อยู่มาทุกรุ่น! รู้จัก 6 คุณทวดต้นไม้ รุกขมรดกเก่าแก่ แต่เก๋าและจัดจ้านในกรุงเทพฯ

22 มิ.ย. 2567 - 01:00

  • “ต้นไม้ใหญ่” คือสิ่งยืนยันรากเหง้าและความเก่าแก่ของชุมชน

  • รู้จัก 6 รุกขมรดกในชุมชมต่างๆ ของกรุงเทพฯ เป็นตำนานที่ยืนต้นมานานนับร้อยๆ ปี

six_legendary_heritage_tree_SPACEBAR_Hero_17abf8bec9.jpg

“ต้นไม้ใหญ่” อยู่ในชุมชนไหน คือสิ่งยืนยันความเก่าแก่ของชุมชนนั้น รวมถึงสะท้อนวิถีชีวิตที่เคารพธรรมชาติของคนสมัยเก่า ซึ่งเป็นรากเหง้าของความยั่งยืนที่แท้จริง

จะเห็นได้ว่ามีต้นไม้ใหญ่หลายต้นตั้งอยู่ในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เราเรียกต้นไม้เหล่านั้นว่า รุกขมรดก ซึ่งเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุยืน ถูกยกย่อง และได้รับการอนุรักษ์เป็นมรดกของชุมชน

กรุงเทพฯ มีรุกขมรดกที่เป็นตำนานอยู่เหมือนกัน หลายต้นมีอายุอยู่คู่เมืองมานับร้อยๆ ปี เป็นคุณทวดของชาวกรุงมาแล้วหลายรุ่น

SPACEBAR VIBE จะพาไปทักทายรุกขมรดก 6 แห่งที่เป็นสมบัติของเมืองกรุงที่ยืนต้นให้ความร่มรื่นและร่มเย็นมาเนิ่นนาน

1. มะขามคู่ยักษ์

six_legendary_heritage_tree_SPACEBAR_Photo01_882245af01.jpg

ต้นมะขามคู่ตรงทางเข้าโบสถ์วัดอรุณราชวราราม หรือ “วัดแจ้ง” ปกติตรงนั้นเราจะโฟกัสที่ยักษ์คู่หน้าทางเข้า ทว่าต้นไม้ก็ไม่ธรรมดา เพราะต้นมะขามสองต้นนี้เคยปรากฏในหนังสือ Travels in Siam, Cambodia, and Laos, 1858 – 1860 ของนักสำรวจ อองรี มูโอต์

มูโอต์ ลงภาพถ่ายเก่าตรงนั้น ระบุว่าถ่ายเมื่อ พ.ศ.2410 แสดงว่าต้นมะขามฝั่งยักษ์ทศกัณฐ์ (กายสีเขียว) มีมาก่อน พ.ศ.2401 แล้ว

สำหรับต้นมะขามฝั่งยักษ์สหัสเดชะ (กายสีขาว) อาจจะปลูกทีหลัง แต่ยังไปปรากฏในภาพโปสการ์ดสมัยรัชกาลที่ 7

ทุกวันนี้ต้นมะขามคู่ยังอยู่เคียงคู่ยักษ์วัดแจ้งอยู่ที่เดิม

2. ตะเคียนทองเรือรบ

six_legendary_heritage_tree_SPACEBAR_Photo02_959bae9927.jpg

ตะเคียนทองขนาดใหญ่อยู่ในชุดต้นไม้ริมคลองคูเมืองเดิม 5 ต้น ใกล้กับบริเวณหน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดเส้นรอบวงโดยเฉลี่ยต้นละ 4.50 เมตร ขนาดความสูงเฉลี่ย 20 เมตร อายุกว่า 200 ปี

ต้นไม้ใหญ่ที่เรียงรายสร้างความตื่นใจแก่ผู้สัญจรไปมาว่าใจกลางกรุงเทพมหานครยังมีต้นไม้โบราณขนาดใหญ่เช่นนี้ได้อย่างไร

จากประวัติความเป็นมา ตามบันทึกระบุว่า ปลูกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จุดหมายเดิมของการปลูกคือ จะนำทำเรือรบสำหรับใช้ในราชการสงคราม

ลองหลับตานึกย้อนดูว่าเคย มีต้นไม้ปลูกเรียงรายสองฝั่งถนน ปัจจุบันเหลือ 5 ต้น กรุงเทพมหานครได้อนุรักษ์ต้นตะเคียนทองไว้เป็นรุกขมรดก

