ศัลยกรรมแล้วไง? เมื่อการเสริมสวยมีเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่าแค่การ empower

16 พ.ย. 2565 - 10:26

  • การศัลยกรรมเป็นหนึ่งในเครื่องมือ empower ขณะเดียวกันมันก็สะท้อนสังคมที่หากินบนความไม่มั่นใจ ไปจนถึงข้อถกเถียงถึงสตรีนิยมและสังคมชายเป็นใหญ่

plastic-surgery-and-empowering-SPACEBAR-Main
 
ทุกวันนี้ไม่ต้องบอกก็คงเห็นกันว่าการศัลยกรรมหรือเสริมสวยด้วยมือหมอกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว อาจจะเห็นได้จากโฆษณาที่ดูขายดีอย่างกับปัจจัย 4 หรือแม้กระทั่งคนใกล้ตัวที่เพิ่งไปทำมา... 

 

ความจริงที่ต้องยอมรับคือโลกนี้มีพริวิเลจและข้อเสียเปรียบบางอย่างที่ขึ้นอยู่กับรูปร่างหน้าตา และมันยากเหลือเกินที่จะหลีกหนีความจริงนี้ในสังคมที่เราต้องอยู่ร่วมกัน พอมีการเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพและความมั่นใจในเรือนร่าง (body positivity) ก็ไม่วายมีบรรทัดฐานใหม่ให้ถกเถียงกัน ไม่ว่าจะเป็นนางแบบพลัสไซส์ที่หน้าตาน่ารักอย่างกับตุ๊กตา หรือคนไว้ขนรักแร้ที่ถ่ายแบบแล้วดูเท่สุดๆ ซึ่งก็เป็นพริวิเลจบางอย่างที่ไม่ใช่ทุกคนที่โอบรับ ‘ความธรรมชาติ’ ของเรือนร่างจะได้รับ 

 

แน่นอนว่า ‘การศัลยกรรม’ ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลอีกอย่างที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้ หลายครั้งมันช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวล และทำให้รู้สึกมั่นใจในตัวเอง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน ทั้งนี้ทั้งนั้นการศัลยกรรมก็นำไปสู่ปัญหาได้เช่นกัน 
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5v4Sug6BkMJX62anJcji2H/cdedfbdbd8a17932f32f97b9a492973d/plastic-surgery-and-empowering-SPACEBAR-Photo01
ศัลยกรรม = empower? 

สมัยก่อนการศัลยกรรมอาจยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าไร แต่ตอนนี้การศัลยกรรมถือเป็นการ empower อย่างหนึ่งที่ทำให้เจ้าของเรือนร่างรู้สึกมีอำนาจและความมั่นใจ เกี่ยวโยงไปถึงแนวคิดสตรีนิยม (feminism) ที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมในทุกเพศ ขณะเดียวกันก็มีคนที่มองว่าการศัลยกรรมเป็นเรื่องไม่จำเป็น และทำให้คนหมกมุ่นกับรูปร่างหน้าตา 

 

Dr. Simon Ourian แพทย์ประจำของดาราดังอย่างตระกูลคาร์เดเชียน (Kardashian) เคยให้สัมภาษณ์ว่าทุกวันนี้วัยรุ่น (อายุ 18-19 ปี) ที่เข้ามาทำศัลยกรรมเพิ่มขึ้นจาก 1% เป็น 10% ของลูกค้าทั้งหมด (ข้อมูลปี 2017) และหลายคนมักเอารูปของดารามาแล้วบอกว่า “อยากทำหน้าแบบนี้” หรือไม่ก็เอารูปของตัวเองที่ผ่านแอปพลิเคชันแต่งรูปจนพอใจมาให้เป็นตัวอย่าง  

 

มีคนมากมายที่ศัลยกรรมแล้วชีวิตดีขึ้น มีความสุขกับตัวเอง แต่เมื่อเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์เอื้อให้การศัลยกรรมง่ายขึ้น คนก็อยากดูดีขึ้นไปเรื่อยๆ จนบางครั้งถึงขั้นส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ และเกิดคำถามว่าการเสริมสวยมอบอำนาจให้แก่เรา หรือกำลังสั่นคลอนเรากันแน่ 
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5IRtAfsShsFQLYZqb21pS7/a61a652b8b40b26fd5d98932f7ea88d8/plastic-surgery-and-empowering-SPACEBAR-Photo02
หรือการศัลยกรรมจะเป็นเครื่องมือของทุนนิยมและสังคมชายเป็นใหญ่? 

