มุสลิมสแควร์: สำเพ็งถึงคลองสาน ฐานที่มั่นการค้าอินเดียใต้

28 ม.ค. 2566 - 03:47

  • ชาวมุสลิมเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ ราวรัชกาลที่ 1 และเริ่มเข้ามากันคึกคักในสมัยรัชกาลที่ 4 หลังสยามทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง

  • ย่านมุสลิมสแควร์กินอาณาเขตตั้งแต่ย่านคลองสานฝั่งธนบุรีถึงฝั่งพระนครแถวถนนราชวงศ์ เยาวราช สำเพ็ง ทรงวาด

muslim-square-in-bangkok-SPACEBAR-Thumbnail
หลายคนอาจไม่รู้ว่า นอกจากสยามสแควร์แล้ว กรุงเทพฯ มีย่านที่เรียกว่า "มุสลิมสแควร์" ด้วย 

ย่านแห่งนี้อยู่ที่ใด ไม่ใช่เรื่องลับ หลายคนเคยสัญจรผ่าน และเคยเดินเล่นในพื้นที่ แต่อาจไม่รู้ว่าเป็นมุสลิมสแควร์ 

ก่อนเฉลยพิกัด ขอเล่าย้อนเรื่องเก่าในเชิงประวัติศาสตร์ เรียกน้ำย่อยกันสักหน่อย 

ในอดีตย้อน ถ้านับเฉพาะพื้นที่เขตคลองสาน พบชาวมุสลิมเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานถึง 3 ครั้ง ด้วยเหตุผลทั้งภัยสงครามและการค้าขาย ดังนี้ 
  • ช่วงรัชกาลที่ 1 จากสงครามสยาม-ปัตตานี พ.ศ.2329 มีมุสลิมมาลายูและปัตตานี ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน 
  • ช่วงรัชกาลที่ 3 ในคราวกบฏไทรบุรี พ.ศ.2382 ที่มีเทครัวมาจากหัวเมืองทางใต้ ตั้งแต่มาลายู ปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู ย้ายเข้ามาและมาอยู่ทางฝั่งธนบุรีช่วงคลองสาน 
  • ช่วงรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ หลังทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งใน พ.ศ.2398 ประเทศไทยเปิดประเทศทำการค้ากับต่างชาติ บรรดาพ่อค้ามุสลิมจากอินเดีย อาหรับ ชวา ปัชตุน (อัฟกัน) เบงกาลี รวมถึงชาวจีนเดินทางเข้ามาทำการค้ากันอย่างคึกคัก
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4ETEFo5v2BPUC4aca6eStj/4d1490483e69fe86500759463bdea7ef/muslim-square-in-bangkok-SPACEBAR-Photo01
Photo: มุสลิมสแควร์ในสมัยรัชกาลที่ 4
หนึ่งในกลุ่มพ่อที่เข้ามาทำการค้าขายในประเทศไทยในช่วงเวลานั้น คือ มุสลิมเชื้อสายอินเดียจากเมืองคุชราต ทมิฬ และเมืองสุรัตน์ มุสลิมกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการค้าของอินเดียในประเทศไทย ย่านที่ถูกเรียกว่า ‘ย่านตึกแขก’ ครอบคลุมพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในฝั่งพระนคร คือบริเวณสำเพ็ง ทรงวาด เยาวราช พาหุรัด เป็นที่ตั้งของกิจการโดยพ่อค้ามุสลิมอินเดียใต้และทมิฬ 

ส่วนฝั่งธนบุรี ที่คลองสาน คือมุสลิมจากคุชราต ที่นำเครื่องประดับ เพชร เครื่องหอม เครื่องเทศ ดิ้นเงินดิ้นทองเข้ามา 

ความเติบโตและบทบาททางการค้าในเวลานั้น ว่ากันว่าพ่อค้ามุสลิมต่างเดินทางข้ามไปมาระหว่างฝั่งกรุงเทพฯ-ธนบุรี คือจากถนนราชวงศ์มาคลองสาน เป็นภาพที่เห็นจนชินตา จนเป็นที่มาของการเรียกขานพื้นที่นั้นว่า ‘มุสลิมสแควร์’
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/43aQAmsBXJV8MuQh1vpMW/924fd7310a9eca22a3c406069221a8c3/muslim-square-in-bangkok-SPACEBAR-Photo02
Photo: ตึก Fazal Building อดีตห้างของคนอินเดียใต้ ปัจจุบันเป็นของเซ็นทรัล
จุดที่เป็นพื้นที่สำคัญที่เคยถูกขนานนามว่ามุสลิมสแควร์ ตั้งแต่บริเวณมัสยิดตึกแดง-กูวาติล (นิกายสุหนี่) ถึงมัสยิดตึกขาว-เซฟี (นิกายดาวูดีโบห์รา) เรื่อยไปจนถึงโกดังเซ่งกี่ไปจบที่ท่าดินแดง เป็นพื้นที่การค้าเก่าของกรุงรัตนโกสินทร์ ยืนยันด้วยการเรียงตัวของโรงเกลือ โกดังข้าว โกดังสมุนไพร โรงฟอกหนัง ฯลฯ ที่อยู่ในละแวกนั้น 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/MaCEr2VQgZUtDsfr61IVG/868a603ce1e0103a528260641d704b6f/muslim-square-in-bangkok-SPACEBAR-Photo03
Photo: มัสยิดตึกแดง-กูวาติล (นิกายสุหนี่)
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6PhymtWGCyaf4QkJ7AfQIg/956423ed9707419e224fd506c2bf251a/muslim-square-in-bangkok-SPACEBAR-Photo04
Photo: มัสยิดตึกขาว-เซฟี (นิกายดาวูดีโบห์รา)
พ่อค้ามุสลิมนิกายดาวูดีโบห์ราที่สำคัญและเป็นที่รู้จัก เช่น 

