สวนทูนอิน รสมือ ‘มาดามวารินชำราบ’ ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

28 มกราคม 2567 - 03:28

madame-varinchamrap-tune-in-SPACEBAR-Hero.jpg
  • สวนทูนอินเป็นบ้านพักที่บันทึกเรื่องราวระหว่างชีวิตก่อนการถึงแก่อนิจกรรมของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ไว้อย่างครบถ้วน พร้อมทั้งเสิร์ฟอาหารเมนูบุฟเฟต์ด้วยอาหารจานหลัก 5 เมนู ท่ามกลางผืนป่าอันงดงาม

สองข้างทางนับตั้งแต่เข้าสู่ ‘โป่งแยง’ เป็นเรือนไม้สูงใหญ่สลับกับขุนเขา และพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ทั้งไร่กาแฟและสวนเมี่ยง การขับขี่เป็นไปอย่างไม่เร่งรีบ จึงใช้เวลากว่าชั่วโมงครึ่ง ทั้งๆ ที่อำเภอแม่ริมไม่ได้ห่างจากตัวเมือง (เชียงใหม่) มากนัก 

ค่อยๆ เคลื่อนผ่านทางลาดยางมะตอยสลับกับดินลูกรังก่อนถึงที่หมายประมาณ 2 กิโลเมตร รถเก๋ง 5 ประตู ขนาดเครื่องยนต์ 1500 ซีซี. จึงไต่ขึ้นทางลาดชันแล้วหยุดจอดใต้ร่มไม้ใหญ่ ด้านหน้ามีป้ายบอกทางชี้เนินดินด้านข้าง ระบุข้อความว่า ‘สวนทูนอิน’ 

เดินเพียงอึดใจก็พบประติมากรรมรูปหล่อ ‘ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช’’ อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้บุกเบิกหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ในจังหวะเดียวกันก็สังเกตเห็นหมู่เรือนร่วมสมัยที่ตั้งเรียงรายอยู่ข้างลำธารใสก่อนจะถึงเรือนใหญ่ ยินเสียงตะหลิวและกระทะกระทบกัน สอดแทรกลำนำป่าที่ขับกล่อมมาตั้งแต่ลงรถ

“ป้าติ๋ม สวัสดีครับ” เป็นคำทักทายที่เอ่ยขึ้นหลังหญิงอายุคราวมารดายืนมองด้วยยิ้มกว้าง เหมือนจะคอยคำตอบอยู่ จึงอธิบายว่าเป็นผู้จองคอร์สรับประทานอาหารช่วงบ่ายนี้ เธอจึงกุลีกุจอเดินนำหน้าพาไปนั่งเก้าอี้ใต้ร่มไม้ใหญ่ ก่อนจะเอ่ยว่า “สวัสดีค่ะ เชิญคุณตามสบาย เดี๋ยวสักครู่อาหารที่เตรียมไว้ก็พร้อมรับประทานแล้วค่ะ ยังไงรอสักประเดี๋ยวจะนำออกมาให้นะคะ”

madame-varinchamrap-tune-in-SPACEBAR-Photo01.jpg

ข้าพเจ้านั่งลงแล้วปลดเครื่องหลังอันพะรุงพะรังวางบนพื้นกระดาน ก่อนเดินทอดน่องขึ้นไปบนสันเนินเตี้ยๆ ที่ก่อด้วยบันไดไม้ มีบ่อปลาขนาดสระว่ายน้ำสำหรับเด็กอนุบาลอยู่ข้างๆ จุดหมายคือ ‘ห้องทำงาน’ ของเจ้าของบ้าน

เมื่อเข้าถึงนอกชานจึงหยุดยืนนิ่ง และยกมือไหว้รูปภาพเจ้าของเรือนที่ตั้งอยู่มากมายหลังบานกระจกใส “กราบอาว์ปุ๊ พญาอินทรี วันนี้ขอฝากท้องที่สวนทูนอินสักมื้อ” ผมเอ่ยเสียงแผ่วต่ำด้วยน้ำเสียงเพียงกระซิบ พร้อมแววตาที่พร่ามัวจากน้ำใสๆ ที่ไหลออกมาอย่างไร้สาเหตุ 

