เมื่อ PM2.5 กลายเป็นภัยเงียบที่ปกคลุมกรุงเทพฯ รัฐบาลได้เปิดให้ประชาชนใช้บริการโดยสารรถไฟฟ้าฟรีทุกสายรวมถึงนั่งรถเมล์ ขสมก. ฟรี ตั้งแต่วันที่ 25 ถึง 31 มกราคม 2568 พร้อมคำโปรยหวังแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ แต่คำถามที่ตามมาคือมาตรการนี้ช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือ เพราะฟังดูเหมือนจะเป็นการ “ดับไฟที่ปลายเหตุ” มากกว่าการแก้ปัญหาอย่างจริงจังเพื่อปลอบใจคนเมืองที่ยังต้องสูดฝุ่นเข้าไปทุกลมหายใจ?
ประเด็นนี้กลายเป็นที่ฮือฮาในโลกโซเชียล แน่นอนว่าการได้เดินทางฟรีช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของใครหลายๆ คน แต่มันก็เป็นแค่การช่วยเหลือชั่วคราวที่ไม่ตอบโจทย์ระยะยาว ลองจินตนาการถึงเช้าวันทำงานที่ผู้คนเบียดเสียดอยู่ในขบวนรถไฟฟ้าที่แน่นยิ่งกว่ากระป๋องปลาซาร์ดีน แม้ว่ารถไฟฟ้าจะฟรีแต่ปริมาณคนที่ใช้งานกลับเพิ่มขึ้นจนทำให้ระบบขนส่งมวลชนต้องแบกรับภาระหนักหน่วงกว่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้นมาตรการนี้เป็นการนำภาษีของประชาชนมาใช้อย่างสิ้นเปลือง ทำให้เกิดคำถามว่า “รถไฟฟ้าฟรี ควรฟรีแค่คนไทยหรือเปล่า ทำไมต่างชาติได้ขึ้นฟรี เงินภาษีที่มาจ่ายก็ของคนไทย” รวมไปถึงเด็กและผู้สูงวัยที่แห่พากันออกจากบ้านมาขึ้นรถไฟฟรีส่งผลให้ประชากรหนาแน่นขึ้นและการขนส่งเกิดความล่าช้ากว่าเดิม

ที่น่าคิดคือรถไฟฟ้าฟรีอาจช่วยลดการใช้รถยนต์บางส่วนได้ก็จริง แต่สิ่งที่หลายคนมองข้ามไปคือ ต้นตอของ PM2.5 ส่วนใหญ่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมและการเผาในที่โล่ง แม้ผู้คนจะทิ้งรถยนต์ส่วนตัวแล้วหันมาใช้รถไฟฟ้าแต่สาเหตุของปัญหาหลักกลับไม่ได้ถูกพูดถึง รัฐบาลควรหันมาใส่ใจกับโครงสร้างระบบขนส่งและราคาที่ประชาชนต้องแบกรับน่าจะดีกว่าหรือไม่?
เพราะท้ายที่สุดแล้วรถไฟฟ้าฟรีอาจเป็นเพียง “ยาพาราฯ” ที่ช่วยบรรเทาอาการของปัญหา PM2.5 ในระยะสั้น แต่หากไม่ยอมแก้ไขที่ต้อตอของปัญหา ประชาชนก็ยังต้องหายใจสูดฝุ่นเข้าไปทุกวัน แล้วคนรุ่นใหม่จะมีคุณภาพชีวิตแบบไหนในเมืองที่เต็มไปด้วยมลภาวะจากฝุ่น
เรื่อง: อารียา ธีรการุณวงศ์