3\. ต้นโพธิ์ประวัติศาสตร์

six_legendary_heritage_tree_SPACEBAR_Photo_V01_0d4795d0ef.jpg

ต้นโพธิ์ขนาดใหญ่หน้าคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ต้นนี้เชื่อมโยงกับฉากของประวัติศาสตร์การเมืองไทย พื้นที่โดยรอบรู้จักดีในชื่อ ลานโพธิ์ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการต่อสู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของนักศึกษาธรรมศาสตร์

ว่ากันว่าต้นโพธิ์ต้นนี้เป็นต้นไม้ที่ติดมากับที่ดินตั้งแต่ซื้อมาจากกระทรวงกลาโหม และมีอายุแก่กว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สันนิษฐานว่าอายุจริงน่าจะเกิน 100 ปี

4\. ต้นกร่างศิลปากร

six_legendary_heritage_tree_SPACEBAR_Photo_V02_56feee459c.jpg

มหาวิทยาลัยศิลปากร เดิมคือวังท่าพระ ต้นกร่างใหญ่ต้นนี้ยืนอยู่หน้าคณะโบราณคดี สูงประมาณ 25 เมตร  สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่มาคู่กับวังท่าพระ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1  หรือนานกว่านั้น

นักศึกษาเรียกท่านว่า “ปู่กร่าง” ข้อมูลของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระบุว่า กร่างต้นนี้ปลูกสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนที่วังท่าพระจะเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร

ถามว่าอายุเท่าไหร่? ไม่มีใครทราบอายุจริง แต่น่าจะเกิน 200 ปีแน่นอน

5\. ต้นลิ้นจี่ยักษ์

six_legendary_heritage_tree_SPACEBAR_Photo03_3998c7950b.jpg

ย้อนไปสัก 100 กว่าปี พื้นที่เขตจอมทองเคยเป็นสวนลิ้นจี่และส้ม เจ้าของสวนคือ คุณบังอร เงินชูกลิ่น ที่ถือโฉนดที่ดินสมัยรัชกาลที่ 5 ลงปี พ.ศ.2424 มีสวนลิ้นจี่โบราณที่เป็นที่อยู่ของต้นลิ้นจี่ยักษ์อายุมากกว่า 100 ปี ขนาดต้นสูงประมาณ 20 เมตร

ตามบันทึกระบุว่า ลิ้นจี่ถูกเอามาปลูกในประเทศไทยเมื่อสมัยรัชกาลที่ 2 พระสังฆราชบิลเลอกัวซ์เคยเขียนไว้ช่วงรัชกาลที่ 4 ว่าในกรุงเทพมหานครมีการปลูกลิ้นจี่อย่างหนาแน่น เรียกว่า “คุ้งลิ้นจี่”

ปัจจุบันสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ลิ้นจี่เหลือแต่ต้น ไม่ออกดอก ไม่มีลูกมานานหลายปีแล้ว

6\. ต้นแก้วเจ้าจอม

six_legendary_heritage_tree_SPACEBAR_Photo_V03_79c6179c2a.jpg

ต้นนี้อยู่ในวังสวนสุนันทา ใครเคยไปวังสวนสุนันทาแล้วไปที่พระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เนินตรงนั้นเรียก “เนินพระนาง” มีแก้วเจ้าจอมต้นหนึ่ง อายุกว่า 100 ปี สูง 15 เมตร

แก้วเจ้าจอมถือเป็นต้นไม้หายาก มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ รัชกาลที่ 5 ทรงนำต้นมาจากอินโดนีเซีย มีความสวยซึ้งด้วยดอกสีม่วง สีคราม มี 5 กลีบ เกสรสีเหลือง มีกลิ่นหอม

เดิมพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ได้ทรงตั้งชื่อเป็นภาษาไทยว่า “แก้วจุลจอม” เวลาผ่านเรียกกันมาจนเป็น “แก้วเจ้าจอม”

นี่คือรุกขมรดก 6 ต้น ใน 65 ต้นทั่วประเทศที่อนุรักษ์ไว้ เพื่อยืนต้นมั่นคงส่งต่อความหมายที่ธรรมชาติมีต่อชุมชน นี่คือความทรงจำที่ยั่งยืนและหยั่งรากลึกอยู่เคียงคู่สังคมไทย

เปรียบเหมือนต้นไม้คุณปู่ที่เฝ้าดูการเติบโตและเปลี่ยนผ่านของสังคมและผู้คนมาทุกยุคสมัย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์