JOY LIFE: ซิฟิลิส โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยอดฮิต ที่เน้นสนุกแต่ขาดการป้องกันที่ถูกต้อง

3 พฤศจิกายน 2566 - 09:22

JOY-LIFE-what-is-Syphilis-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ในปัจจุบัน มีรายงานเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ซิฟิลิส จากการมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น และในจำนวนมากที่กล่าวมา ก็มีผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ จนน่ากังวล

  • ควรตรวจร่างกายทุกๆ 6 – 12 เดือน เพื่อป้องกันและรักษาได้ทันก่อนสาย

  • โรคซิฟิลิสในปัจจุบัน พบมากที่สุดในกลุ่มวัยรุ่นช่วงมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย

ซิฟิลิส (Syphilis) หนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ในปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น และในจำนวนผู้ติดเชื้อนั้น ก็มีอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ โดยพบมากที่สุดในกลุ่มวัยรุ่นช่วงมัธยมไปจนถึงมหาวิทยาลัย 

ซิฟิลิส มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Treponema Pallidum โดยผู้ที่ติดเชื้อจะพบเชื้อได้บริเวณเยื่อเมือก หรือบริเวณที่มีบาดแผลตามร่างกาย เช่น เยื่อบุตา ช่องปาก ช่องคลอด ท่อปัสสาวะ หรือทวารหนัก เป็นต้น ผู้ที่ติดเชื้อซิฟิลิสส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการสัมผัสเชื้อโดยตรงจากผู้ที่มีเชื้ออยู่แล้ว เชื้อจะใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 2-4 สัปดาห์ หรือในบางรายอาจใช้ระยะในการฟักตัวนานถึง 3 เดือน สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าหากปล่อยให้ลุกลามไปถึงในระยะ 2 หรือ 3 แล้ว อาจจะมีผลกระทบต่อระบบอื่นๆ ในร่างกายด้วย 

ในสถิติที่ผ่านมา ช่วงวันที่ 1-30 มิถุนายน ปี 2022 ในประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคซิฟิลิสทั้งหมด 5,057 ราย แบ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี มีผู้ติดเชื้อซิฟิลิสมากที่สุด คิดเป็น 38.46% รองลงมาคือกลุ่มวัยกลางคนที่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี คิดเป็น 26.74% และกลุ่มอายุ 35-44 ปี คิดเป็น 12.70% 

อาการของโรคซิฟิลิสจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเป็นแผล, ระยะออกดอก และ ระยะแฝง

ระยะที่ 1 ระยะเป็นแผล ผู้ป่วยจะเกิดตุ่มเล็กขนาด 2 – 4 มิลลิเมตร บริเวณอวัยวะเพศ  ริมฝีปาก ลิ้น และหัวนม โดยตุ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนแตกเป็นแผล  ไม่มีอาการเจ็บ แต่หากปล่อยทิ้งไว้เชื้อจะเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ  

ระยะที่ 2 ระยะออกดอก จะเกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อระยะแรกประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ เชื้อซิฟิลิสในต่อมน้ำเหลืองเริ่มเข้าไปสู่กระแสเลือด ส่งผลให้เกิดผื่นลักษณะเป็นตุ่มนูนขึ้นตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า ไม่มีอาการคัน อาจพบเนื้อตายเน่ามีน้ำเหลืองไหลซึ่งมีเชื้อซิฟิลิสปนอยู่จึงเป็นระยะติดต่อโรคได้ง่าย 

ระยะที่ 3 ระยะแฝง จะเกิดขึ้นหลังจากระยะที่ 1 ประมาณ 3-10 ปี โดยร่างกายจะแสดงอาการของโรคให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งเกิดจากการลุกลามของเชื้อเข้าสู่ระบบต่างๆ ของร่างกาย ทำให้มีอาการต่างๆ เช่น หูหนวก ตาบอด เนื้อจมูกเป็นรอยโหว่ กระดูกผุ ใบหน้าผิดรูป อาการสมองเสื่อม ลิ้นหัวใจรั่ว อัมพาต ฯลฯ 

วิธีการป้องกันการเกิดโรคซิฟิลิสที่ได้ผลดีที่สุดคือ การสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคซิฟิลิส รวมไปถึงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ การ One Night Stand หรือ Friend with Benefits และการซื้อบริการก็เสี่ยงติดเชื้อด้วยเช่นกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้ เพียงแค่หากมีพฤติกรรมรักสนุกแต่ไม่ผูกพัน ก็ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำเพื่อความปลอดภัย และรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและจุดซ่อนเร้นอย่างเป็นนิสัยด้วย  

รวมไปถึงการทำออรัลเซ็กส์ด้วย เนื่องจากการทำออรัลเซ็กส์ให้คู่นอนโดยไม่สวมถุงยางอนามัยก็สามารถทำให้ได้รับเชื้อซิฟิลิสได้เช่นกันนะ ในยุคสมัยนี้ถุงยางอนามัยนอกจากมีหลากหลายสีสันแล้ว ยังมีหลากหลายกลิ่นและรสชาติ เพื่อเพิ่มอรรถรสให้กิจกรรมด้วย

JOY-LIFE-what-is-Syphilis.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์