Lost In Doubt: เมื่อความตลกทั้งหมดทั้งมวลมีทฤษฎีรองรับ

17 เม.ย. 2566 - 04:45

  • ความตลกเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีคนหยิบมาศึกษาจริงจังถึงขั้นสร้างแล็บวิจัยเพื่ออธิบายว่าทำไมเราถึงหัวเราะ

  • ทฤษฎี Benign Violation เป็นอีกหนึ่งทฤษฎีที่นักวิทยาศาสตร์จิตวิทยาจากสหรัฐอเมริกาคิดขึ้น

  • พวกเขาสรุปว่าเรื่องตลกจะต้องละเมิดความถูกต้องอะไรสักอย่าง แต่ต้องไม่รุนแรงจนเกินขีดความปลอดภัย

  • และทฤษฎีเดียวกันนี้ก็อธิบายได้ว่าทำไมบางคนถึงขำในเรื่องที่อีกคนไม่ขำ

lost-in-doubt-humor-theory-SPACEBAR-Thumbnail
ไม่ว่าจะเป็นคนซีเรียสหรือเคร่งเครียดแค่ไหน ต้องมีอะไรสักอย่าง หรือไม่ก็เรื่องสักเรื่องที่ทำให้เราหัวเราะได้ 

บางคนหัวเราะกับเรื่องธรรมดาที่บังเอิญฮา บางคนขำเวลาเล่าเรื่องคอขาดบาดตายสมัยก่อน บางคนตลกกับมุกที่เนิร์ดมากๆ และบางคนก็อยู่ในกลุ่มที่แชร์มีมกันเป็นลัทธิ (อย่างเพจ ‘น้องง’ และเขตปกครอง ‘INTO THE BORDERLAND’ เป็นต้น) 
ไม่แปลกที่ความตลกของมนุษย์แตกไปได้หลายรูปแบบขนาดนี้ เพราะมันเริ่มพัฒนาตั้งแต่เรายังเป็นทารกแล้ว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัทเผยว่าทารกอายุ 7-8 เดือนเริ่มจงใจใช้สีหน้า ท่าทาง และน้ำเสียงแหย่ให้ผู้ใหญ่หัวเราะได้แล้ว ยังมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์ที่เผยว่าทารกอายุ 16 เดือนสามารถแยกความแตกต่างระหว่างการเสแสร้งและการล้อเล่นได้ 

นอกจากความบันเทิงส่วนบุคคล ความตลกยังกลายเป็นการสื่อสารทางสังคมอย่างหนึ่ง โดยส่วนใหญ่คนตลกมักถูกมองว่าฉลาด เป็นมิตร สามารถทำให้คนทั้งวงสนทนาเฮฮาไปด้วยกันได้ ความตลกจึงเป็นอีกหนึ่งความประทับใจที่ดึงดูดอีกฝ่ายได้อยู่หมัด…ตราบใดที่มันตลกจริงๆ อะนะ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6CRBbdi2idi2CAOfeIj2Ap/834b2a430d4a454b260e1b3e9a038e97/lost-in-doubt-humor-theory-SPACEBAR-Photo01

ว่าด้วยความดาร์กและความตลก–ยิ่งดาร์ก ยิ่งตลก? 

แม้จะเคยมีการทดลองและศึกษาเกี่ยวกับความตลกมามากมาย ปีเตอร์ แมคกรอว์ (Peter McGraw) และ เคเลบ วอร์เรน (Caleb Warren) นักวิทยาศาสตร์จิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโดก็ยังไม่เจอทฤษฎีที่อธิบายได้แบบไร้ที่ติ พวกเขาได้ก่อตั้ง Humor Research Lab (HuRL) และวิจัยจนได้ทฤษฎี Benign Violation ที่เป็นเหมือนสูตรลับเบื้องหลังทุกความตลก 

ทฤษฎีนี้แปลง่ายๆ ได้ว่า ‘การละเมิดที่ปลอดภัย’ โดยปีเตอร์กล่าวว่า ถ้าไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกไปจากปกติมันก็จะไม่ตลก จะต้องมีการละเมิด หรือท้าทายความเชื่อบางอย่างที่เราคิดว่าถูกต้อง เช่น การจั๊กจี้ การดูถูก เสียดสี การกระทำหรือสำเนียงแปลกๆ การใช้เหตุผลที่ผิดเพี้ยน ฯลฯ 

ทั้งนี้ การละเมิดดังกล่าวต้องมีพื้นที่มากพอให้รู้สึกปลอดภัยที่จะขำกับมันได้ อาจเป็นพื้นที่ในเชิงเวลา ความสัมพันธ์ หรือจินตนาการ เช่น เรื่องอกหักสมัยก่อน พอมาเล่าย้อนแล้วกลายเป็นเรื่องตลก หรืออุบัติเหตุฮาๆ ที่เราขำได้แบบไม่เดือดร้อนอะไรเพราะมันเกิดขึ้นกับคนไกลตัว 

อีกงานวิจัยหนึ่งยังพบว่ายิ่งเป็นเรื่องที่เลวร้ายหรือรุนแรงเท่าไร เวลาผ่านไปก็ยิ่งตลก ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือแม้แต่การจากไปของใครสักคน กลับกันถ้าเป็นความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ อย่างเวลาเตะขาโต๊ะหรือพูดผิด เราจะตลกแค่ช่วงเวลานั้น จากนั้นความตลกจะลดลงตามกาลเวลา 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4nJA5YdmDrPklz44yJoXWP/3a9d6728dee61a45916d300f34597778/lost-in-doubt-humor-theory-SPACEBAR-Photo02

