นอนน้อยมันไม่ดี แต่นอนเยอะไปใช่ว่าจะดี ทำไมนะ ตื่นมาทีไม่เฟรชเลย

27 เม.ย. 2566 - 02:57

  • ทุกคนรู้ นอนน้อยมันไม่ดี เมื่อมีเวลามากพอเลยนอนอัดไปเยอะๆ แต่รู้หรือไม่ว่าการนอนเยอะเกินไป มันก็ทำให้เพลียและหมดแรง ทำให้รู้สึกไม่สดชื่นได้เหมือนกันนะ

over-sleep-hypersomnia-SPACEBAR-Tablet
ทุกคนทั่วโลกรู้อยู่แล้วว่า การนอนน้อยจนเกินไป มันไม่ใช่เรื่องดี เพราะช่วงเวลานอนเป็นช่วงที่ร่างกายของคนเราจะพัฒนากระบวนการต่างๆ ที่สำคัญได้อย่างเต็มที่ การนอนหลับไม่เพียงพอสะสมไปเรื่อยๆ อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ได้ 

ซึ่งโรคที่จะมากับภาวะนอนน้อย (แต่นอนนะ) ก็มีเยอะมาก เช่น โรคหัวใจ เพราะจะทำให้มีความดันโลหิตสูงมากกว่าปกติ, โรคเบาหวาน เพราะว่าจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดและระดับอินซูลินในเลือดที่สูงขึ้น, โรคอ้วน เพราะจะต่อระดับน้ำตาลในเลือดและระดับอินซูลินในเลือดที่สูงขึ้น และโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง ที่จะมีอาการหลับๆ ตื่นๆ ตลอดทั้งคืน ส่งผลให้ความสามารถในการเรียนรู้ในวันต่อมาลดลง 

และหลายๆ คน ที่เลี่ยงการนอนน้อยไม่ได้ จะใช้วิธีการนอนชดเชยในช่วงวันหยุด ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ผิดมหันต์ เพราะการนอนมากเกินไป ก็ไม่ใช่ผลดีกับร่างกาย ก่อให้เกิด

โรคนอนเกิน (Hypersomnia) แล้วโรคนอนเกินคืออะไร เรามาทำความรู้จักกัน  
โรคนอนเกิน  เป็นโรคที่หลับเกินพอดี ขี้เซา นอนเท่าไรก็ไม่พอ ง่วงนอนตลอดเวลา งีบหลับระหว่างวันหลายครั้ง หรือพูดคุยกับคนอื่นก็ยังหลับได้ มีการนอนที่นานเกิน 8 ชั่วโมง แต่ส่วนหนึ่งของโรคนี้ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรม นิสัยเกียจคร้าน หรือบุคลิกภาพส่วนตัว แต่อาจจะเกิดจากโรคทางกาย หรือทางใจด้วย สำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหานี้ต้องรีบพบแพทย์ให้ไว 

ต้นเหตุของโรคนี้ เกิดได้จากหลายๆ กรณีไม่ว่าจะเป็นการอดนอนเป็นเวลานาน ทำให้นอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ นาฬิกาชีวภาพในร่างกายแปรปรวน ปรับเวลาผิด อาจเกิดจากอาการเจ็ทแลคได้ ฮอร์โมนในร่างกายหรือสารเคมีในสมองไม่ปกติ ภาวะนอนกรนก็มีส่วน เนื่องจากจะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และโรคอื่นๆ ที่ทำให้อยากนอนตลอดเวลา 

ผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากการนอนเกิน ประกอบด้วย 
  • สมองทำงานได้ช้าลง ความคิดความอ่านช้าลง รู้สึกเฉื่อยชา ไร้เรี่ยวแรง และไม่มีชีวิตชีวา  
  • อ้วนง่ายขึ้น เพราะในระหว่างการนอน ระบบเผาผลาญจะไม่ทำงาน ทำให้ร่างกายสะสมไขมัน ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ 
  • มีบุตรยาก เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงและรอบเดือนจะทำงานได้เป็นปกติก็ต่อเมื่อได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ 
  • ออกซิเจนไม่ไปเลี้ยงร่างกาย เนื่องจากการนอนนานๆ จะไม่ค่อยได้มีการขยับร่างกาย ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่นอนอย่างพอดีถึง 1.3%  
  • เสี่ยงโรคซึมเศร้า เนื่องจากกรนอนมากกว่า 9 ชั่วโมงจะทำให้มีอารมณ์แปรปรวนมากขึ้น เพราะสมองทำงานแย่ลงเพราะสารแห่งความสุขจะผลิตน้อยลง เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนที่นอนปกติถึง 49%
วิธีจัดการกับอาการนอนเกินได้ดีที่สุด คงจะเป็นการกำหนดเวลานอนใหม่ จำกัดเวลานอนให้ครบ 7-9 ชั่วโมง และควรจะนอนให้ครบ 7-9 ชั่วโมงติดต่อกัน 28 วัน ร่างกายจะสร้างระบบนาฬิกาชีวิตของตัวเราเองขึ้นมาใหม่ จะตื่นได้เองอย่างสดชื่นโดยไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุก  

การจัดห้องนอนให้โปร่ง ระบายอากาศได้ดี เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนได้เพียงพอ และการออกกำลังกายจะช่วงให้หลับง่ายมากขึ้น ในเรื่องของการกิน อาหารจังค์ฟู้ดเป็นสิ่งที่ควรเลี่ยง รวมทั้งน้ำอัดลม เพราะอาหารเล่านี้จะทำให้น้ำตาลในเลือดไม่ปกติ และจะทำให้ง่วง เนือย ง่ายมากขึ้นตอนที่ระดับน้ำตาลตก 

การพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญ นอนน้อยไปมันไม่ใช่เรื่องดี แต่ถ้านอนมากเกินไปก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับร่างกายเช่นกัน การปรับพฤติกรรมการนอนจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้ดีจากการทำงานหนัก เพื่อสุขภาพที่ดีและยั่งยืน 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์