หยุดส่งต่อวัฒนธรรมแตะนิดสัมผัสหน่อย เมื่อการคุกคามมาในรูปแบบ ‘เรื่องปกติ’

27 เม.ย. 2566 - 08:34

  • “ฉันเคยโดนคุกคาม” ว่าด้วยเรื่องวัฒนธรรมการแตะเนื้อต้องตัว ที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยไม่ว่าจะแห่งหนใด

sexual-harassment-in-thai-society-SPACEBAR-Thumbnail
เป็นดั่งภัยไร้เสียงที่อยู่คู่สังคมไทยเสมอมา กับกรณีการคุกคามทางเพศ ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าการคุกคามทางเพศไม่จำเป็นต้องหมายถึงเรื่องเพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว การพูดจาล่วงเกิน การถูกจ้องมองส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือการแตะเนื้อต้องตัวโดยไม่จำเป็น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ แต่ที่น่าแปลกใจคือพฤติกรรมเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในแทบทุกพื้นที่ไปโดยปริยาย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศและทุกวัย โดยส่งผลกระทบได้ทั้งทางร่างกายรวมถึงจิตใจของผู้ที่โดนกระทำ  
  
สสส. ได้เผยว่าพบหญิงไทยถูกละเมิดทางเพศและกระทำความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ มากกว่า 7 คน/วัน และมีผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์จากเหตุดังกล่าวประมาณปีละ 30,000 คน/ปี สถิติสูงติดอันดับโลก โดยส่วนมากผู้ถูกกระทำจะเป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งเราก็ต้องมาย้อนถามตัวเองว่าสังคมแบบใด ที่ทำให้พฤติกรรมการคุกคามทางเพศกลายเป็นเรื่องปกติ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวันเช่นนี้  
 
การล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) คือ การกระทำที่มีเจตนาไม่ดีต่อเพศตรงข้าม หรือเพศเดียวกันเพื่อหวังผลประโยชน์ในการร่วมรัก โดยไม่ได้รับการยินยอมจากอีกฝ่าย ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจอยู่ในรูปแบบของหลายประการ ดังนี้ 
  • การแสดงออกทางวาจา (Verbal Conduct) เช่น พูดจาล่วงเกิน พูดเกี่ยวกับเรื่องเพศ เล่าเรื่องตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศ พูดถึงสัดส่วนของร่างกาย หรือพูดเล่นคำที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เป็นต้น 
  • กิริยาท่าทาง หรือการแทะโลมทางสายตา (Visual Conduct) เช่น การจ้องมองส่วนต่างๆ ของร่างกาย เป็นต้น 
  • การสัมผัสทางร่างกาย (Physical Conduct) เช่น พยายามใกล้ชิดโดยไม่จำเป็น แตะเนื้อต้องตัว โอบกอด โอบไหล่ เป็นต้น 
  • การส่งข้อความในเชิงอนาจาร (Written Conduct) เช่น เขียนจดหมาย หรือพิมพ์ข้อความในเชิงส่อไปทางเพศ รวมไปถึงการส่งรูปภาพร่างกาย หรืออวัยวะเพศให้แก่ผู้อื่น เป็นต้น 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4aEXrnAaXBcrimChX9hUk7/ef9222ac9384f1f46f758e33e5f719b1/sexual-harassment-in-thai-society-SPACEBAR-Photo01
และหากเราดูสถิติคดีความผิดทางเพศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติช่วงปี 2560 – 2563 ได้มีผู้เสียหายมากกว่า 8,000 คน แต่จากข้อมูลจาก UNODC พบว่าเกือบ 90% ของคดีถูกล่วงละเมิดทางเพศในไทยไม่ได้ถูกรายงาน แสดงให้เห็นว่ายังมีกรณีการคุกคามทางเพศอีกมากมายยังถูกซุกซ่อนไว้ใต้พรมที่ชื่อว่า ‘อำนาจ’ 
 
“เป็นเรื่องปกติ อย่าคิดมาก” หนึ่งในอุปสรรคที่ยังทำให้การคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศยังคงเกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทย คือการที่สังคมปลูกฝังให้พฤติกรรมเยี่ยงนี้เป็นเรื่องปกติ และกลายเป็นประเด็นที่อ่อนไหว ซึ่งผู้ที่โดนกระทำมักตั้งกรอบขึ้นมาในการที่จะพูดออกไป และถึงแม้จะพูดออกไปก็อาจจะโดน ‘การตั้งคำถาม’ กลับมา  
 
ท้ายที่สุดแล้ว ‘การแตะเนื้อต้องตัวหรือการคุกคามทางคำพูด’ กลายเป็นวัฒนธรรมปกติที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนานไม่ว่าจะแห่งหนไหน แม้แต่สถานที่ที่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยอย่างโรงเรียน ที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งที่บ้าน โดยสวมคำว่า ‘การหยอกเย้า’ เข้าไปให้ดูเป็นเรื่องปกติ รวมถึงตัวบทกฎหมายคลุมเครือทำให้ปัญหาการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศที่ใหญ่เท่าภูเขาถูกบดบังด้วยเส้นผมอย่างง่ายดาย 
 
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องก้าวข้ามปัญหาของวงจรนี้ไปให้ได้ โดยอาจเริ่มต้นจากการย้อนกลับไปปลูกฝังเรื่อง ‘การเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน’ สร้างค่านิยมของสังคมยุคใหม่ให้พึงยอมรับร่วมกันว่า ‘สิทธิในเนื้อตัวและร่างกายของผู้อื่นเป็นสิ่งที่เราจะละเมิดไม่ได้ เช่นเดียวกับสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเองที่ต้องหวงแหนและมิให้คนอื่นมาล่วงละเมิดได้’ เริ่มปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนใหม่โดยการมองว่าพฤติกรรมการคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องปกติที่ควรเกิดขึ้นในสังคมอีกต่อไปแล้ว 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์