PIAGET เผยโฉม ALTIPLANO ULTIMATE CONCEPT TOURBILLON จารึกประวัติศาสตร์บทใหม่

18 เมษายน 2567 - 04:34

piaget-altiplano-ultimate-concept-tourbillon-SPACEBAR-Hero.jpg
  • PIAGET จารึกประวัติศาสตร์บทใหม่ของอุตสาหกรรมนาฬิกา ณ งาน Watches and Wonders 2024 เผยโฉม ALTIPLANO ULTIMATE CONCEPT TOURBILLON

เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสสำคัญในปี 2024 เมซงเพียเจต์ได้นำเสนอผลงานสร้างสรรค์ชิ้นเด่น ที่เตรียมยกให้เป็นจารึกบทใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมนาฬิกา 150 ปี นับตั้งแต่งเมซงก่อตั้งขึ้น 67 ปี นับตั้งแต่เปิดตัวกลไกตัวแรกที่สร้างความฮือฮาด้วยความเพรียวบางเป็นพิเศษอย่าง กลไก 9P ในปี 1957 และ 6 ปี หลังจากสร้างสถิติใหม่ด้วยการเปิดตัวเรือนเวลาระบบกลไกที่บางที่สุดในโลก ในชื่อ Altiplano Ultimate Concept จนเป็นที่พูดถึงอย่างมากในปี 2018 

ปีนี้เมซงเผชิญความท้าทายเพื่อเอาชนะทุกขีดจำกัดอีกครั้ง ด้วยผลลัพธ์แห่งความสำเร็จที่ตราตรึงด้วยรายละเอียดอันสง่างามและความคิดสร้างสรรค์ในมุมมองใหม่ที่แม้ดูเผินๆ นาฬิกาที่ไม่มีใครเทียบได้นี้ นำเสนอความบาง ที่ 2 มม. เทียบเท่าเรือนเวลารุ่นก่อน แต่ความลับที่ซุกซ่อนในความบางเฉียบที่จำกัด กลับถูกเติมเต็มด้วยความสลับซับซ้อนของ ฟลายอิ้ง ตูร์บิญอง และนี่คือ Altiplano Ultimate Concept Tourbillon เรือนเวลาที่สะท้อนรากเหง้าแห่งศาสตร์และเทคนิคอันเชี่ยวชาญ ขณะเดียวกันก็เป็นอีกหนึ่งไมล์สโตนที่ทรงคุณค่าและภาคภูมิใจของเมซง

piaget-altiplano-ultimate-concept-tourbillon-SPACEBAR-Photo01.jpg

Altiplano Ultimate Concept Tourbillon คือ ความขบถและขัดแย้งในตัวเอง อีกทั้งเป็นเรือนเวลาที่ขึ้นชื่อว่าทลายขีดจำกัดในวงการการผลิตนาฬิกาอย่างแท้จริง จุดเริ่มต้นของหน้าประวัติศาสตร์ครั้งใหม่กำลังจะเริ่มขึ้นนับจากนี้ 

มาในตัวเรือนขนาด 41.5 มม. พร้อมความสามารถกันน้ำได้ลึก 20 เมตร รังสรรค์ด้วยวัสดุที่ถูกพัฒนาให้แข็งและทนทานมากกว่าทองคำถึง 2.3 เท่า อย่าง โคบอลต์ผสมอัลลอยด์ ส่งผลให้ตัวเรือนไม่โค้งงอแม้จะมีความบางอย่างสุดขั้วก็ตาม เคลือบด้วยพีวีดีสีน้ำเงิน 

