‘Windwear’ แบรนด์เสื้อเชิ้ตสัญชาติไทยโกอินเตอร์ไประดับโลก

21 พ.ค. 2567 - 09:00

  • พูดคุยกับ ก้อง-สรภัค บุษราคัมวดี ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Windwear เสื้อฮาวายสัญชาติไทยภายใต้แนวคิด Sustainability อยากให้เสื้อผ้าสามารถใส่ได้นานและย่อยสลายได้ง่ายกับเรื่องราวทั้งหมดตั้งแต่ปีที่ 1 ถึงปีที่ 7 รวมไปถึงการเติบโตของเสื้อผ้าฮาวายลวดลายบ่งบอกเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่ไม่อยากถูกจำกัดว่าสินค้านี้คือ Soft Power แต่คือความภาคภูมิใจของคนไทย

Interview-Windwear-T-Shirt-Made-In-Thailand-SPACEBAR-Hero.jpg

“สวัสดีครับ ชื่อก้อง ทำแบรนด์ WINDWEAR เป็นแบรนด์เสื้อฮาวายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความเป็นไทย ปรับเข้ามาอยู่ในดีไซน์เสื้อผ้าของเรา ปีนี้เป็นปีที่ 7 แล้วของธุรกิจนี้ที่เราทำมาครับ” 

นี่คือคำกล่าวทักทายแรกที่ผมและคุณก้อง-สรภัค บุษราคัมวดี ผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้าฮาวายสัญชาติไทย พูดคุยกันแบบสบายๆ ก่อนที่จะเริ่มบทสัมภาษณ์นี้อย่างเป็นทางการโดยเราจะคุยกันในหัวข้อการเติบโตทั้งหมดที่เกิดขึ้นของแบรนด์ WINDWEAR ตั้งแต่ปีที่ 1 จนถึงปีที่ 7 และการนำเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาอยู่บนเสื้อผ้าว่า แท้จริงแล้วสิ่งนี้เรียกว่าเป็น Soft Power ของไทยได้แล้วหรือยัง? พร้อมทั้งก้าวต่อไปของแบรนด์ที่อยากจะไปให้ไกลกว่านี้  

ส่วนบทสัมภาษณ์นี้จะเป็นเช่นไร ติดตามอ่านกันได้ต่อจากนี้

จุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์ WINDWEAR  

ผมเริ่มต้นธุรกิจนี้กับพาร์ทเนอร์ที่จังหวัดปัตตานีครับ เราทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปีแรกเลย ไอเดียตั้งต้นคือ พวกเราอยากทำเสื้อฮาวายเพราะชื่นชอบในตัวแบรนด์ SUN SURF มากๆ และคิดว่า ทำไมเราถึงต้องไปซื้อเสื้อฮาวายที่ประเทศญี่ปุ่นที่มีราคาแพงด้วย และเสื้อเหล่านั้นก็เล่าแค่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเพียงเท่านั้น เช่น ลายกวางที่เมืองนารา ลายวัดตามเมืองต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่น  

แล้วทำไมเราถึงไม่เอาวัฒนธรรมความเป็นไทยมาเล่าบนเสื้อฮาวายบ้าง อันนี้เป็นคีย์เวิร์ดของผมตั้งแต่ต้นเลย ‘วัฒนธรรมไทย เสื้อฮาวาย และจับต้องได้’ อันนี้คือคีย์เลย พร้อมทั้งสิ่งที่คิดต่อก็คืออยากให้คุณภาพของเสื้อมันเหมือนที่ญี่ปุ่นด้วย อันนี้คือความตั้งใจแรกของผมครับ

Interview-Windwear-T-Shirt-Made-In-Thailand-SPACEBAR-Photo01.jpg

การลงทุนครั้งแรกมีความเสี่ยงเสมอ แต่เป็นความเสี่ยงที่อยากลอง 

ตอนลงทุนครั้งแรกผมไม่รู้ว่าต้องลงทุนเยอะหรือน้อย แบรนด์ผมลงทุนเริ่มต้นแค่ 50,000 บาทครับ ผลิตลายแรกออกมาคือ ‘ลายไก่ชน’ ทำขายทั้งหมด 50 ตัว ตอนนั้นคิดไว้ว่า ถ้าขายได้ก็ดี แต่ถ้าขายไม่ได้เราก็เอาเสื้อมาใส่เองให้ครบ 50 วันแค่นั้นเลย (หัวเราะ) ผมเริ่มจากตรงนั้นแล้วทุกอย่างมันก็ค่อยๆ ตามมาตามสเต็ปของมัน  

กระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้น ผมอยากเล่าเพิ่มครับ ในวันแรกที่เราเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กมากๆ เราสับสนมากกับการหาตัวแทนผลิต เขาแทบจะไม่มองเราเลยด้วยซ้ำ เราไม่ใช่แบรนด์ใหญ่ๆ ที่เขามีมานานแล้ว แต่เราก็พยายามหาจนเจอและก็ทำมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ครับ ตอนนี้ก็มีประมาณ 40 คอลเลคชันแล้วจากวันแรกที่เริ่มทำ

Interview-Windwear-T-Shirt-Made-In-Thailand-SPACEBAR-Photo02.jpg

ช่วงแรกของการทำธุรกิจ จงสร้างความชื่นชอบของผู้คนให้เกิดขึ้น 

ผมมองว่าสิ่งที่มันเข้าถึงได้มากที่สุดของแบรนด์เราก็คือความเป็นไทยครับ อย่างลายไก่ชนหรือแมวไทย อันนี้เห็นได้ชัดเลย ทุกคนจะมีความรักในสัตว์เลี้ยงอยู่แล้ว พอเขาเห็นว่าเป็นแมวไทยเขาจะชอบทันที เราแทบไม่ได้ใช้เงินโปรโมทเยอะเลย เราสร้างแบรนด์จากความชื่นชอบของผู้คนมากกว่า สิ่งสำคัญคือ ลายบนเสื้อและการโปรโมทผ่านทางเฟซบุ๊ก ตามกลุ่มเสื้อฮาวาย  โชคดีที่ช่วงนั้นเสื้อฮาวายได้รับอิทธิพลมาค่อนข้างดี เขาฮิตกัน ทำให้เราโปรโมทจากตรงนั้นก่อนและเราก็ได้รับโอกาสจากทางศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ให้ไปขาย มันเลยได้ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์เลยครับ  

คอลเลคชันเปลี่ยนชีวิตของ WINDWEAR  

ถ้าตอบแบบกลางๆ ทุกคอลเลคชันมันเปลี่ยนชีวิตเราหมดนะ แต่ที่เปลี่ยนจริงๆ คือรุ่น Festive Collection เป็นครั้งแรกที่เราไปจัดป๊อปอัพที่ห้างสยามเซ็นเตอร์  เป็นวันที่เราจัด Pop-Up ครั้งแรก เราไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน แล้ววันที่จัดก็มีแค่เพื่อนสมาชิกที่เขาเคยอุดหนุนเรามาหา เป็นคอลเลคชันที่ทำให้เราใจฟูมากๆ ว่า งานที่เราทำมีความหมายต่อหลายๆ คน งานของเราไม่ได้ไร้ค่านะ มันช่วยทำให้สังคมดีขึ้น ตรงนี้ผมภูมิใจมากๆ