ห้างมัสกาตี: ห้างนี้อยู่บริเวณสำเพ็ง ทำธุรกิจค้าผ้า ผ้าพิมพ์ลาย จากเมืองอะห์มดาบาด เมืองหลวงของรัฐคุชราต ชื่อเต็มคือ ห้างเอ.ที.อี. มัสกาตี (A.T.E. Maskati) ก่อตั้งโดยพ่อค้าชาวอินเดียชื่อ อับดุลตาเยบ มัสกาตี
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2BFmP4u8leZlAhCcldE1QR/1996bbc7f69a278de064b3d278526756/muslim-square-in-bangkok-SPACEBAR-Photo05
Photo: อาคารเก่าห้างมัสกาตี (หลังเดิม) สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ถนนอนุวงศ์ ย่านราชวงศ์-เยาวราช ก่อนจะรื้อลงราว พ.ศ.2512. Riverbooks
ผ้ามัสกาตีขายดีทั่วเอเชียและประเทศไทย เป็นที่รู้จักและมีบทบาทมากในราชสำนักไทย เป็นผ้าที่ใช้สำหรับชนชั้นสูง ขุนนาง ข้าราชการ ไปจึนถึงเครื่องแบบทหารราชองครักษ์ การค้าของพ่อค้าอินเดียใต้โด่งดังในเรื่องผ้า ต่อมาที่ปอกระเจา ครั่ง ไม้ซุง เครื่องเขียน หนังสือ อุปกรณ์ไฟฟ้า ปัจจุบัน กิจการของมัสกาตียังคงดำรงอยู่ในชื่อของ เอ.ที.อี.เอ็มเอส รุ่นที่ 5 ของมัสกาตี 

ห้างไนติงเกล โอลิมปิค: ก่อตั้งโดยคุณนัติ นิยมวานิช ห้างแห่งนี้ได้รับการขนามนามว่าห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในประเทศไทย ที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เช่น อเมริกา เยอรมนี และอื่นๆ โดยมีสโลแกนของห้างว่า 'คลังแห่งเครื่องกีฬา ราชาแห่งเครื่องดนตรี ราชินีแห่งเครื่องสำอาง' เป็นห้างแห่งแรกที่ใช้โทรทัศน์เป็นสื่อโฆษณา 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/77OuOybZJsczleeBKkI4i/5adb1cf9ef85b665f272bf1a8acda444/muslim-square-in-bangkok-SPACEBAR-Photo06
Photo: ห้างไนติงเกล โอลิมปิค ตั้งอยู่แถวแยกพาหุรัด
ความเกี่ยวของกับมุสลิมอินเดียใต้ คือบันทึกที่บอกว่า คุณนัติ นิยมวานิช เดิมชื่อ แนท ฮูเซ็น รายา บาลี คุณนัติสืบเชื้อสายจากดาวูดีโบห์รา ก่อนจะเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาในภายหลัง 

นอกจากความเป็นพ่อค้า มุสลิมดาวูดีโบห์รายังเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นผู้ตรวจเงินแผ่นดิน เป็นอัยการ ทั้งนี้ หลายคนยังมีความรักชาติ และมีบทบาทต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชของอินเดีย เมื่อพบว่าในอดีตคราวที่รพินทรนาถ ฐากุร ปราชญ์ชาวอินเดียมาสยามเพื่อพบกับพ่อค้ากลุ่มดาวูดีโบห์รา ช่วงก่อนที่อินเดียจะได้รับเอกราชจากอังกฤษ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/44g4RTUTjxLwJgu0szoP8n/d702db331fcd8e5c68cf247f643ba881/muslim-square-in-bangkok-SPACEBAR-Photo07
Photo: รพินทรนาถ ฐากุร
หากวันนี้ใครจะไปเยือนดินแดนมุสลิมสแควร์ ทำได้ด้วยการเริ่มต้นเดินชม ‘ตึกแขกเก่า’ ที่ท่าน้ำราชวงศ์ แล้วข้ามฟากมาคลองสานเดินไล่ไปตั้งแต่มัสยิดตึกแดง มัสยิดกูวติลอิสลาม ชมความงามของตึกแดงโดยตระกูลนานา และวงศ์อารยะ แล้วลัดเลาะผ่านตรอกซอกซอยผ่านโกดังเกลือเก่า ไปถึงมัสยิดตึกขาว หรือมัสยิดเซฟี มัสยิดที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวดาวูดีโบห์รา ตึกสีขาวตามแบบสถาปัตยกรรมกอธิค ผสมความเป็นไทย และรูปแบบของศาสนสถานตามแบบอินเดีย และโกดังเซ่งกี่ ที่ยังคงมีกลิ่นอายของสมุนไพร เครื่องยาจีนหลงเหลืออยู่ 

เสน่ห์ของมุสลิมสแควร์อาจจะจางไปตามกาลเวลา แต่สิ่งที่พ่อค้ามุสลิมอินเดียใต้ฝากไว้ยังคงอยู่ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากหายไปเลย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2V8awJXD0kqQEN1bUjsazZ/0657514e350697313c3be329bb4ab786/muslim-square-in-bangkok-SPACEBAR-Photo08
Photo: แขกยามเหล็กดัดบนประตูย่านสำเพ็ง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์