ในอดีตใช้กระดาษเป็นสิ่งจดบันทึก เขียนภาพ วาดแผนที่ ห่อของ ฯลฯ
คนไทยเอาอย่างการใช้กระดาษมาจากจีน ต่อมากระดาษถูกเอามาผลิตเป็นถุงใส่ของอย่างจริงจังหลัง พ.ศ.2500 โดยเปลี่ยนจากกระดาษห่อมาเป็น ถุงกระดาษ
ถุงกระดาษยุคแรกพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์จากญี่ปุ่น พิมพ์ชื่อห้างร้านที่ขายสินค้า คำมงคล ทั้งจีน ไทย ฝรั่ง
ถุงกระดาษที่โด่งดังที่สุดเมื่อ 50 ปีก่อน คือ ถุงโชคดี มีทั้งแบบพิมพ์ตัวหนังสือ โชคดี เฉยๆ กับพิมพ์ โชคดี มากับ ตารางหมากฮอส หรือ ตาหมากรุก อีกด้านพิมพ์รูปนางสาวไทยบ้าง หรือดารายอดนิยม

ถุงกระดาษยุคแรกขายกันถึงใบละ 19 สตางค์ ก่อนจะอัพราคาเป็น 50 สตางค์ 1 บาท 2 บาทตามลำดับ
สุดท้ายถุงกระดาษกลายเป็นของแถมฟรี เวลาไปช้อปแล้วได้ถุงโชคดีแน่นอนคือที่ตลาดนัดสนามหลวง และย่านช้อปปิ้งสุดชิคสมัยก่อน เช่น บางลำพู พาหุรัด เยาวราช
เวลาผ่านไป ถุงกระดาษ กลายเป็นจำเลย เพราะเป็นต้นเหตุการตัดไม้ทำลายป่า ถุงพลาสติก จึงถูกเอามาแทนที่ เนื่องจากถุงกระดาษที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง สิ้นเปลืองทรัพยากร
ปี 1959 วิศวกรชาวสวีเดน ให้กำเนิดถุงพลาสติก ด้วยวัสดุโพลิเอทิลีน
ถุงพลาสติกเริ่มฮิตตั้งแต่ ปี 1979 และกินส่วนแบ่งตลาดถุง 80% ในยุโรป ก่อนแพร่หลายในสหรัฐและประเทศอื่นทั่วโลก
ปี 1988 ถุงช็อปปิ้งและใส่ของชำในสหรัฐอเมริกา 40% ทำจากพลาสติก ลูกค้าเริ่มมีมุมมองที่ดีต่อถุงพลาสติกมากขึ้น ร้านค้าปลีกก็ประหยัดต้นทุน แถมถุงพลาสติกยังมีจุดขายอยู่ที่หูหิ้วที่ถุงกระดาษยังไม่มี
ยุคนั้นพลาสติกกลายเป็นวัสดุยอดฮิต ไม่ใช่แค่การทำถุง แต่ถูกนำไปผลิตเป็นสิ่งของต่างๆ มากมาย
ในนิยายยอดนิยมยุค 70s-80s อย่าง พล นิกร กิมหงวน มีหลายตอนที่พลาสติกเข้าไปปรากฏในเนื้อเรื่อง สะท้อนว่าพลาสติกเป็นสิ่งที่เข้าถึงทุกวงการ