ก่อนควักกระเป๋าเสื้อ ขีดไลต์เตอร์ จุดบุหรี่ขึ้นสูบอัดควันลึก แล้วเดินกลับมาที่โต๊ะอาหาร ที่บัดนี้สำรับถูกจัดเรียงไว้เต็มพื้นที่ พร้อมๆ กับเสียงเอ่ยทุ้มของหญิงชราที่เพิ่งพูดคุยกันเมื่อ 5 นาทีก่อน

madame-varinchamrap-tune-in-SPACEBAR-Photo02.jpg

“สมัยหนุ่มๆ คุณ’รงค์ แกก็สูบบุหรี่คาเมลเหมือนกับคุณเนี่ยแหละ เรื่องแบบนี้จริงๆ จะให้ลืมมันก็ลืมได้ไม่ยาก เพราะไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร แต่พอเจอใครหลายคนที่แวะเวียนมาที่นี่ บทสนทนา หรือแม้แต่อากัปกิริยาบางอย่างมันก็ทำให้คิดถึง เหมือนเขายังสถิตอยู่ ณ ที่แห่งนี้เสมอ”

คำกล่าวพร้อมรอยยิ้มของ ‘สุมาลี วงษ์สวรรค์’ หญิงสาวผู้ครอบครองหัวใจของ  ‘รงค์ วงศ์สวรรค์ (ณรงค์ วงษ์สวรรค์) นักเขียน บรรณาธิการ และนักหนังสือพิมพ์ผู้ล่วงลับ เจ้าของรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2538 การันตีจากงานเขียนมากมายหลายร้อยเล่ม ไม่รวมงานความเรียง - สารคดีอีกสารพัดที่กระจายอยู่ตามหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และพ็อกเกตบุ๊กต่างๆ

madame-varinchamrap-tune-in-SPACEBAR-Photo03.jpg

อาหารตำรับ ‘มาดามวารินชำราบ’

สำรับอาหารที่ถูกวางเรียงรายบนโต๊ะ มีเมนูอาหารหลัก (หนัก) อยู่ 4 อย่าง ประกอบไปด้วย ปลาช่อนทอดพร้อมน้ำยำ ตามแบบฉบับอาหารปลาแม่น้ำสูตรภาคกลางดินแดนราบลุ่ม ทานคู่กับน้ำยำเปรี้ยวหวาน ซี่โครงหมูอบกะหล่ำปลี รสชาติเข้มข้น กลมกล่อมด้วยน้ำซอสที่สอดแทรกอยู่ในทุกอณูของซี่โครงหมูหมักด้วยสมุนไพรสามเกลอ ตัดด้วยความหวานจากกะหล่ำปลีที่พอได้เคี้ยวแกล้ม 

หน้าปลาแห้ง - แตงโม แตงโมหวานคัดทึ้งเมล็ดทั้งลูกแบบสุกพอกิน ถูกคว้านออกมาเป็นทรงกลม พอรับประทานได้ในหนึ่งถึงสองคำ โรยหน้าด้วยปลาป่นที่ถูกโชลกพร้อมน้ำตาลทราย ก่อนจะนำไปคั่วไฟให้แห้งกับหอมเจียว เพิ่มความเค็มตัดหวานไม่ให้เลี่ยน แกงส้มเปลือกแตงโม รสชาติกลมกล่อม หนักไปรสหวานเค็มเผ็ดจากพริกแกงที่มีพริกชี้ฟ้าแห้งเป็นส่วนประกอบ ตัวน้ำซุปเข้มข้นจากเนื้อปลาช่อนย่างที่ถูกยีและต้มให้ยุ่ย พร้อมๆ กับเปลือกแตงโมอ่อนหั่นแฉลบให้ความสดชื่น พร้อมีกลิ่นน้ำมะขามเปียกจางๆ หลังกลืนลงลำคอ และ หลนแหนม ตามแบบฉบับหลนภาคกลาง ปรุงจากแหนมเปรี้ยวเชียงใหม่อันเป็นวัตถุดิบพื้นเมือง ตัดรสชาติหวานมัน นัวๆ เข้ากับกะทิได้อย่างไม่น่าเชื่อ

