‘น้ำท่วม-ไฟป่า’ หนังฉายซ้ำที่วนกลับมาทุกปี มนุษย์แค่ลืมง่าย หรือไม่แคร์ ‘ความยั่งยืน’

30 ก.ย. 2567 - 10:55

  • ไทยเริ่มเข้าสู่ความไม่ยั่งยืน หลังการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรม พ.ศ.2504

  • 60 กว่าปีผ่านไป ไทยพัฒนาด้านวัตถุมาไกลโข ขณะที่ธรรมชาติถูกทำลายไปมหาศาล

  • ลงมือทำ คือ สิ่งเดียวที่ทำให้โลกนี้ดีขึ้นกว่าเดิม

spacebar สเปซบาร์, ความยั่งยืน, SX2024, SUSTAINABILITY, พื้นที่ป่า, ป่าไม้

เหตุการณ์น้ำท่วมล่าสุด เป็นภาพสะท้อนเล็กๆ ของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนที่ลุกลามราวเนื้อร้ายมากขึ้นทุกที

ใครที่ติดตามข่าวจะรู้ว่า เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ทุกปี และมีแนวโน้มหนักขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ทั่วทั้งโลก

คล้ายหนังพล็อตเก่าฉายเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนธรรมชาติส่งสัญญาณเตือนภัยถึงเราให้ทบทวนถึงการพัฒนาที่ผิดทาง

สะพานข้ามแม่น้ำ, Biala Glucholaska, โปแลนด์
Photo: สะพานข้ามแม่น้ำ Biala Glucholaska ในโปแลนด์ถูกทำลาย หลังน้ำท่วมที่เกิดจากพายุบอริส 24 กันยายน 2567. AFP / Wojtek Radwanski
น้ำท่วม, เชียงราย
Photo: ชาวบ้านดูบ้านของตนขณะน้ำท่วมในเชียงราย 12 กันยายน 2567. AFP / Lillian Suwanrumpha

ถามว่าจุดเริ่มต้นของความไม่ยั่งยืนเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ถ้าโฟกัสที่ประเทศไทย น่าจะเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.2504

พ.ศ.นั้น ไทยพาประเทศเดินหน้าเข้าสู่การพัฒนาอย่างเต็มสูบตาม แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509) โดยมีสหรัฐอเมริกาที่ผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้การสนับสนุน

ไทย (และหลายประเทศทั่วโลกในขณะนั้น) ได้พาตัวเองเข้าสู่การพัฒนาสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายและตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นเส้นชัย

60 กว่าปีผ่านไป หลักฐานการพัฒนาที่มีจุดเริ่มต้นจากตอนนั้นพาไทยมาไกลโข ถนน โรงงาน โรงไฟฟ้า เขื่อน ตัวเลขจีดีพี ฯลฯ เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ขณะเดียวกันก็แลกมาด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายไปมหาศาล

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ปริมาณพื้นที่ป่าที่หายไปมากกว่า 100 ล้านไร่ จากช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบัน

spacebar สเปซบาร์, ความยั่งยืน, SX2024, SUSTAINABILITY, พื้นที่ป่า, ป่าไม้

ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทยวันนี้ ในช่วงปลายฝนต้นหนาวราวเดือนกันยา นอกจากสายฝนและลมหนาวจะแวะมาเยือน งานมหกรรมด้านความยั่งยืนอย่าง SUSTAINABILITY EXPO ก็เวียนกลับมาอีกหน โดยปีนี้ (พ.ศ.2567) จัดเป็นปีที่ 5 มีข้อความประชาสัมพันธ์ระบุว่า ‘มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน’

spacebar สเปซบาร์, ความยั่งยืน, SX2024, SUSTAINABILITY, พื้นที่ป่า, ป่าไม้

ฟังดูยิ่งใหญ่ น่าภูมิใจ แต่มุมหนึ่งก็น่าหวั่นใจ เพราะโลกวันนี้พูดถึง ‘ความยั่งยืน’ กันจนเกร่อ เพราะโลกกำลังอยู่ในจุดที่ไม่ยั่งยืน บอบบาง และอ่อนไหว ผู้คนจึงเรียกหา (รวมถึงพากันโฆษณาหาประโยชน์) จากสิ่งที่หาได้ยากอย่าง ความยั่งยืน

เสียงความยั่งยืนที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ชวนให้นึกถึงข้อความหนึ่งในคัมภีร์เต๋าที่ว่า

“...เมื่อเต๋าหายไป

ความดีก็เข้ามาแทน

เมื่อความดีหายไป

ศีลธรรมก็เข้ามาแทน

เมื่อศีลธรรมหายไป

พิธีกรรมก็เข้ามาแทน...”