แม้เมซงตั้งใจออกแบบมาให้สวมใส่ได้ทุกวัน แต่องค์ประกอบที่ยกระดับให้นาฬิกาเวอร์ชั่นใหม่นี้ดูไม่ธรรมดาคือ การบรรจุฟลายอิ้ง ตูร์บิญอง เข้าไปในตัวเรือนที่มีความหนาเพียง 2 มม. โดยจัดวางในโครงสร้างวงกลมที่โอบล้อมไว้ด้วยบริดจ์อีกหนึ่งชั้น กล่าวได้ว่าเป็นการปฏิวัติทางเทคนิคที่ก้าวล้ำจากในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง เสริมความซิกเนเจอร์ด้วยการสลักข้อความลงบนฝาหลัง หล่อหลอมจิตวิญญานที่ขับเคลื่อนเพียเจต์มาตั้งแต่แรกเริ่มอย่าง “Always do better than necessary” ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของเมซง ที่รังสรรค์ชิ้นงานบนพื้นฐานของผู้คน การช่างคิดช่างประดิษฐ์ การร่วมมือกันของแผนกต่างๆ จิตวิญญาณอันหาญกล้านี้คือกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความท้าทายของความเพรียวบางจนแทบไม่น่าเชื่อ ที่รอให้ทุกคนมาพิสูจน์พร้อมกัน

piaget-altiplano-ultimate-concept-tourbillon-SPACEBAR-Photo02.jpg

THE ATELIERS DE L’EXTRAORDINAIRE 

อย่างที่เกริ่นไว้ว่า Altiplano Ultimate Concept Tourbillon มีความหนาเพียง 2 มม. ไม่มีแม้แต่ 1 ไมครอนที่เพิ่มเข้ามา แต่เมซงต้องเผชิญกับความท้าทายในการสำรองพลังงานถึง 25 % สำหรับการทำงานของตูร์บิญอง 

จำนวนเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงชุดตัวเลขเท่านั้น อีกนัยนึงมันคือการประกาศความสำเร็จของเมซง ซึ่งแน่นอนว่าเบื้องหลังเหล่านั้นมีเรื่องราวมากมายซ่อนอยู่: การแข่งขันกับเวลา ที่ทุกขั้นตอนดำเนินการอย่างเป็นความลับภายในโรงงานของเพียเจต์ ณ La Côte-aux-Fées ใช้เวลากว่า 3 ปีในทำงานร่วมกันอย่างหนักของเหล่าทีมนักพัฒนา วิศวกร ช่างนาฬิกา นักออกแบบ เพื่อตั้งประเด็น หาข้อโต้แย้งนับไม่ถ้วน 

ฟังก์ชั่นอันซับซ้อนของตูร์บิญอง ถูกหยิบมาใช้ในเรือนเวลาคลาสสิกอย่างแพร่หลาย สำหรับเพียเจต์เองในครั้งนี้เป็นการยกระดับมุมมองที่ใหม่ขึ้นทั้งในแง่ชั้นเชิงเทคนิคและสุนทรียศาสตร์ที่ยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมของเมซงไว้ ไม่ว่าจะเป็น ความชำนาญและความเป็นเลิศที่บ่มเพาะมาอย่างยาวนาน ถูกนำมาใช้เพื่อส่งมอบความเที่ยงตรงและแม่นยำขั้นสูง ขณะเดียวกันความสง่างามของนาฬิกาก็ยังต้องคงอยู่ 

ตรงกันข้ามกับรูปลักษณ์ภายนอก องค์ประกอบของชิ้นส่วนต่างๆ กว่า 90 % ถูกออกแบบใหม่ทั้งหมด รวมถึงพัฒนากลไก เพื่อให้รับกับฟังก์ชั่นตูร์บิญองที่เพิ่มเข้ามา 

Benjamin Comar ผู้เป็น CEO ของเพียเจต์ กล่าวว่า “ภายใน Altiplano Ultimate Concept Tourbillon ทุกอย่างใหม่หมด ชิ้นส่วนต่างๆ ถูกปรับแต่ง ออกแบบ จากประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญนานร่วมหลายปี - สำหรับเรามันไม่ใช่แค่การเพิ่มตูร์บิญองเข้ามาเท่านั้น แต่มันคือการคิดค้นใหม่ทุกอย่าง”