พร้อมกันนี้ยังมี ม้าฮ่อ อาหารตำรับชาววังที่ถูกจัดให้เป็นเมนูออเดิร์ฟ - ทานเล่นระหว่างมื้ออาหาร วัตถุดิบหลักที่ใช้คือส้ม (แทนที่จะเป็นสับปะรด) วางด้านบนด้วยใบผักชีที่ถูกปรุงรสและผัดด้วยน้ำมัน รสชาติผู้ดี๊ (ผู้ดี) ซึ่ง 3 เมนูหลังนี้เป็นจานที่ได้รับรางวัล ร้านอาหาร บิบ กูร์มองด์ มิชลินไกด์ (Michelin Guide) 1 ดาว ด้วย

ภาพประกอบ 4.jpg

‘ป้าติ๋ม’ อธิบายว่า เมนูเหล่านี้เป็นอาหารที่ทำกินกันในครอบครัว ได้รับสูตรมาจากมารดาของสามี (‘รงค์ วงษ์สวรรค์) บางอย่างเป็นอาหารยอดฮิตที่ผู้ล่วงลับมักไหว้วานให้รังสรรค์รับอาคันตุกะจากทั่วสารทิศ เข้าตำรับ ‘กับแกล้มเคียงเหล้า’ บางครั้งรสมือของสุมาลีกลับกลายเป็นเรื่องกล่าวนำแทนที่บทสนทนาทุกเรื่องบนโต๊ะอาหาร

ทำให้นึกถึงเรื่องราวของ ‘มาดามวารินชำราบ’ ที่ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนไว้เป็นตัวหนังสือ จนอดนึกถึงไม่ได้ว่า ‘มาดามท่านนั้น’ คือป้าติ๋ม

ชวนให้คิดถึงงานเขียนของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์  ที่ส่วนตัวชื่นชอบเป็นพิเศษอย่าง ‘แสงแดดเป็นไข้’ ที่บางส่วนบันทึกถึงอาหารจานโปรดของเขาบนหน้ากระดาษ ในบท ‘แกงเปลือกอุลิด’

“ผู้ดีเก่าผู้เอิบอาบบุญวาสนา ท่านกำหนดกับข้าวอย่างน้อย 5 อย่าง

บนโต๊ะดินเนอร์ ต้ม แกง พะแนง หลน ผัดและยำ เครื่องเคียง เครื่องจิ้มและของแนม เป็นหน้าที่ของผู้หญิงก้นครัวเรียงร่ายไขว้เขวให้เป็นที่เอมโอช…

“ความหวานละลายพอมองว่าเป็นผลึกแวววาว ตักลงจานเชิงโรยหอมที่

เจียวไว้นั้นเทอญ ผัดปลาแห้งหรือหน้าปลาแห้ง นี้รับประทานแนมกับเนื้อแตงอุลิต

“ถึงว่า … ถึงอย่างไรก็น่านับถือว่าท่านเฉลียวฉลาดคันคิดแกงส้มเปลือกแตงโม ได้อย่างอร่อยน่ากินเป็นกับข้าวหรือแกล้มเหล้า...แกงนี้กินรสเดียวกันทั้งเสนาและขุนนาง นางกา นางหงส์ นางแย้ม นางใน นายสิบโท นายเวร นายอากร คนแจวเรือจ้าง คนกวาดถนน ชาวสวนกัญชา ช่างซ่อมปืน โต้โผยี่เก คนงานตอกหมุดไม้หมอนวางรางรถไฟ และนายธนาคาร ถ้าไม่เหยียดหยามเปลือกแตงโม ใครและใครวานเมียแกงให้กินได้ทั้งนั้นในยุคที่ผ่านมา…แต่ในยุคนี้น่าสงสัยว่าจะเป็นไปได้ไหม?”