Interview-Windwear-T-Shirt-Made-In-Thailand-SPACEBAR-Photo V01.jpg

ทำเสื้อผ้าอยู่ดีๆ โดนก๊อปไปขาย เรื่องตลกร้ายที่พอจะยิ้มได้บ้าง 

ตอนนั้นเขาเอาไปขายตัวละ 190 บาทครับ (หัวเราะ) แล้วรุ่นนั้นแพงด้วยนะ ผมขาย 3,290 บาท แว่บแรกที่รู้คือผมหัวเราะเลย เพราะคิดในใจยังจะก๊อปอีกเหรอ ก๊อปไปได้ยังไง เป็นลายสืบ นาคะเสถียร เราไม่มีความโกรธเขาเลยนะ แต่กลับดีใจด้วยซ้ำว่า ดังแล้ว มีคนก๊อปแล้ว ลายมันต้องสวยในระดับนึง แต่อีกใจเราก็แจ้งทางห้างสรรพสินค้าเลยว่า คุณขายของก๊อปนะ ผู้เช่าคุณขายของก๊อปนะ ผมก็เข้าไปถ่ายคลิปแล้วก็ยื่นเรื่อง แจ้งทนาย ฟ้องกับทางผู้เช่าว่า คุณขายของก๊อปนะ เป็นความรู้สึกที่ตลกปนเศร้า มันไม่ได้เยอะแยะอะไร แต่มันก็เศร้าว่า เราควรจะทำให้สังคมมันดีกว่านี้รึเปล่า มันหมดยุคจะก๊อปปี้กันแล้ว ยุคนี้มันต้องตระหนักรู้ว่า ลิขสิทธิ์มันสำคัญนะ เราเคยโดนก๊อปแบบเปลี่ยนสี เปลี่ยนการจัดวางเราก็โดนมาแล้วครับ ก็มีคุยกับเขาไป มีเสียค่าปรับกันไปครับ  

ความเห็นจากทางบ้านสู่ธุรกิจที่ทำให้ชีวิตมีความสุข 

ที่บ้านค่อนข้างโอเคเลยครับ ผมออกมาทำธุรกิจเองตั้งแต่อายุ 18-19 แล้ว ที่บ้านก็เลยไม่ได้อะไรครับ แต่ความรู้สึกของที่บ้านเขาน่าจะเข้าใจถึงแพสชันและความเครียดสะสมมากกว่า มันเป็นสิ่งที่เราอยากจะสื่อสารความเป็นไทยตรงนี้ออกไปให้ทั้งโลกเห็นว่า เมืองไทยมีดีกว่าแค่กางเกงช้างนะ ยังมีผีตาโขน มีปลากัด มีรวงข้าว  

ความเครียดของผมคือ จะทำยังไงให้มันสปีดขึ้นไปให้คนเห็นเยอะที่สุด ความเครียดที่เกิดขึ้นคือเราเป็นธุรกิจ SME เราไม่มีแขนขาที่จะผลักดันสิ่งที่มีไปได้ไกล นี่เป็นสิ่งที่ผมกำลังมองหาอยู่เหมือนกัน มันจะช่วยผมมากๆ หากมีสิ่งนี้เข้ามาเสริมมันก็จะต่อยอดไปได้ในอนาคตครับ

Interview-Windwear-T-Shirt-Made-In-Thailand-SPACEBAR-Photo V02.jpg

การทำธุรกิจแบบมวยวัด แต่ท้ายที่สุดก็ต้องมีชั้นเชิงอยู่ดี 

สามปีแรกของการทำธุรกิจนี้ผมยอมรับว่า มันคือมวยวัด วัดใจ ลายนี้รอดหรือไม่รอด แบบนั้นเลย แต่พอหลังๆ มาเราทำให้มีความเป็นระบบมากขึ้น เรามีระบบที่ดูบัญชี ดูการซื้อขาย เราก็จะเลือกดาต้าเข้ามาแล้วดูพวกปริมาณการซื้อการขาย แบ็คกราวนด์ของผมเป็นผู้บริหารโรงแรมมาก่อนที่จังหวัดภูเก็ต เราก็เลยมีข้อมูลว่า ช่วงไหนที่มีปริมาณการซื้อการขาย ช่วงไหนที่เราควรจะเก็บคองอเข่าตัวเอง ก็ช่วยได้เยอะเลย  

อย่างการดูเรื่องตัวเลข แต่ละสาขาก็จะมีความแตกต่างคนละแบบกัน เช่น สาขาสยามลูกค้าจะชอบลายที่มันแสบตาหน่อย หรือสาขาคิงพาวเวอร์ลูกค้าก็จะชอบลายที่มันไฮป์ประมาณนึง ชอบลายที่บ่งบอกความเป็นไทยเรียบๆ อะไรแบบนี้