เส้นบางๆ ระหว่างความขำกับความขม 

ทฤษฎี Benign Violation อธิบายได้ว่าทำไมบางโศกนาฏกรรมถึงไม่ตลก กล่าวคือ ‘การละเมิด’ และ ‘ความปลอดภัย’ ที่เป็นส่วนผสมสำคัญของความตลกนั้นแตกต่างกันไปตามสถานที่ ภาษา และวัฒนธรรม ซึ่งหากเล่นมุกแบบผิดฝาผิดตัว นอกจากจะกลายเป็นมุกฝืดแล้วคนฟังอาจไม่สบายใจหรือรู้สึกถูกคุกคามได้เลย 

เราจะขอยกตัวอย่างการเล่นมุกระดับนานาชาติที่เคยเป็นประเด็นเมื่อปี 2559 ในที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิคนพิการ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เรื่องเกิดตอนปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เล่นมุกโดยพูดว่า “please stand up” ตอนแนะนำตัวผู้แทนฯ ที่เป็นคนแคระ โดยมีทีมจากประเทศไทยหัวเราะรับมุกกันสนุกสนาน ขณะที่ชาวต่างชาติทั้งห้องเงียบกริบ 

แม้เจ้าตัวที่เป็นคนพิการจะออกมาแก้ข่าวว่าทั้งหมดเป็นเพียงการหยอกเล่นด้วยความเอ็นดูและสนิทสนม แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือมุกนั้นสร้างความอึดอัดจนผู้ร่วมประชุมตำหนิว่าเป็นการ “ล่วงละเมิดทางวาจาต่อตัวแทนผู้ทพพลภาพหญิง…” และ “...เป็นการดูแคลนศักดิ์ศรี และลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์…” นอกจากนี้มันยังสะท้อนสังคมไทยที่ติดอยู่กับมุกล้อสังขารจวบจนปัจจุบัน 

นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดมากว่าการละเมิดอาจอยู่ในจุดที่ปลอดภัยที่จะหัวเราะสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง แต่สำหรับคนอีกกลุ่มมันอาจเกินจุดเหมาะสมจนขำไม่ลง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเราต้องคำนึงถึงคนฟัง ไม่พูดอะไรที่อาจไปคุกคามคนอื่น และที่สำคัญคือต้องมีกาลเทศะ! 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5oXz2nELg6ahAXJVFVFuCY/6215d99adcb5c2d48b4813307c944bf3/lost-in-doubt-humor-theory-SPACEBAR-Photo03

พื้นที่ปลอดภัยให้หัวเราะ 

ด้วยความที่สังคมเราเริ่มมีความตระหนักรู้มากกว่าสมัยก่อน (ซึ่งดีแล้ว) ความยากก็ตกเป็นของเหล่าคอมเมเดียนและมีมเมกเกอร์ว่าจะเล่นตลกอย่างไรให้ยังพีซี หรือถ้าจะไม่พีซีต้องตลกอย่างไร…? 

สิ่งที่เกิดขึ้นนอกจากการเล่นมุกพีซีคือการสร้างพื้นที่ที่ตลกได้โดยมีข้อตกลงและความยินยอมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเพจ กลุ่ม ช่องยูทูบ หรือคอมเมดีคลับ ซึ่งหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการสแตนด์อัพคอมเมดีในไทยก็คือ ยู-กตัญญู สว่างศรี เจ้าของ A Katanyu คอมเมดีคลับชื่อกวน  

คอมเมดีคลับเป็นทั้งพื้นที่ทดลองของคอมเมเดียน และเป็นเหมือนพื้นที่เปิดโลกของคนฟัง ไม่ใช่ว่าจะเล่นมุกดาร์กแค่ไหนก็ได้ แต่มันคือศิลปะในการเลือกเรื่อง เลือกคำ เพื่อเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ ให้กลายเป็นเรื่องตลก ซึ่งยูเองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าคอมเมเดียนต้องแยบยลและมีชั้นเชิงมากขึ้นในยุคที่คน woke กันในหลายๆ เรื่อง รวมถึงต้องคอยสังเกตคนดูและปรับระดับความรุนแรงให้เหมาะสม  

แต่ถึงจะระวังแค่ไหน ในเรื่องตลกต้องมีเหยื่อเสมอ ยูยังเคยกล่าวว่า “ไม่ใครสักคนหรืออะไรสักอย่าง ก็จะเป็นตัวเราเอง” อย่างวงการคอมเมดีก็มี ‘การเผา’ (roast) ที่ทำการตกลงและยินยอมกันก่อนเริ่มว่าจะรุมด่า แซว หรือขุดอดีตของใครสักคนโดยไม่พีซีใดๆ ซึ่งหลายครั้งคอมเมเดียนก็เผาตัวเองโชว์ไปเลย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องระวังไม่ไปแตะคนที่ไม่ได้ตั้งใจมาให้เผาด้วย 

เช่นเดียวกับการเล่นมุกในชีวิตประจำวัน คอมเมเดียนล้วนเล่นกับ ‘การละเมิด’ ในพื้นที่ที่ ‘ปลอดภัย’ ซึ่งถ้าเล่าได้ถูกบริบทและคำนึงถึงคนดูมากพอ เสียงหัวเราะก็เกิดขึ้นไม่ยาก 

นี่อาจเป็นบทความว่าด้วยความตลกที่จริงจังเกินกว่าจะอ่านไปหัวเราะไป ฉะนั้นเราจะขอคีพความซีเรียสและจบด้วยโควตดังที่ว่า 
 
“ชีวิตคือโศกนาฏกรรมเมื่อมองระยะใกล้ แต่มันเป็นเรื่องตลกในระยะไกล” (Charlie Chaplin) 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์