piaget-altiplano-ultimate-concept-tourbillon-SPACEBAR-Photo03.jpg

LIFE FORCE 

ย้อนกลับไปปี 2018 Altiplano Ultimate Concept (AUC) คือ หลักฐานที่ตอกย้ำถึงความพยายามที่ทุกแผนกในเมซงแห่งนี้ต่อสู้ร่วมกันมานานกว่า 6 ปี พ่วงด้วยความสำเร็จขั้นสุดด้วยการคว้ารางวัลใหญ่ “Aiguille d'Or” Grand Prix จากรายการ GPHG 2020 ทุกขั้นตอนจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยความท้าทายที่ยากจะคาดเดา เพื่อส่งมอบผลลัพธ์ที่เพรียวบางสุดขั้วที่ทุกคนตั้งตาคอย 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนาฬิกา AUC เรือนแรกถูกส่งมอบได้สำเร็จ เหล่าช่างผู้เชี่ยวชาญในเมซงต่างเริ่มคาดการณ์ถึงทิศทางของเรือนเวลาที่จะรังสรรค์รุ่นต่อไปว่าจะเป็นเช่นไร พวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อยกระดับความท้าทายไปอีกขั้น 

ซึ่งเบื้องหลังการออกแบบเรือนเวลารุ่นล่าสุดอย่าง Altiplano Ultimate Concept Tourbillon นี้ ก็สรรสร้างขึ้นจาก แรงบันดาลที่เปี่ยมล้นไม่แพ้ตอนเปิดตัวกลไก 9P และ 12P ไปจนถึงนาฬิการุ่นก่อนหน้า อย่าง Altiplano Ultimate (900P or 910P) และ Altiplano Ultimate Concept - แนวคิดใหม่ๆ ถูกระดมต่อเนื่อง ก่อนนำไปต่อยอดเพื่อใช้งานจริง ดังนั้นหากถามว่าการบรรลุเป้าหมายแต่ละครั้งต้องผ่าฟันอะไรมาบ้าง คำตอบคือไม่มีอะไรที่ได้มาโดยง่าย 

ทั้งหมดนี้ต้องขอบคุณความมุ่งมั่นตั้งแต่แรกเริ่มกับแนวคิดอันแสนขบถของแบรนด์ที่ลงมือทำจนสำเร็จ อย่าง คาลิเบอร์ 900P ที่ให้ฝาหลังทำหน้าที่เป็นฐานรองรับกลไกไปในตัว เพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับการจัดวางชิ้นส่วนต่างๆ พร้อมสร้างสถิติความเพรียวบางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในเวลาเดียวกัน ขณะที่โครงสร้างภายนอกทำจากโคบอลต์ผสมอัลลอยด์ เคลือบสีน้ำเงิน ที่ส่งมอบทั้งความทนทานและความบางสุดขั้ว - เม็ดมะยมระบบใหม่ที่หลอมรวมเป็นระนาบเดียวกับตัวเรือน ทำงานร่วมกับอุปกรณ์พิเศษที่มีระบบทดเกียร์และควบคุมแรงบิด เติมเต็มประสิทธิภาพสูงสุดให้กับกระบอกสูบ

piaget-altiplano-ultimate-concept-tourbillon-SPACEBAR-Photo04.jpg

REVOLUTION 

องค์ประกอบต่างๆ ยังคงรักษาการจัดวางไว้ในตำแหน่งเดิม ไม่ว่าจะเป็น หน้าปัดที่แสดงหลักชั่วโมงและนาทีเป็นดีไซน์แบบเยื้องศูนย์กลาง, ฟังก์ชั่นตูร์บิญอง ณ ตำแหน่ง 10 นาฬิกา มาพร้อมตัวแสดงวินาทีที่สลักไว้บนวงแหวนของตัวเอง ที่สำคัญที่สุดคือการรักษาความเพรียวบางที่ 2 มม. ดังนั้นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ทุกชิ้นจะต้องออกแบบด้วยความแม่นยำและเที่ยงตรง 