Interview-Windwear-T-Shirt-Made-In-Thailand-SPACEBAR-Photo V03.jpg

ราคาสินค้า ต้องขายประมาณไหนถึงจะเหมาะกับคนไทย  

ผมมองว่าราคาสินค้าผมเหมาะกับคนไทยที่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อแล้วนะ เราเชื่อว่างานของเราสวยแล้วคนที่เขาซื้อไปก็บอกว่า นี่คือระดับงานญี่ปุ่นที่ทำขายกันเลยนะ ฉะนั้นจะขายถูกเกินไปมันก็ไม่ได้ เพราะมันจะเป็นการด้อยค่าแบรนด์ลง เราเลยเลือกที่จะขายราคานี้กับสเป็คที่เป็นแบรนด์ของเราจริงๆ มันกลายเป็นจุดกำหนดไว้แล้วว่า ลูกค้าเราคือใคร ผมเลยเข้าใจว่าเขาจ่ายได้ครับ   

เป้าหมายของ WINDWEAR ที่วางไว้และอยากไปให้ถึง  

เป้าหมายปีนี้ผมอยากมีสาขาเพิ่มประมาณ 1-2 สาขาที่ต่างจังหวัด เช่น จังหวัดภูเก็ต เรามีสาขาที่ป่าตอง ผมดีใจมากๆ ที่จะได้รู้ว่าลูกค้าเราจะประมาณไหน ปีนี้เราจึงอยากจะหาหน้าร้านสักร้านนึง  

ส่วนอีกหนึ่งเป้าหมายภายในปีนี้เราอยากไปเปิดสาขาที่ต่างประเทศครับ เรามีชื่อเสียงจากการที่เราไปดีลกับทางญี่ปุ่นอยู่แล้ว ผมก็อยากไปเปิดที่นั่นครับ  

Soft Power กับกางเกงช้างไทย มุมมองในฐานะคนทำแบรนด์เสื้อผ้าที่ชูเอกลักษณ์ความเป็นไทย 

ผมมองว่า เขาไม่เข้าใจจริงๆ ว่า ความต้องการของคนอยากจะใส่อะไรมากกว่า เขาไม่มีความเข้าใจในเรื่องของความสวยงามครับ และเขาก็ไม่ได้ Put The Right Man On The Right Job  กางเกงช้าง ผมว่าเขาทำง่ายๆ มากกว่าเพื่อให้มันสอดคล้องกับคำว่า Soft Power ของเขา อันนี้อาจจะตอบแรงนะครับ แต่มันคือเรื่องจริง เรารีบทำกันมากเกินไป ซึ่งเขาก็ไม่ผิดนะ แต่ตรงนี้มันไม่สามารถยืนระยะได้  

เสื้อแบรนด์ผม ผมทำออกมาเพื่อการท่องเที่ยว เราเห็นเสื้อเรารู้เลยว่า เราจะไปงานไหน ไปทำอะไร ตรงนี้แหละมันคือสิ่งที่เราเห็นกันอยู่ทุกวัน มันไม่มีใครเห็น แต่ผมมองเห็นและอยากนำเสนอออกมา เช่น ดอกนางพญาเสือโคร่งที่เชียงใหม่ หรือจะทุเรียนไหม สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ผมอยากจะให้เขามองเพิ่มเข้าไป 2-3 สเต็ปนิดนึง และฝรั่งเขาก็บอกนะว่า ชอบสิ่งเหล่านี้มากๆ ด้วย มันเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ต้องเข้าใจจริงๆ ถึงจะสื่อสารออกไปได้ครับ  

ภาวะโลกร้อนกับสิ่งที่ Windwear แคร์เสมอ  

เราให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มากครับ เราอาจจะไม่ได้เป็นบริษัท Go Green Company เหมือนที่หลายๆ บริษัทเป็น แต่ลึกๆ ที่ผมทำ ผมเชื่อว่าเสื้อผ้าดีๆ คือเสื้อผ้าที่สวมใส่ไปได้อีก 20-30 ปี เราต้องการจะผลิตเสื้อผ้าที่ใส่ไปได้ตลอดครับ ซึ่งมันก็ต้องมีคุณภาพที่ดีและใช้ผ้าที่ผลิตจากธรรมชาติด้วย  นอกจากจะใส่สบายแล้ว มันสามารถย่อยสลายได้ไม่ยาก มันจะไม่เหมือนกับเสื้อฮาวายตัวละ 200-300 บาทที่เขาใช้ใยพลาสติกทำ ซึ่งพอเรานำไปย่อยสลายหรือไปเผามันจะหดเหลือเป็นพลาสติก  เพราะมันไม่ใช่เส้นใยธรรมชาติและก้อนพลาสติกนี่คือใช้เวลา 200-300 ปีกว่าจะย่อยสลาย  