เช่นตอน พ่อแสนงอน ที่พล นิกร กิมหงวน และดร.ดิเรกถูกฟ้องหย่า ป. อินทรปาลิต ผู้เขียนบรรยายการแต่งตัวของตัวละครมาขึ้นศาลว่า
“ทุกคนหันควับไปมองทางประตูหน้าห้องพิจารณาคดี หญิงสาวร่างสูงโปร่งคนหนึ่ง แต่งกายด้วยเสื้อผ้าอเมริกันทั้งชุด คือเสื้อคอปกและสแล๊ก ถือกระเป๋าปลาสติก ทาปากแดงแจ๊ด เขียนคิ้วและทาแก้ม ท่าทางบอกให้รู้ว่าก๋ากั่นขนาดหนัก เดินลงส้นฉับๆ ตรงมาที่หน้าบัลลังก์ สายตาจ้องจับใบหน้าท่านผู้พิพากษา...”
พลาสติกก็ทำกระเป๋ากันมาตั้งแต่นั้น ใครมีกระเป๋าพลาสติกถือว่าล้ำนำสมัย
หรือตอน สามเกลอไปอเมริกา เหตุการณ์ประมาณ พ.ศ.2490
ป. อินทรปาลิต เขียนถึงบทสนทนาระหว่างตัวละครแม่ลูกที่ส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ แล้วฝากลูกดูของใช้ที่ทำจากพลาสติก
“แม่คิดถึงและเป็นห่วงแกมาก ที่นั่นมีหมากหน้าดี ๆ ละก้อ ส่งมาให้แม่นะลูกนะ แล้วอยากได้ของปลาสติกใช้บ้าง”
“กระโปรงปลาสติกเอาไหมครับ คุณแม่”
ตอนนี้ สะท้อนว่าสินค้าพลาสติกนิยมผลิตในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่นเป็นของใช้ที่แสดงความทันสมัยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
หรือตอน วันตรุษจีน บรรยายถึงสมนึกลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของกิมหงวนและนวลลออ แต่งกายในวันตรุษจีน
“สมนึกแต่งกายหรูหราตามธรรมดาของลูกคนมีสตางค์ กางเกงขาสั้นสักหลาดอ่อนสีเทา เชิ้ตแพรสีขาว มีสายโยงปลาสติก…”

สะท้อนว่าพลาสติกเป็นสินค้าแฟชั่นของคนมีเงิน ทุกเพศ ทุกวัย
และตอน สามล้อบรรดาศักด์ ราวพ.ศ.2495 สามล้อถีบในกรุงเทพฯ ยังรุ่งเรืองบรรยายว่า
“คุณหญิงวาดซื้อจักรยานสามล้อไว้ประมาณ 10 คันให้เขาเช่าแบบเสือนอนกิน รถสามล้อของคุณหญิงแต่ละคันใหม่เอี่ยม เบาะผ้าพลาสติก”
ในช่วงเวลานั้นพลาสติกเป็นวัสดุที่เข้าถึงได้ในทุกอุตสาหกรรม และเคยได้รับการยอมรับว่าเป็นวัสดุชั้นดีของรถสาธารณะ
แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน ทุกสิ่งก็เปลี่ยนไป เวลานี้พลาสติกกลายเป็นยิ่งกว่าวัสดุทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะการผลิตที่ล้นเกิน เป็นขยะล้นเมือง ทำลายแหล่งน้ำ ทะเล สัตว์น้ำ และระบบนิเวศ

ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติเมื่อ พ.ศ.2554 ระบุว่า ทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติก 1 ล้านชิ้นทุก 1 นาที
ลองคิดดูว่า วันๆ หนึ่งจะมีขยะพลาสติกมหาศาลขนาดไหน!?
พอรู้ว่าพลาสติกที่เคยเป็นคุณกลายเป็นภัย มนุษย์จึงผนึกกำลังร่วมกันลดการใช้ถุงพลาสติก (รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก) หันมาใช้วัสดุทดแทน เช่น ถุงผ้าที่ว่ากันว่ารักษ์โลกกว่า เพราะใช้ซ้ำไปซ้ำมาได้

แต่ก็ไม่รู้ว่าวันหนึ่งข้างหน้าถุงผ้าที่ว่าจะเป็นวายร้ายอีกไหม เพราะดูเหมือนมนุษย์จะเคยชินกับการใช้อย่างฟุ่มเฟือย ถุงผ้าที่ควรมีไม่กี่ใบ กลายเป็นล้นบ้าน และบริษัทห้างร้านต่างผลิตกันราวกับ 'ของขาด' ตลอดเวลา
ไม่เชื่อ ลองสำรวจดูสิว่า คุณมีถุงผ้า (และถุงอื่นๆ ที่รักษ์โลก) ในบ้านกันกี่ใบ?