเกษตรกรหรือชาวประมงแต่ละคน รถยนต์หรือรถไฟแต่ละคน โรงงานแต่ละโรง ปล่อยมลพิษออกมาเท่าไหร่?

และใครจะเป็นคนปรับเงินเมื่อมีการปล่อยมลพิษเกินโควต้า?

how-to-fix-climate-crisis-SPACEBAR-Photo07.jpg

“แน่นอน ว่าต้องเป็นรัฐบาล…” เพราะมีแต่รัฐเท่านั้นที่สร้างตลาดเทียมลักษณะนี้ขึ้นมาได้ และรัฐเท่านั้นที่มีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์มาคุมบริษัทต่างๆ ทุกแห่งได้

แต่ขณะเดียวกันรัฐก็ถูกแทรกแซงจากนักการเมืองและนายทุน ถึงแม้จะควบคุมด้วยความเป็นประชาธิปไตยแค่ไหนก็ตาม

how-to-fix-climate-crisis-SPACEBAR-Photo08.jpg
Photo: ครม. เศรษฐา 1/1 ถ่ายภาพหมู่ ณ ทำเนียบรัฐบาล 6 พฤษภาคม 2567 คือความหวังในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเทคโนโลยี

ประชาธิปไตย ทางออกที่แย่น้อยที่สุด

การจัดสรรทรัพยากรเป็นเหมือนเขาวงกตแห่งปัญหาที่ซ่อนเงื่อนวุ่นวาย แต่ถึงกระนั้น ยานิสเชื่อว่า ถึงที่สุด กระบวนการประชาธิปไตย คือทางออกเพียงทางเดียวของปัญหานี้

“ก็เพราะพ่อ (คำที่ยานิสใช้เรียกแทนตัวเองในหนังสือ) มีความเห็นทำนองเดียวกันกับวาทกรรมประชดประชันของ วินสตัน เชอร์ชิส ที่ว่า ประชาธิปไตยอาจจะเป็นรูปแบบที่แย่มากๆ ของรัฐบาล มันมีทั้งข้อเสีย ข้อผิดพลาด ขาดประสิทธิภาพ และก็ขี้โกงพอๆ กับประชาชนของรัฐนั่นแหละ แต่มันก็ยังดีกว่าทางเลือกอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมด”

ยานิสอธิบายว่า ‘ระบบตลาด’ กับ ‘ประชาธิปไตย’ มีความคล้ายกัน (แต่ไม่เหมือนกัน) คือ

ในการเลือกตั้ง เราใช้สิทธิ์ออกเสียงโหวต ยิ่งพรรคการเมืองมีคนลงคะแนนให้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีอิทธิพลกับผลลัพธ์ทางการเมืองมากเท่านั้น

ในตลาดก็คล้ายกัน เช่น เมื่อคุณซื้อไอติมรสใดรสหนึ่งกิน คือการสื่อความให้คนขายไอติมรู้ว่า คุณอยากกินไอติมรสนี้มากพอจนยอมจ่ายเงินซื้อ ซึ่งไม่ต่างจากการโหวตลงคะแนน กลับกันถ้าไม่มีใครซื้อไอติมรสนั้นเลย ผู้ผลิตก็จะหยุดทำไอติมรสนั้นออกมาขาย

แต่จุดที่การโหวตสองแบบนี้แตกต่างกันอย่างมาก คือประชาธิปไตย ทุกคนมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเท่ากัน แต่ระบบตลาด จำนวนสิทธิ์ในการโหวตขึ้นอยู่กับความมั่งคั่งของแต่ละคน

how-to-fix-climate-crisis-SPACEBAR-Photo09.jpg
Photo: Courtesy - www.ajc.com

ด้วยเหตุนี้ ระบบตลาดแบบทุนนิยม คนร่ำรวยจึงมีอำนาจเหลือล้น เสียงดัง และเป็นผู้กำหนดเกม ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นเพียงตัวประกอบที่แทบจะไร้สุ่มเสียงและอำนาจต่อรองใดๆ

คนรวย 1% ถือครองความมั่งคั่ง 77% ในโลก ตัวเลขนี้เป็นหลักฐานที่บ่งบอกถึงความเหลื่อมล้ำของอำนาจต่อรองในระบบตลาดได้อย่างชัดเจน

“สมมติว่าเราทำให้ชั้นบรรยากาศของเราเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนและการตัดสินใจเรื่องนี้อยู่ในมือของคนร่ำรวยแค่หยิบมือเดียว ซึ่งไม่ได้ถูกกระทบแต่อย่างใดจากการที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ถ้าหากมีการตัดสินใจลดการปล่อยมลพิษลง ซึ่งจะทำให้กำไรของพวกเขาลดลง หรืออาจจะถึงกับทำให้ธุรกิจของพวกเขาต้องล้ม

“ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว คิดว่ามันถูกต้องไหมที่คนกลุ่มเล็กๆ ที่มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จะเป็นคนตัดสินใจเรื่องนี้ ในขณะที่ผู้คนที่บ้านและเรือกสวนไร่นาที่ต้องจมหายไปในทะเล ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในเรื่องนี้เลย?

“…เห็นหรือยังว่า ทำไมการออกเสียงของผู้ถือหุ้นจึงไม่มีทางที่จะช่วยโลกแบบเดียวกับการออกเสียงแบบประชาธิปไตย”

how-to-fix-climate-crisis-SPACEBAR-Photo10.jpg

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า รัฐจะสร้างกระบวนการประชาธิปไตยต่อการตัดสินใจนโยบายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร ท่ามกลางระบบตลาดที่นายทุนเป็นใหญ่ ผู้มีอำนาจเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและฉ้อฉล

เพราะถึงที่สุด ความยั่งยืนที่แท้ หาใช่สิ่งใดอื่น นอกจากความเป็นปกติสุขของสรรพชีวิต ที่เกิดจากการเอื้อประโยชน์ให้ผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งมนุษย์ สัตว์ สิ่งแวดล้อม

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศในโลกนี้อย่างสมดุล

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์