เรื่องเล่า…ตำนาน ‘พระปรางค์วัดอรุณฯ’

13 สิงหาคม 2566 - 08:06

Past-Story-Pa-Prang-Wat-Arun-SPACEBAR-Thumbnail
  • เรื่องเล่าในตำนานของ ‘พระปรางวัดอรุณฯ’ หนึ่งในแหล่งที่นักท่องเที่ยวปักหมุดว่าต้องมาชมสักครั้งในชีวิต

พระปรางวัดอรุณฯ แลนด์มาร์ก ที่นักท่องเที่ยวมาเมืองไทยต้องไปยลคู่กับพระบรมมหาราชวัง เพื่อนชาวจีนเคยบอกว่า แฟนเขาบังคับใส่ไว้ในตารางเที่ยวเมืองไทย ต้องได้ใส่ชุดไทยไปวัดอรุณฯ ถ่ายรูปกับพระปรางค์  
 
กว่าจะมาเป็นพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่งดงามแบบวันนี้ มีหลายเรื่องที่คนไม่ค่อยรู้ เริ่มจาก  
 
พระปรางค์วัดอรุณฯ มีมาตั้งนานแล้ว โดยวัดอรุณฯสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดมะกอก เมื่อพระเจ้าตากสินกอบกู้เอกราช ได้กราบนมัสการพระที่วัดอรุณฯ ตอนนั้นวัดมีพระปรางค์อยู่แล้ว สูง 8 วา หรือ 16 เมตร พระปรางค์องค์ปัจจุบัน สูง 81.85 เมตร  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/NCvJ1ab5R4pQ5eKxhsffp/6e891909970ee930e1b92309e084173f/Past-Story-Pa-Prang-Wat-Arun-SPACEBAR-Photo_V01
พระปรางค์วัดอรุณฯ สร้างอย่างคติไตรภูมิ องค์พระปรางค์เปรียบดังกำแพงของจักรวาล สูงขึ้นไป เรือนธาตุของพระปรางค์ หมายถึง ยอดเขาพระสุเมรุ ที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในไตรภูมิ  
 
ส่วนยอดของพระปรางค์ประดับด้วยนภศูล อาวุธของพระอินทร์ ลานกว้างขององค์ปรางค์ เปรียบดังท้องทะเลสีทันดร มีองค์ปรางค์เป็นเช่นเขาพระสุเมรุ ล้อมปรางค์ประธาน มีปรางค์ 4 ทิศ แทน 4 ทวีป 
 
ฐานรากขององค์พระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นฐานรากแผ่ที่รองรับไว้ด้วยไม้ ลักษณะเหมือนเสาเข็ม เป็นโครงสร้างที่เหมาะกับชั้นดินของกรุงเทพมหานครและธนบุรี ที่มีชั้นดินอ่อนตามแบบชั้นดินของที่ราบลุ่มแม่น้ำ 

การบูรณะให้พระปรางค์งดงาม ตั้งตระหง่านอย่างที่เห็นทุกวันนี้ เกิดขึ้นในรัชกาลที่สอง มีการวางศิลาฤกษ์ไว้ แต่พระปรางค์มาเสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลที่สาม 

ยอดพระปรางค์เป็นพระมหามกุฎ ปกติพระปรางค์จะมีส่วนยอดคือ ตรีนภศูล ส่วนใหญ่จะอัญเชิญฉัตรครอบตรีนภศูล แต่ของวัดอรุณฯ เป็น มหามกุฎ ที่อัญเชิญมาเป็นของพระประธานทรงเครื่องที่วัดนางนอง รัชกาลที่สามโปรดในความงดงามของมหามกุฎ จึงให้เขิญมาไว้เหนือตรีนภศูลพระปรางค์วัดอรุณฯ แล้วโปรดฯสร้างถวายองค์ใหม่  
 
การถวายมหามงกุฎกับพระปรางค์วัดอรุณฯ ครั้งนั้น ถูกมองว่าเป็นการแสดงสัญญะที่จะถวายคืนพระราชบัลลังก์ ให้พระวชิรญาโณภิกขุ หรือพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทวราช แต่ภายหลังครูบาอาจารย์ทางประวัติศาสตร์อธิบายว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น  
 
สุดท้ายอะไร อยู่ในพระปรางค์ เรื่องนี้สุดจะคาด แต่สิ่งที่น่าจะเป็นคือ คุณค่าความงดงามของสถาปัตยกรรมไทย แนวคิดแบบขอม ตกแต่งอย่างวิจิตรด้วยความงดงามของศิลปะไทย พระปรางค์วัดอรุณฯ ไม่ได้ถูกสร้างเป็นแลนด์มาร์กเสียทีเดียว แต่เป็นการสร้างบูชาพระพุทธเจ้า พระศาสนา และสร้างถวายตามความตั้งพระทัยของรัชกาลที่สองโดยพระราชโอรสของท่าน ถ้าจะมีความตั้งใจให้เป็นแลนด์มาร์ก คือ การได้รับรู้ของเรือจากต่างประเทศที่มาบางกอกว่าเมื่อเห็นองค์พระปรางค์งามสง่าตั้งอยู่ถัดจากป้อมวิชัยประสิทธิ์ ก็เป็นอันรู้ว่าท่านมาถึงเมืองบางกอก และประเทศสยามแล้ว
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2FmYbq8R0KvICwKR1rL6m2/07d4ce8a2c65889d3504bdda06f310e4/Past-Story-Pa-Prang-Wat-Arun-SPACEBAR-Photo01

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์