‘ทูนอิน’ รังตายสุดท้ายของ ‘พญาอินทรี’

ในแวดวงน้ำหมึก วิเคราะห์กันว่า ‘สวนทูนอิน’ เป็นคำที่ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ คิดขึ้นโดยตั้งต้นจากภาษาอังกฤษคำว่า ‘Tune In’ อันหมายถึง การร้อยสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ ก่อนจะนำไปเชื่อมโยงสู่โลกสากลอย่างกลมกลืน คำคำนี้เป็นคาถาของเหล่าบุปผาชนที่พูดกันติดปากในแวดวงผู้บูชาสมุนไพรสีเขียวว่า ‘Turn on, tune in, drop out’ ฟังดูเข้าเค้าพอสมควร หากตีความสำเนียงในภาษาไทยอันส่งกลิ่นไอความเป็นเมืองเหนือ ตามแบบฉบับสำนวน ‘เพรียวนม’ (ข้าพเจ้าเชื่ออย่างนั้น)

ที่นี่คือบ้านพักที่บันทึกเรื่องราวระหว่างชีวิตก่อนการถึงแก่อนิจกรรมของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ไว้อย่างครบถ้วน ผืนป่าที่ขึ้นทับแปลงปลูกเมียง และสระน้ำสีมรกต หรือแม้แต่เรือนฝากระดาน ทุกอย่างมีชื่อของรงค์ วงษ์สวรรค์สลักไว้ มันไม่ได้ถูกเขียนเป็นตัวอักษร แต่พวกมันบอกกับข้าพเจ้าอย่างนั้น

madame-varinchamrap-tune-in-SPACEBAR-Photo00.jpg

“ที่นี่เปรียบเสมือนบ้านพักของคุณ ‘รงค์ และครอบครัว แต่ก็หมายถึงพื้นที่สมาคมของพี่น้องวงศ์น้ำหมึก แม้ช่วงบั้นปลายเราจะย้ายมาจากบ้านริมคลอง (ย่านนนทบุรี) นานแล้ว แต่เพื่อนพี่น้องยังคงแวะเวียนอยู่ไม่ขาดสาย ป้าติ๋มมักจะประกอบอาหารให้ทุกท่านที่มาเยือนได้รับประทานเสมอ มาจนถึงวันนี้ คุณ ‘รงค์ เสียไปหลายปีแล้วก็ยังมีแฟนคลับหนังสือหลายรุ่นยังคอยแวะเวียนมาเยี่ยม มันก็เป็นความประทับใจเล็กๆ ที่ได้ทำและได้พูดถึงเรื่องราวของคุณ ’รงค์”

สุมาลี พูดพร้อมๆ กับรอยยิ้มที่แปดเปื้อนบนใบหน้า อธิบายความต่อถึงบุคคลส่วนใหญ่ที่เดินทางมา ณ ที่แห่งนี้ ว่ามีตั้งแต่คนหนุ่มสาววัยกระทง ไปจนถึงแฟนคลับรุ่นลายคราม ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้ติดตามอ่านผลงานของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ทั้งสิ้น รวมไปถึงนักเขียนมีชื่อหลายท่านที่ก่อนหน้านี้แวะเวียนเยี่ยมเยือนอยู่เป็นนิจ

การได้พูดคุยกับผู้เยี่ยมเยือนทำให้ทราบว่า เรื่องแรงบันดาลใจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ใครหลายคนเลือกเดินทางมาที่สวนทูนอิน 