ฉะนั้นสิ่งที่ผมทำมันจึงใช้ได้นานและสามารถย่อยสลายได้จริงครับ  ที่สำคัญคือ เรามีแคมเปญ Free Repair for Life เช่น ถ้าลูกค้าใส่เสื้อมาแล้วโดนรอยขูดต่างๆ จนขาด เราจะซ่อมแซมให้ทุกตัว หรือ ลูกค้าถ้าผอมลง อยากจะปรับไซส์ลงมาหน่อย อยากให้พอดีตัวมากขึ้น ส่งมาทางเรายินดีทำให้ ทุกอย่างมาจากฝีเข็มของเราโดยตรง และผมก็อยากจะให้ผู้ประกอบการรายอื่นเริ่มคิดตรงนี้มากขึ้น ผมเป็นคนนึงที่ไม่ค่อยสนับสนุนให้ซื้อเสื้อผ้าบ่อยๆ เราควรจะชอบเสื้อในแบบที่อยู่กับเราได้นานๆ มากกว่า  

Fast Fashion กับวัฒนธรรมการซื้อของผู้ใช้ที่เน้นใส่ก่อน เท่ก่อน ขายก่อน  

ผมคิดว่าธุรกิจแต่ละสิ่งมีโมเดลการทำงานที่แตกต่างกัน สำหรับผมแบรนด์ที่เราทำจะเน้นประสบการณ์ร่วมมากกว่า เน้นประสบการณ์ซื้อมาแล้วให้ใส่นานๆ เน้นว่า เราซื้อมาแล้วความหมายของเสื้อมันคืออะไร รุ่นนี้มีเรื่องราวอย่างไร ผมอยากจะเน้นตรงนี้   

สำหรับคำว่า Fast Fashion ผมมองว่ามันฉาบฉวยไปหน่อย ด้วยดีไซน์ต่างๆ ที่เขาออกใหม่ทุกวัน ทุกสัปดาห์ มันจะทำให้คนเกิดการ Over Consumption สุดท้ายก็จะทำให้ราคาสินค้ามันเฟ้อ หรือ ความอิมแพ็คต่างๆ มันผิดที่ผิดทางจนไปถึงทางการแข่งขันที่ทำให้เราต้องไปจ้างแรงงานเถื่อนมาตัดเย็บเสื้อผ้าให้ทัน เรากำลังสนับสนุนสิ่งที่ผิดอยู่รึเปล่า อันนี้ก็อยากให้ทุกคนคิดดูดีๆ ว่าเราได้ใช้บ่อยขนาดไหนด้วยครับ ผมก็เคยซื้อนะ ไม่ใช่ว่าผมไม่ซื้อ แต่ถ้าย้อนกลับไปได้ผมอยากจะจ่ายเพิ่มอีกเท่านึงแล้วใส่ได้นานๆ มากกว่าเสื้อผ้าที่ใส่ได้ไม่กี่เดือน  

ทำไมคนไทยต้องใส่ Windwear  

อันดับแรกเลย อากาศประเทศเราร้อนครับ (หัวเราะ) มันร้อนมาตลอด ประเทศเราเป็นประเทศที่ไม่มีความจำเป็นต้องใส่เสื้อที่มันหนาตลอดเวลา เราควรจะใส่ผ้าบางๆ บ้าง อันนี้เป็นข้อแรกเลย เพราะประเทศเรามันร้อน  

อันที่สองความเป็นคนไทยมันสนุก มีรอยยิ้ม มู้ดและโทนของคนไทยคือความเป็นสีสัน สีมันจะแสบสันหน่อย นี่แหละคือความเป็นไทย  

ข้อสุดท้ายเราทุกคนใส่เสื้อที่ Represent ความเป็นญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกากันมาหมดแล้ว แล้วมันจะไปผิดอะไร ถ้าเราอยากจะใส่เสื้อสักตัวนึงเพื่ออยากจะนำเสนอความเป็นไทยของเรา และเราก็ทำแบรนด์ออกมาได้ไม่แพ้แบรนด์อื่นๆ ที่อยู่ในท้องตลาดครับ