เต๋าเต๋อ จิง บทที่ 38 แปลโดย นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

เต๋า, ธรรมชาติ, ความยั่งยืน

SUSTAINABILITY EXPO 2024 เป็นพิธีกรรมครั้งล่าสุดที่จัดขึ้น หลังจากเคยจัดมาแล้ว 4 ปี จุดประสงค์การจัดงานวางอยู่บนความตั้งใจดี คือเพื่อส่งต่อความรู้และแรงบันดาลใจจากภาคธุรกิจสู่ผู้บริโภคโดยเชื่อมโยงกลับสู่ภาคธุรกิจในการ “ลงมือทำ” และร่วมกันสร้าง “สมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า” (Good Balance, Better World)

คีย์เวิร์ดงานนี้อยู่ที่ “การลงมือทำเพื่อเปลี่ยนให้โลกดีขึ้น” ในแง่ของความสมดุลและยั่งยืน

ส่วนจะทำอย่างไร ทำไมต้องทำ ปาฐกถาพิเศษโดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ที่กล่าวในพิธีเปิดงานเมื่อปีก่อนให้หลักคิดและแง่คิดอย่างเห็นภาพ ขณะเดียวกันก็กระตุ้นเตือนให้ตระหนักว่า สิ่งแวดล้อมยังคงวิกฤต ความยั่งยืนยังอยู่อีกไกล

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, วัยหนุ่ม
Photo: ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในวัยหนุ่ม

และในฐานะมนุษย์ ไม่ว่าองค์กร ธุรกิจ ตัวบุคคล หรือภาคส่วนใด เราควรจะจริงจังและใส่ใจกับเรื่องนี้ด้วยใจจริง

อย่าลืม...สิ่งสำคัญพื้นฐานของชีวิต

“หนี่งปีที่แล้ว ผมได้รับเชิญมาทำหน้าที่เดียวกันในฐานะ Guest Speaker ไม่ทราบว่าเราลืมกันแล้วหรือยังว่า ณ วันนั้นเราได้มีพันธสัญญาอะไรกันบ้าง วันนี้จึงอยากมาเตือนความจำอีกครั้งหนึ่งว่า เราควรจะทำอะไรเพื่อรักษาโลกใบนี้ไว้ให้เป็นโลกที่ดีกว่า หรือ Better World

“ใน 12 เดือนที่ผ่านมา เทคโนโลยีด้านต่างๆ เกิดขึ้นมาอย่างมากมาย เราได้ใช้เทคโนโลยีอย่างเพลิดเพลินสนุกสนาน หรือแม้แต่ลืมตัวด้วยซ้ำ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นมาโดยเราไม่รู้ตัว

“ด้านหนึ่งมีความเจริญความก้าวหน้าที่เกิดอย่างรวดเร็วและมหัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง อีกด้านหนึ่งอยากให้เหลียวกลับมาดูพื้นฐานของชีวิตเรา

“นั่นคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ”

จุดชมวิว, ทะเลหมอกหยุนไหล, ปาย, แม่ฮ่องสอน
Photo: จุดชมวิวทะเลหมอกหยุนไหล อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน

ธรรมชาติถูกทำลายไม่หยุดยั้ง

“เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (30 กันยายน 2566) แม่น้ำยมกำลังท่วมทะลักเข้าตามหมู่บ้านต่างๆ ปีนี้น้ำมากเป็นพิเศษ ผมเองก็ได้ติดตามสมเด็จพระชนกาธิเบศรฯ เป็นเวลาถึง 35 ปี ก็ได้เห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ ไม่ได้เป็นสิ่งแปลกประหลาดอะไร แต่เราก็ไม่สามารถจะหาวิธีการแก้ไขหรือเอาชนะธรรมชาติได้

“มองไปไกลอีกฟากโลกหนึ่งในเวลาเดียวกัน น้ำท่วมนิวยอร์กถึงขอบประตูรถ ประเทศที่มีเทคโนโลยีสูง มีอะไรที่มากกว่าเราหลายสิบเท่า ก็ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการธรรมชาติได้

น้ำท่วม, นิวยอร์ก, 2024, 2567
Photo: ชายคนหนึ่งเดินออกจากรถที่ถูกน้ำท่วมสูงบนทางด่วน ท่ามกลางฝนตกหนักและน้ำท่วมในนิวยอร์ก 29 กันยายน 2566. AFP / Spencer Platt

“ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี เรามีไฟป่าที่เผาไหม้แคนาดา อเมริกา กรีซ อิตาลี โปรตุเกส เป็นหมื่นเป็นแสนเอเคอร์ (1 เอเคอร์ ประมาณ 4,050 ตารางเมตร ราว 2 ไร่ครึ่ง)

“อยากชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่น่าหวั่นวิตกคือปัจจัยแห่งชีวิต ดิน น้ำ ลม ไฟ ถูกทำลายอย่างไม่หยุดยั้ง ขณะที่จำนวนคนที่ต้องพึ่งพาปัจจัยเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น”

มนุษย์ผู้สร้างและทำลาย

“เมื่อผมอายุ 14-15 ปี ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 17 ล้านคน วันนี้ผมอายุ 84 ปี ประชากรวิ่งตามอายุผมจาก 17 ล้านเป็น 70 ล้านคน ในพื้นที่ที่เท่าเดิม

“ภายในบ้านของเรา แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ถูกทำลาย ต้นน้ำลำธารมีแต่เขาหัวโล้น ทรัพยากรที่จะรักษาชีวิตเราให้ดำรงอยู่มีสภาพอย่างไร ทุกท่านคงเห็นแล้ว คนแย่งกันกิน แย่งกันใช้ คำว่า Greed แบบที่ได้ยินในรายการโทรทัศน์ของอเมริกา มันเกิดขึ้นมานานแล้ว เพราะกิเลสและตัณหาครองโลก เราคงได้ยินคำว่า

‘มนุษย์เป็นผู้สร้างและผู้ทำลาย’

เผาป่า, จังหวัดเลย, เนินเขา
Photo: การเผาป่าในพื้นที่จังหวัดเลย ท่ามกลางเนินเขาที่เต็มไปด้วยป่าไม้

“น่าประหลาดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านการใช้ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งดีแค่ไหนก็กลายเป็นขยะ มลพิษ และของเสียทั้งหมด น้ำที่เราดื่ม อากาศที่เราหายใจ ข่าวที่เรากิน เพียงชั่วครู่ก็กลายเป็นของเสียอยู่รอบตัวเรา

“เอาใกล้ๆ ตัวเรื่องน้ำท่วม วันนี้เรามุ่งหน้าที่จะระบายน้ำออกให้เร็วที่สุด อีกไม่กี่อาทิตย์ข้างหน้าสื่อมวลชนก็จะออกข่าวว่าเรากำลังประสบภาวะแห้งแล้งในไม่ถึงสิบวัน เราผ่านน้ำท่วมมาเป็นภัยแล้ง อยากตั้งคำถามว่าเราได้บริหารจัดการกันจริงจังหรือเปล่า ในหนึ่งปีเราได้ยกประเด็นปัญหาขึ้นมา แสวงหาทางออก และปฏิบัติลงมือพอเพียงไหม

“สิ่งนี้ไม่ใช่ภารกิจของคนๆ เดียว เพราะมนุษย์ทุกมุมโลกเจอปัญหาเดียวกันหมด”

โฆเซ่ มาร์ตี, รูปปั้น, วีรบุรุษ, คิวบา, น้ำท่วม
Photo: รูปปั้นโฆเซ่ มาร์ตี วีรบุรุษแห่งชาติของคิวบา ถูกน้ำท่วมบางส่วน หลังพายุเฮอริเคนเฮเลนเคลื่อนผ่านในเมืองกวานิมาร์ ประเทศคิวบา 25 กันยายน 2567. AFP / Yamil Lage

เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

“วันนี้เราคงจะเข้าใจคำว่า ‘ครองแผ่นดิน’ ของพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านไม่มีอำนาจอะไรที่จะปกครอง ได้แค่ ‘ครอง’ เท่านั้น

“โดยครองเหมือนชีวิตคู่ ชีวิตครอบครัว เหมือนเวลาบวชแล้วครองศีล 227 ข้อ ไม่ต้องมีใครบังคับเฝ้าดู มันเป็นเรื่องของจิตสำนึก ต้องเริ่มจาก ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’

“วันนี้ได้มอบให้ผมพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง เรามีการสื่อกันออกไป แต่ไม่ได้เข้าถึงแก่น น่าประหลาดที่หลายคนไม่เคยเห็นคำจำกัดความ 13 บรรทัด ที่ได้พระราชทานมาอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2542 อยากให้ลองอ่านดู