ให้หลังได้รับรางวัลมิชลิน ก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวนอกวงศ์น้ำหมึก เดินทางมารับประทานอาหารเพิ่มขึ้น บางคนไม่รู้จัก ‘พญาอินทรี’ แต่รู้จักเมนูสวนทูนอินผ่านพ็อกเกตบุ๊ก หรือหนังสือแนะนำการท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ไม่ได้จำกัดแวดวงเหมือนเมื่อก่อน

madame-varinchamrap-tune-in-SPACEBAR-Photo05.jpg

“คุณสูบบุหรี่อย่างเดียวแต่ไม่ดื่มใช่ไหม” มาดามวารินชำราบ (ป้าติ๋ม) ถาม

“มีอยู่กลมหนึ่งที่ท้ายรถครับ ซื้อติดมาตั้งแต่ตัวเมือง อยากดื่มใจแทบขาด แต่กลัวติดลม หนทางข้างหน้าต้องเดินทางอีกไกล เกรงจะไม่ได้ไปไหนต่อ (ฮา)” ข้าพเจ้าตอบ

“ดีแล้วถ้าต้องขับรถไกลอย่าดื่มเลยมันอันตราย หลายคนมานี่ก็ถือโอกาสมานั่งดื่มวิสกี้แกล้มอาหาร หากไม่รีบไปไหนก็มีเรือนหลังเล็กให้นอนพัก จริงๆ ป้าทราบดีว่าทุกคนรู้สึกอย่างไรกับการได้มาเยือนสวนทูนอิน แม้แต่ป้าเองก็ยังคิดถึงเขาอยู่ แต่มันก็ทดแทนด้วยการพบปะผู้คนที่ไม่ว่าจะมาในฐานะญาติน้ำหมึกหรือลูกค้า มันก็ทำให้เบิกบานใจ ป้าคิดว่าคุณ ‘รงค์ เขาไม่ได้ไปไหนไกล แต่เขาอยู่ในหนังสือทุกเล่ม ไม่ว่าจะในสวนทูนอิน ห้องสมุด หรือในตู้หนังสือเก่าเก็บของนักอ่านทุกคน เขายังอยู่กับพวกเราเสมอ”

กลิ่นบุหรี่ตัวสุดท้ายของซองหมดไป คาวปากถูกชะล้างด้วยรสหวานมันของ ข้าวเหนียวเปียกลำไย จึงถือโอกาสกล่าวอำลากับ ‘มาดามวารินชำราบ’ พร้อมอ้อมกอดแสนอบอุ่นที่ได้จาก ‘สุมาลี’

madame-varinchamrap-tune-in-SPACEBAR-Photo06.jpg

ข้าพเจ้าไม่ลืมแวะคารวะภาพเขียนรูปคนแก่สวมแว่นหนาเตอะที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางห้องทำงาน อันเป็นต้นสายของงานเขียนนับชิ้นไม่ถ้วน ใช้มือขวาแตะปีกหมวกตามธรรมเนียมของผู้ดีอเมริกันชน ยุคถือกำเนิดกลุ่มฮิปปี้ ก่อนรำพึงถ้อยคำอยู่ในใจว่า “ขออำลา ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ผู้มีอายุหนุ่ม ขอให้คุ้มครองการเดินทางให้สวัสดิภาพจนถึงจุดหมาย ” 

ก่อนที่รถเก๋ง 5 ประตูจะเคลื่อนออกไปอย่างแช่มช้า พร้อมๆ กับแสงตะวันที่ค่อยๆ ลับเหลี่ยมเขาโป่งแยง แสดงเวลาว่าใกล้ค่ำเต็มที… 

หมายเหตุ : คอร์สให้บริการอาหารสวนทูนอิน เป็นลักษณะของบุฟเฟต์ราคาท่านละ 600 บาท (สามารถรับประทานได้ไม่อั้นจนกว่าจะอิ่ม) อาหารหลัก 5 อย่าง ขึ้นอยู่กับฤดูกาลที่สุมาลีจะหาวัตถุดิบได้อย่างสะดวก แต่ทุกเมนูล้วนถอดสูตรจากตำรับ ‘มาดามวารินชำราบ’ และปรุงโดย ‘มาดาม’ ทุกจาน

madame-varinchamrap-tune-in-SPACEBAR-Photo07.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์