คำขอที่ไม่เคยได้ ของผู้ป่วยวิกฤตระยะสุดท้าย

16 พ.ย. 2565 - 10:26

  • “ให้เราหลับเลยเถอะหมอ อย่ายื้อเราเลย” นี่คือคำขอของผู้ป่วยวิกฤตระยะสุดท้าย ที่อ้อนวอนขอคุณหมอเจ้าของอาการ แต่หมอก็ทำให้ไม่ได้ เพราะญาติขอให้ยื้อชีวิตไว้เช่นกัน

  • Palliative Care เป็นแนวทางขับเคลื่อนงานการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นกับทุกช่วงเวลาของชีวิต แม้ในช่วงเจ็บป่วย จนกระทั่งจากไปอย่างมีความสุข

palliative-care-talk-by-cheevamitr-SPACEBAR-Main
แน่นอนว่า ทุกๆ คน อยากให้คนที่เรารักอยู่กับเราไปนานๆ เวลาที่เราดูละครหรือภาพยนตร์มักจะมีคำพูดของตัวละครที่พูดกับแพทย์เจ้าของอาการว่า “คุณหมอ ทำให้สุดความสามารถ ทำอย่างไรก็ได้ให้เขามีชีวิตอยู่ต่อ” คุณหมอเมื่อได้รับคำขอของญาติผู้ป่วย แน่นอนตามหลักจรรยาบรรณของแพทย์ คุณหมอจะทำทุกวิถีทางให้ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตต่อ ถึงแม้ว่าจะกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลยก็ตาม เมื่อร่างกายของเขาไม่ไหวแล้ว แล้วเรายิ่งไปยื้อเขา นั่นก็ยิ่งสร้างความทรมานอย่างหนักหน่วงให้กับผู้ป่วยวิกฤตระยะท้าย   

 

ล่าสุด กก. ได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังเสวนานโยบายเกี่ยวกับการอยู่ดี ตายดี ซึ่งจัดโดย ‘ชีวามิตร’ องค์กรภาคประชาสังคมที่มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตระยะท้ายและการตายดี ให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงและยั่งยืนในสังคมไทย โดยบริหารงานในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม มี พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล ญาณี รัชต์บริรักษ์ และศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ได้เป็นผู้ร่วมเสวนา ในหัวข้อ “ปักหมุด Palliative Care ใน กทม.” 

 

ในงานเสวนาได้พูดถึงการจัดทำ Palliative Care หรือ แนวทางขับเคลื่อนงานการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นกับทุกช่วงเวลาของชีวิต แม้ในช่วงเจ็บป่วย จนกระทั่งจากไปอย่างมีความสุข ซึ่งมีแผนที่จะเริ่มต้นในกรุงเทพมหานครเป็นที่จุดแรก เพื่อรับฟังคำขอของผู้ป่วยวิกฤตในระยะสุดท้าย ที่ไม่ประสงค์ให้ยื้อชีวิต และขอจากไปแบบมีความสุขไร้ความทรมาน รวมถึงการทำ Living Will หรือพินัยกรรมชีวิตก่อนจะไม่สามารถตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองได้แล้ว 

 

ภายในงานเสวนา รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่นำเสนอว่า การขับเคลื่อน Palliative Care ต้องสร้างองค์ความรู้ในหลักสูตรแพทย์ และร่วมมือกันทุกภาคส่วน จึงจะทำให้การดูแลแบบประคับประคองที่ลงไปถึงระดับผู้ป่วยที่บ้านหรือชุมชนเกิดขึ้นได้จริงใน กทม.  

 

ขณะที่ รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล หัวหน้าศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งประเทศไทย ผู้ขับเคลื่อนงานการดูแลแบบประคับประคองในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี ร่วมตอกย้ำว่า Palliative Care ใน กทม. จะสำเร็จ หากเกิดแนวร่วมของโรงพยาบาลทั้งในสังกัด กทม. กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนโรงเรียนแพทย์ ทำงานเชื่อมโยงกันในรูปแบบเครือข่ายที่เข้าถึงประชาชน 

 

ส่วน ญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. ให้แนวคิดว่า คนไทยควรมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการดูแลแบบประคับประคองอย่างทั่วถึง เพื่อเลือกการดูแลในระยะท้ายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี  

 

ปิดท้ายด้วยแนวคิดจาก ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ว่า Palliative Care รวมถึงองค์ความรู้ในสิทธิตามกฎหมาย หรือการทำ Living Will จะช่วยลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างแพทย์ ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย ในการดูแลรักษาระยะท้ายได้ 

 

ซึ่งหลังจากที่ได้ฟังเสวนาแล้ว สำหรับ กก. เองสิ่งนี้ถือว่าเป็นการสร้างความสุขที่สุดในชีวิตครั้งสุดท้ายให้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถจะกลับมาเดินเหินแบบคนแข็งแรงดั่งเดิมได้แล้ว กลับกันถ้าหากเป็นตัวเราเอง ที่ต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถสื่อสารอะไรได้แล้ว ทำได้เพียงนอนลืมตามองซ้ายขวาไปวันๆ ต้องให้ลูกหลานลาออกจากงานหรือต้องเสียเงินเยอะๆ เพื่อจ้างพยาบาลพิเศษมาดูแลไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดลม มันเป็นอะไรที่ทรมานมากๆ ทรมานทั้งคนป่วย และทรมานทั้งคนดูแล การมี Palliative Care และการทำ Living Will เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะวาระสุดท้ายของชีวิตไม่มีใครอยากจากไปอย่างทรมาน 
 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์