อย่างในเวอร์ชั่นล่าสุดนี้ ความท้าทายหลักอยู่ที่จะจัดวางตูร์บิญองที่เพิ่มเข้ามาได้อย่างไร ในคอนดิชั่นพื้นที่จำกัดเท่าเดิม ซึ่งเต็มไปด้วยชิ้นส่วนต่างๆ มากมาย จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว เหล่าผู้เชี่ยวชาญทั้งใน La Côte-aux-Fées และ เจนีวา จึงเริ่มค้นหาคำตอบร่วมกัน แต่ละคนต่างใช้พรสวรรค์ทั้งหมดที่ตนมีในการหาข้อโต้แย้ง ไปจนถึงทำการทดสอบนับครั้งไม่ถ้วน เพื่อพัฒนาทุกองค์ประกอบให้สมบูรณ์แบบที่สุด และนี่เป็นวิถีที่เพียเจต์ดำเนินเสมอมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน - ซึ่งกว่าจะหล่อหลอมออกมาเป็นโครงสร้างในขั้นตอนสุดท้ายได้ เมซงถอดรหัสชิ้นส่วนทีละชิ้น อาทิ cage ที่เป็นพาร์ทสำคัญของตูร์บิญอง ถูกนำมาทดสอบมากกว่า 70 เวอร์ชั่น, anchor 15 เวอร์ชั่น และ กรอบตัวเรือน อีก 30 เวอร์ชั่น 

เพียเจต์เดินเกมต่อยอดโดยอาศัยความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมบางเฉียบที่ตนพัฒนาขึ้น ด้วยการผสมผสานฟังก์ชั่น ต่าง ๆ เข้าไปในตัวเรือน ดังที่เคยปรากฎในเรือนเวลารุ่นก่อนมาแล้ว อย่าง คาลิเบอร์ 670P ที่เปิดตัวด้วยความหนาเพียง 

4.6 มม. และบรรจุในตัวเรือนที่มีความหนา 7.35 มม. มาพร้อมฟลายอิ้ง ตูร์บิญอง ที่บางเป็นพิเศษเพื่อให้รับกับพื้นที่จำกัดที่สูงเพียง 1.49 มม. เท่านั้น โดยมีบริดจ์ที่ฐานด้านล่างรองรับไว้ ขณะที่บริดจ์ที่อยู่ทางด้านบนถูกลดทอนไปเพื่อให้รับกับความบางในภาพรวม - อย่างไรก็ตามแม้จะได้พื้นที่เพิ่มมาเพียง 0.01 มม. ก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าสำหรับความ ท้าทายในครั้งนี้ นี่คือเหตุผลว่าเพียเจต์ต้องก้าวออกจากกรอบเพื่อนำเสนอตูร์บิญองใหม่ให้แตกต่างไปจากเดิม 

ไม่นาน ไอเดียใหม่ๆ ก็ถูกเปิดรับ โดยครั้งนี้ตูร์บิญองถูกออกแบบให้ยึดไว้กับวงแหวนของตัวมันเอง โดยมี ceramic ball bearing ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนรอบการหมุนใน 1 นาที ยึดขอบด้านนอกไว้อีกที วัสดุที่ใช้มักทำจากไทเทเนียม และสตีล - ต่อไปก็ถึงขั้นตอนสำรองพลัง เพื่อการทำงานของตูร์บิญอง

piaget-altiplano-ultimate-concept-tourbillon-SPACEBAR-Photo05.jpg

VIRTUOSITY 

Altiplano Ultimate Concept Tourbillon มาพร้อมกระปุกลานแบบสเกเลตัน ที่ถอดแบบมาจากสัญลักษณ์กากบาท หรือ cross-hair design บนพื้นหน้าปัดของนาฬิกา Altiplano ยุคก่อน ในแง่พลังงาน ตูร์บิญองเวอร์ชั่นใหม่นี้ ใช้พลังงานในการขับเคลื่อนกลไกจะสูงกว่า Altiplano Ultimate Concept ถึง 25% 

นอกจากนี้ ยังสามารถสะสมพลังงานสำรองได้นานถึง 40 ชั่วโมง ผลลัพธ์ที่ไม่ธรรมดานี้เกิดจากโซลูชันที่แตกต่างกันสองแบบ - แบบแรกคือการใช้เมนสปริงที่ทำขึ้นใหม่โดยเฉพาะ ความหนาที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยส่งผลต่อการส่งมอบพลังงานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อีกวิธี คือการใช้ ball bearing แทนเดือยในนาฬิกา เพื่อให้เกิดการหมุนได้อย่างเป็นอิสระ แรงเสียดทานลดลง ช่วยความบางในภาพรวมสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น 