Interview-Windwear-T-Shirt-Made-In-Thailand-SPACEBAR-Photo V04.jpg

คอลเลคชันที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ 

เดือนพฤษภาคมนี้เราจะออกคอลเลคชันเกี่ยวกับ Thai Lifestyle ครับ เราจะพาทุกคนย้อนกลับไปถึงคอนเซ็ปต์เราอยู่กับธรรมชาติและจะประกอบไปด้วยไก่และโอ่งมังกร พาย้อนยุคไปในช่วงเวลานั้น เรามีชีวิตอยู่ได้้กับคอนเซปต์ ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ แต่เราจะเล่าด้วยเรื่องราวความเป็นอยู่ของไก่แจ้ ไก่ชน ก็จะมีลายพวกรวงข้าว แมลงปอ เราจะรวมอยู่ในคอลเลคชันที่จะออกเร็วๆ นี้ 

แล้วก็จะมีโปรเจกต์ใหญ่ Made in Japan ครับ เราจะผลิตผ้าจากญี่ปุ่น จะใช้เทคนิคแบบออริจินัล โดยที่เราใส่ความเป็นไทยไว้ นึกภาพง่ายๆ เหมือนคนที่ปะสีลงผ้ากัน มันจะเป็นโปรเจกต์ในควอเตอร์ 3 ครับ อยากให้ทุกคนรอชมกันให้ดีๆ มีให้ติดตามกันทั้งปีแน่นอน  

รวมไปถึงสิ้นปีด้วยที่เราจะนำผ้าที่ยังใช้ได้อยู่กลับมาทำให้ใช้ได้อีกครั้ง เรามีโปรเจกต์ตรงนี้ครับ ผมเชื่อว่า ความ Sustain คือ เราสามารถนำมาต่อยอดและนำมาใช้ได้ เราจะออกเป็นคอลเลคชัน Sustainability ครับ

Interview-Windwear-T-Shirt-Made-In-Thailand-SPACEBAR-Photo V05.jpg

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำ WINDWEAR  

อย่างแรกที่ผมเรียนรู้เลยคือ ผมวาดรูปไม่เป็น ผมเขียนอะไรไม่ได้เลย ผมได้เรียนรู้ว่า เราต้องจ้างให้คนที่ฉลาดในเรื่องนึงให้เขาทำแทนเรา หรือถ้าทำไม่ได้ก็ต้องหาพาร์ทเนอร์มาช่วยเติมเต็มเราให้ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมเรียนรู้เลยและมันจะทำให้ธุรกิจเราไปได้ไกลมากๆ  

อีกเรื่องคือ อย่ายอมแพ้ มีหลายครั้งที่ผมคิดจะยอมแพ้บ่อยมากๆ แต่ทุกครั้งผมก็จะคิดเสมอว่า ให้เราลองย้อนมองกลับไป วันแรกที่เราทำเสื้อ 50 ตัวแรก เรามีความสุขกับมันมากขนาดไหน ผมเลยมองว่า มันมีคนที่ชื่นชอบผลงานเราอยู่นะ อันนี้เราอย่ายอมแพ้ มันใช้เวลานานครับ นี่เพิ่งปีที่ 6 -7 เอง ฉะนั้นแล้วเราต้องสู้ เสียอะไรก็ได้แต่อย่าเสียใจครับ

Interview-Windwear-T-Shirt-Made-In-Thailand-SPACEBAR-Photo V06.jpg

ฝากถึงคนอ่านบทความนี้หน่อย  

อาจจะเป็นคำที่ดูเชยไปหน่อย แต่ผมอยากจะให้เราภูมิใจในความเป็นไทยนะ เรามีวัฒนธรรมและสิ่งเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในชาติเราเยอะมาก ภูมิใจในสิ่งนี้ได้เลย  มูลค่าตรงนี้มันเยอะมากจริงๆ สิ่งที่เรามองมันเป็น Asset ที่มีคุณค่ามากๆ ซึ่งมันจะทำให้ประเทศไทยไปได้ไกล อยากให้ทุกคนมองเห็นจุดนี้เยอะๆ ครับ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์