หลายคนที่ต่อต้านการศัลยกรรมมีความเห็นว่าความจริงมันไม่ใช่การ empower หากแต่เป็นหลุมพรางที่ธุรกิจสื่อและธุรกิจเสริมความงามมากมายกำลังหากินอยู่บนความไม่มั่นใจของคน และเป็นผลมาจาก การจ้องมองของเพศชาย (Male Gaze) ที่กำหนดคุณค่าว่ารูปร่างหน้าตาแบบไหนถึงเรียกว่าดี (ซึ่งการศัลยกรรมก็ริเริ่มโดยเพศชายนี่แหละ) ทั้งหมดทั้งมวลนำมาสู่ข้อสรุปว่าการศัลยกรรมเป็นสิ่งที่แสดงถึงสังคมชายเป็นใหญ่ 

 

แต่ยุคนี้แล้วก็มีคนออกมาโต้แย้งว่า “ชั้นไม่ได้ศัลย์ฯ​ ให้พวกคุณ (ผู้ชาย) ดูค่า” และหากยึดตามแก่นสตรีนิยม สุดท้ายทุกคนก็ควรมีสิทธิเสรีภาพในเรือนร่างของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่แค่การโนบรา ไว้ขนรักแร้ หรือการแต่งกาย แต่รวมไปถึงการศัลยกรรมด้วยเช่นกัน และในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเงิน การแสวงหาความมั่นใจไม่ว่าจะในแง่ไหนก็มีราคาที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว 
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6DOjALQF1BQbACbbuad47F/56b415619462ba522b9467a95e6ea2eb/plastic-surgery-and-empowering-SPACEBAR-Photo03
‘การอยากดูดีขึ้น’ เป็นสิ่งที่อยู่คู่มนุษย์มาอย่างยาวนาน 

สิ่งที่โดนกล่าวโทษมากที่สุดสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ‘โซเชียลมีเดีย’ พื้นที่ที่ผู้คนต่างแสดงด้านสวยงามของตัวเองจนทำให้หลายคนรู้สึกไม่ดีพอ ไม่สวยพอ แต่จะบอกว่าโซเชียลมีเดียเป็นต้นตอของทุกอย่างก็คงไม่ใช่ เพราะความจริงมนุษย์เราต้องการ ‘ดูดีกว่าเดิม’ มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ย้อนไปได้ถึงยุคโบราณที่เริ่มมีเครื่องประดับ หรือบรรทัดฐานความงามในชนเผ่าที่ต่างกันไป 

 

อย่างไรก็ตามโซเชียลมีเดียก็ทำให้เราอยากดูดีขึ้นง่ายกว่าเดิม และยังเป็นโลกมายาที่เต็มไปด้วยภาพสวยหรูจนคนเปรียบเทียบและด้อยค่าตัวเองโดยไม่รู้ตัว ระยะหลังเริ่มมีคนตระหนักถึงเรื่องนี้และออกมาเคลื่อนไหวด้วยวิธีต่างๆ เช่น ‘posed vs relaxed’ บนอินสตาแกรมที่คนถ่ายรูปแบบโพสต์ให้ดูดี และถ่ายแบบปล่อยร่างกายตามปกติ เพื่อเทียบให้เห็นว่าภาพในโลกออนไลน์กับความจริงต่างกัน 

 

แต่แม้ว่าจะโอบรับความจริงกันแค่ไหน สุดท้ายการศัลยกรรมก็เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถส่งเสริมความมั่นใจในเรือนร่างและทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้จริง ทว่าหากมันยิ่งทำให้เราไม่พอใจในร่างกายตัวเอง เราอาจจะต้องตั้งคำถามว่าการศัลยกรรมเป็นมิตรกับเราจริงหรือเปล่า 

 

เหนือสิ่งอื่นใดเราควรหาความต้องการของตัวเอง ทำความเข้าใจความเป็นไปของสังคม และไม่ลืมที่จะเคารพการตัดสินใจของคนอื่น เพราะการด้อยค่าหรือดูถูกคนทำศัลยกรรมก็เป็นการ body shame รูปแบบหนึ่งเช่นกัน... 

 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์