ในแง่การดีไซน์ Altiplano Ultimate Concept Tourbillon คริสตัลแซฟไฟร์ยังถูกลดทอนความหนาออกให้เหมาะสมอีกด้วย โดยฝั่งกระจกหน้าปัด เหลือเพียง 0.2 มม. ขณะที่ด้านหลังหนา 0.16 มม. เท่านั้น 

และด้วยความหนาของตัวเรือนเพียง 2 มม. จริงอยู่ที่ผู้สวมใส่อาจแทบจะไม่มีใครสังเกตเห็นดีเทลเหล่านี้ แต่สำหรับช่างซ่อมนาฬิกาแล้วมันกลับมีความสำคัญต่อพวกเขาอย่างมากและเป็นความท้าทายที่แท้จริง อย่าง วงขอบบาลานซ์วีล และคริสตัลแซฟไฟร์ มีความหนา 0.2 มม. เท่ากัน ชิ้นส่วนเล็ก ๆ แต่ละชิ้นต้องอาศัยความเที่ยงตรงอย่างมากในการผลิต 

ยิ่งไปกว่านั้นแต่ละชิ้นยังถูกตกแต่งอย่างพิถีพิถัน เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งดีเทลที่แบรนด์มิได้ละเลย อาทิ จักร หรือ wheels ปัจจุบันเหลือเพียง 4 แขนเท่านั้น ต่างจากยุคก่อนที่มีถึง 6 อีกทั้งยังตกแต่งด้วยเพชร ขัดเงาและลบมุมด้วยมือ ซึ่งทีมช่างศิลป์ของแบรนด์ต้องทำด้วยความประณีตอย่างมาก เพราะขนาดที่ผิดเพียงน้อยนิดหรือรูปทรงที่เพี้ยนไป ก็อาจนำมาซึ่งความเสียหายอันใหญ่หลวงได้ 

แม้ความสำเร็จของ Altiplano Ultimate Concept Tourbillon ถูกรวบรวมไว้ในเอกสารเหล่านี้แล้ว แต่ความสำเร็จที่แท้จริงยังคงตราตรึงเหมือนตอน Altiplano Ultimate Concept สามารถส่งมอบเรือนเวลาสู่ผู้ใช้งานจริงได้ 

การได้สวมนาฬิกาที่มาพร้อมกับตูร์บิญอง ที่มีความหนาเพียง 2 มม. หรือเทียบเท่าความหนาของเหรียญ เป็นเรื่องที่เหลือเชื่ออย่างมาก นอกจากสัมผัสจะเบาแล้ว เมื่อมองจากด้านข้าง ก็แทบจะกลมกลืนไปกับข้อมือ ขณะที่ด้านหลังก็เผยให้เห็นการทำงานของกลไก ด้านหน้าเผยให้เห็นมิติของหน้าปัด ที่ไล่ระดับความลึกของชิ้นส่วนแต่ละชิ้นได้อย่างคาดไม่ถึง โดดเด่นด้วยการจับคู่สีน้ำเงินทอง ซึ่งเป็นสีที่สะท้อนถึงเพียเจต์อย่างเด่นชัด ส่งมอบความสง่างามในทุกมุมมอง Altiplano Ultimate Concept Tourbillon พร้อมแล้วที่จะเป็นไอเท็มชิ้นโปรดสำหรับสวมใส่ในชีวิตประจำวัน พร้อมแล้วที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับผู้พบเห็น ทั้งยังเป็นชิ้นงานที่ย้ำเตือนถึงประวัติศาสตร์อันยาวนาน การร่วมมือกันของหลายฝ่าย คำถามหลังจากนี้คือ ความท้าทายของเรือนเวลารุ่นต่อไปจะเป็นเช่นไร

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์