‘เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึง ระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและการบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อยุคโลกาภิวัตน์

‘ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน

‘ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวัง อย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผน และการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน มีความเพียรพยายาม มีสติปัญญา และความรอบคอบ

‘เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี’

“ท่านได้เตือนให้เรารู้เท่าทันโลกาภิวัฒน์ และสิ่งที่อันตรายที่สุดที่มนุษย์จะต้องเผชิญ คือ ความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีทั้งการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก และก่อนจะจบ 13 บรรทัด พระองค์ทรงเตือนแบบเต็มรูปแบบว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ให้เราเตรียมตัวไว้”

พืชพันธุ์, เผาป่า, กอร์โดบา, อาร์เจนตินา
Photo: ซากพืชพันธุ์ที่ถูกเผาหลังเกิดไฟป่าในจังหวัดกอร์โดบา ประเทศอาร์เจนตินา 25 กันยายน 2567. AFP / Stringer

คาถาสร้างความยั่งยืน

“ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เราต้องบริหารจัดการ ถ้าเราจะเอาชนะความเปลี่ยนแปลง

“ประการหนึ่ง คือ เราต้องเปลี่ยนไปก่อนการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น คนที่เดินไปรอข้างหน้าก่อนก้าวหนึ่งก็จะเป็นผู้ชนะ ถ้าเราตามการเปลี่ยนแปลงได้ เราแค่เสมอตัว หากเราไม่สามารถจะติดตามการเปลี่ยนแปลงได้ มีอีกคำหนึ่งรอเราอยู่คือ ‘Disruption’ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“พระองค์ท่านได้สอนธรรมะง่ายๆ ไว้ 3 คำ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ ทำงาน หรือผู้ที่เกษียณแล้ว ก็สามารถนำไปใช้ได้หมด

“คำแรกคือ ‘พอประมาณ’ คือทำอะไรอย่าเกินตัว ต้องตรวจสอบ และประเมินทุนของตัวเองทั้งด้านกายภาพ ทุนทรัพย์ ปัญญา เพราะแต่ละคนมีไม่เท่ากัน ในระดับประเทศก็เหมือนกัน เมื่อทำอะไรเกินทุน อันตรายเกิดขึ้น และความสมดุลจะหายไป

พระอาทิตย์ตก, อ่าวพังงา
Photo: ภูมิทัศน์ยามพระอาทิตย์ตกบริเวณอ่าวพังงา

“หลังจากรู้ทุนแล้ว ให้ใช้ ‘เหตุผล’ ในการตัดสินใจ ต้องใช้สติ ปัญหาและเหตุผลในการนำ ไม่เช่นนั้นกิเลสและตัณหามันจะนำเรา

“เรื่องสุดท้ายคือ ‘มีภูมิคุ้มกัน’ หรือใช้คำสมัยใหม่หน่อย คือ บริหารความเสี่ยงให้ดี ทุกจังหวะของชีวิตมีความเสี่ยง ต้องเดินอย่างระมัดระวัง อย่าประมาท พระพุทธเจ้าสอนให้ชาวพุทธทั้งหลายตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องไม่ปฏิเสธโลก ต้องตามข่าวสารให้ทัน รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง

“ต่อไปคือเรื่องของคุณธรรม หรืออย่าโกง ตลอด 35 ปีที่ได้มีโอกาสเดินตาม ศึกษา เรียนรู้จากพระองค์ ผมไม่เคยเห็นพระองค์ท่านมีอารมณ์โกรธ เท่าตอนที่ทราบถึงเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ทรงตรัสว่า ใครทุจริตแม้นิดเดียว ขอให้มีอันเป็นไป ท่านทรงรู้พระองค์ว่าพูดแบบนี้ไม่ดี แต่ก็ต้องพูด

“สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดคือ ทรงตั้งความหวังไว้อีก 10 ปี การทุจริตคอร์รัปชั่นคงจะเบาบางลงหรือควบคุมได้ ประเทศของเราก็จะประสบความผาสุก ความเจริญ จากตอนนั้นปี 2546 ก็ผ่านมา 20 ปีแล้ว สถานการณ์ดีขึ้นไหม

คณะรัฐมนตรี, รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง 1
Photo: คณะรัฐมนตรี รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง 1 บนตำแหน่งหน้าในการขับเคลื่อนประเทศไทย การปราบคอร์รัปชั่นคือหนึ่งในภารกิจหลักที่สำคัญ 7 กันยายน 2567. AFP / Manan Vatsyayana

“ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ก็เป็นเรื่องแปลกว่าต่างประเทศที่มีการพูดเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือธรรมาภิบาลก็เน้นเรื่องคุณธรรมเหมือนกัน พระองค์ท่านสอนง่ายๆ ไม่ว่าจะทำอะไร ขอให้ผ่านขั้นตอนความคิดต่างๆ เหล่านี้

“คือ ประเมินก่อน ดูทุนของเรา แต่ละประเทศมีทุนไม่เหมือนกัน ไม่ต้องเดินตามแนวทางเดียวกัน ทุนใครเป็นแบบไหน ก็ทำแบบนั้น ใช้เหตุผล อย่าโลภ และคอยระวังป้องกันความเสี่ยงตลอดเวลา เพราะมันมีกับดักอยู่ตลอด

“สุดท้ายสิ่งที่ได้คือ 3 คำ ‘สมดุล มั่นคง ยั่งยืน’”

เราทำอะไรบ้างเพื่อให้โลกดีขึ้น

“วันแรกที่เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ท่านไม่เคยเปลี่ยนความตั้งใจตลอด 70 ปีของการครองราชย์ นั่นคือ ‘เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม’ พระองค์ท่านดูแลแผ่นดิน ไม่ใช่ด้วยอำนาจ แต่ด้วยความรัก ความเมตตา และความรับผิดชอบ ใช้ธรรมะเป็นหลัก คือต้องดีและถูกต้องพร้อมๆ กัน

สวน Tiquatira Linear, บราซิล, เซาเปาโล
Photo: สวน Tiquatira Linear ปลูกต้นไม้มากกว่า 40,000 ต้น -160 สายพันธุ์ที่แตกต่างกัน บนพื้นที่กว้าง 3.2 กิโลเมตรและกว้างประมาณ 100 เมตร ท่ามกลางคอนกรีตในเซาเปาโล

“เหนือสิ่งอื่นใดในเรื่องของความยั่งยืนนั้น มนุษย์มักอดคิดถึงผลประโยชน์ไม่ได้ ขาดทุนและกำไรอยู่ในความคิดของมนุษย์ตลอด แต่พระองค์ใช้คำเหนือไปกว่านั้นอีกคือ ‘เพื่อประโยชน์สุข’ เพราะฉะนั้นในเรื่องของความยั่งยืนจะต้องคิดถึงคำว่าประโยชน์สุขเป็นหลัก หากเรายึดเอาความร่ำรวย มั่งคั่งเป็นที่ตั้ง ก็จะนำไปสู่การทำลาย แต่หากเรามั่งคั่งร่ำรวย ก็ต้องถามตัวเองว่าจะทำให้เกิด “ประโยชน์สุขได้อย่างไร ถ้าเราใช้ให้เกิดประโยชน์ ย่อมนำไปสู่ความสุข หากคนทั้งโลกคิดอย่างนี้ หยุดกระหาย กลับมาดูว่าจะทำให้โลกนี้ไปรอดได้อย่างไร เราจะได้อยู่ตลอดรอดฝั่ง

เขาช้างเผือก, ทองผาภูมิ, กาญจนบุรี
Photo: เขาช้างเผือก อำเภอทองผาภูมิ กาญจนบุรี

“ภารกิจสำคัญของเราคือการรักษาโลกใบนี้ ส่งต่อให้ลูกหลาน คำนึงว่ารุ่นต่อไปจะอยู่อย่างไร หากเราใช้ทรัพยากรโลกจนหมดในวันนี้ เขาจะเหลืออะไร เวลานี้แม่น้ำเน่าเหม็น วันไปยืนดูก็ไม่กล้าลงไป เราจะทำอย่างไรเพื่อทำให้เกิดการลงมือแก้ปัญหาในวันนี้และตอนนี้

“ผมดีใจที่ผู้คนมาร่วมงานมากมาย เมื่อเราเข้าใจแล้วเหตุอยู่ตรงไหน วิธีการแก้ไขอย่างไร ควรไปถึงคำที่สองคือ ‘เข้าถึง’ การปฏิบัติ การกระทำ

“ผมหวังว่าเรามาเจอกันในหนึ่งปีข้างหน้า ทุกคนจะมาบอกว่าได้ทำอะไรบ้าง เพื่อให้โลกนี้เป็น Better World อย่างที่เราหวังไว้ ลูกหลานที่มานั่งฟังอยู่ด้วยจะได้ยิ้มได้

“ขอบคุณมากครับ”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์