การสื่อสารที่ทรงพลังเกิดได้ แค่เพียง ‘สบตา’ เพราะแววตาโกหกไม่ได้

3 กันยายน 2566 - 10:06

power-of-eyes-contact-SPACEBAR-Thumbnail
  • เพียงแค่มีการสบตาในระหว่างการสนทนา ก็สามารถทำให้ผู้ฟังได้รับรู้ถึงสิ่งที่ผู้พูดจะสื่อได้ไม่ยาก เพราะทุกความรู้สึกได้ไหลออกมาตามสายตาที่สบกันแล้ว

บ่อยครั้งที่เรามีความรู้สึกว่า เราถูกใครสักคนจ้องมองด้วยแววตาที่มากไปด้วยความหมาย บางคนมองเพราะชื่นชม บางคนมองเพราะสงสัยอะไรบางสิ่งในตัวเรา บางคนมองเพียงเพราะเหม่อมองเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะถูกมองแบบไหน ก็ทำให้เราอึดอัดและไม่เป็นตัวเอง  

ความรู้สึกแบบนั้นเป็นความรู้สึกที่หลายคนไม่ชอบใจ แววตาที่ถูกส่งมามันไม่สามารถโกหกได้ ความคิดของคนมองนั้นไหลออกมาตามสายตาของคนนั้นๆ แต่ในทางกลับกัน การสบตาก็เป็นเหมือนการสื่อสาร การที่เราอยู่ในพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่านจนไม่สามารถพูดคุยเพื่อสื่อสารได้ การสบตากันเพื่อสื่อสารให้เข้าใจตรงกันก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ 

เราถูกตั้งโปรแกรมให้ตอบสนองต่อดวงตา 

ในแต่ละบทบาทของสังคม การแสดงออกด้วยสายตาไม่ได้ทำได้เพียงมนุษย์เท่านั้น ในบรรดาสัตว์ต่างๆ ก็สื่อสารทางสายตาเช่นกัน เช่น การบอกรักของแมว คือการกระพริบตาลงช้าๆ ให้เราได้รับรู้ถึงความรักและความสบายใจของเขา หรือการป้องกันตัวของสัตว์จำพวกแมลง ผีเสื้อ หนอน ที่มีจุดคล้ายดวงตารอบตัว เพียงเพื่อหลอกล่อและข่มขู่ผู้ล่า 

เช่นเดียวกัน ทารกแรกเกิดไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่เราบอกเขาได้ แต่เขาจะเข้าใจเราจากการสื่อสารผ่านทางสายตา การสบตาของแม่และเบบี๋เป็นหนึ่งในขั้นตอนการสานสัมพันธ์ที่ดี รวมถึงการแต่งหน้าให้ดวงตาดูโดดเด่น ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดึงดูดความสนใจมาที่ดวงตาได้ 

การใช้สายตามองเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่สำคัญในการควบคุมระดับความสนิทสนม โดยปกติเราจะพิจารณาคู่สนทนาของเขามากขึ้นเมื่อเราอยู่ในจุดของผู้ฟัง เรายังใช้วิธีการส่งสายตาเมื่อเราต้องการจะพูดด้วย แต่การโดนสบสายตาโดยตรงมากหรือนานเกินไปจะทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ 

จากการศึกษาหนึ่งที่ให้คนแปลกหน้าจ้องมองผู้คน ได้เผยให้เห็นว่าผู้ที่อยู่ภายใต้การจ้องมองของผู้อื่นนั้นจะมีอาการเดินเร็วขึ้น กระสับกระส่ายมากขึ้น และแม้กระทั่งขับรถผ่านทางแยกได้เร็วกว่าเดิมเมื่อรู้ว่ามีคนกำลังมองมาที่พวกเขา และมีหลักฐานว่าการสบตาอาจเป็นปัจจัยในการกระตุ้นให้สุนัขไล่โจมตีได้ อย่างที่ผู้ใหญ่หลายๆ คนเคยสอนไว้ว่า อย่าไปสบตากับสุนัขไม่งั้นมันจะไล่กวด 

การสบตามีอิทธิพลต่ออารมณ์ของเราอย่างไร? 

ถ้าหากลองเปรียบเทียบแบบง่ายๆ เลย คือถ้าหากมีเพลงที่เราชอบมากๆ เราเร่งเสียงดังให้ดังขึ้นเพื่ออรรถรสในการรับฟัง แต่ถ้าหากเพื่อนเรามาเปิดเพลงที่เราไม่ชอบดังๆ เราก็จะรู้สึกไม่พอใจ 

เช่นเดียวกันเมื่อเราต้องไปฟังบรีฟงานจากอาจารย์หรือหัวหน้างาน ถ้าเราถูกสบตาในขณะที่กำลังถูกชมเชย อารมณ์ของเราในตอนนั้นก็จะพุ่งขึ้นสูงสู่กราฟสีเขียวที่เป็นดั่งความสุข แต่ถ้าหากเราถูกสบตาในขณะที่เรากำลังถูกว่ากล่าวหรือตำหนิ อารมณ์ของเราก็จะดิ่งลงกราฟสีแดงที่เป็นดั่งความเศร้า หรือความเสียใจ ความโมโหได้ทันที 

ดั่งที่มีคำกล่าวที่ว่า ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ แววตาไม่สามารถโกหกความในใจและความรู้สึกของผู้พูดได้ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์