แมว(ข)จร เรื่องราวการเดิน(ถ่าย)ของช่างภาพแมว กลายเป็นเรื่องราวที่มากกว่าแมวจัดสรร

1 มี.ค. 2568 - 01:00

  • ผมชื่อ ‘ขจร’ ถ่ายแมวจรมันได้คอนเซ็ปต์ ใส่วงเล็บ (ข) เหลือ จร จึงเป็นที่มาของภาพเซ็ตนี้

stray-cats-the-walking-story-of-a-cat-photographer-SPACEBAR-Hero.jpg

“ผมเริ่มถ่ายรูปตั้งแต่ตอนเรียน” ...ขจร พีรกิจ อุปนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ช่างภาพ ผู้สื่อข่าว จนมาถึงบทบาทล่าสุด นักถ่ายแมวที่ถ่ายภาพแมวจรมาแล้วกว่า 30,000 ภาพ เล่าให้ฟัง

stray-cats-the-walking-story-of-a-cat-photographer-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: ขจร พีรกิจ อุปนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ช่างภาพ ผู้สื่อข่าว และนักถ่ายแมว

“ผมเริ่มถ่ายรูปตั้งแต่ตอนเรียน แต่ก่อนใช้ Nikon FM2 จบมาก็ไปทำหนังสือรถยนต์ Auto Racing หยุดถ่ายรูปด้วยกล้องใหญ่ไปพักหนึ่ง ใช้ไอโฟนมาตลอด มาเริ่มถ่ายภาพจริงจังตอนเข้าสมาคมถ่ายภาพฯ ส่วนภาพแมวเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว สุขภาพไม่ดีหมอให้ออกกำลังด้วยการเดิน บ้านผมอยู่วงเวียน 22  แล้วก็รู้มาว่า เขตป้อมปราบฯ มีแมวเยอะที่สุด มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับแมวมากที่สุด เลยเป็นที่มาของการเดินถ่ายรูปแมว แรกๆ เดินไกล ถ่ายช่วงหลังเลิกงาน ตอนเย็นเป็นช่วงเวลาที่เราเห็นแมวดีที่สุด ตอนกลางวันแมวไม่อยู่ พอเย็นเขามารวมกัน

stray-cats-the-walking-story-of-a-cat-photographer-SPACEBAR-Photo01.jpg

เดินถ่ายรูปแมวทุกวันจนคนแถวบ้านมาบอกว่าห้ามถ่าย เขากลัวเอาไปฟ้องเทศกิจ ต้องอธิบายว่า ผมถ่ายรูปแมว

ผมถ่ายแมวแบบไม่ได้สนใจว่าต้องชัด แต่ถ่ายเอาฟีลลิ่งว่าแมวต้องมีความรู้สึก ผมมีทริกอย่างนึงคือ ไม่ใช้ไวท์บาลานซ์เพื่อให้มันไม่ชัด ไม่ตกแต่งภาพ ให้คนเห็นธรรมชาติของแมว ผมใช้ Highlight-Weighted ปรับไวบาลานซ์เพี้ยนๆ ไม่ตายตัว ไม่มีกฎเหมือนตอนเป็นกรรมการตัดสินภาพ”

ถามตัวเอง...อยากถ่ายแมวจรไปเพื่ออะไร?

“ผมชื่อ ขจร ถ่ายแมวจรมันได้คอนเซปต์ ใส่วงเล็บ (ข) เหลือ จร ก็เลยมาถ่ายแมวจร ถ่ายยังไงให้เป็นแมวจร ถ่ายให้เห็นธรรมชาติของแมว แววตาแมวจรกับแมวเลี้ยงตามบ้านจะต่างกัน เราถ่ายน่าสงสาร พอเอาไปโพสต์ มีคนอยากได้มารับไปเลี้ยงก็มี 3 ปีนี้ถ่ายไปแล้ว 3 หมื่นกว่ารูป ถ่ายรูปแมวอย่าลืมใส่เครดิตจะได้ป้องกันตัวเอง”

stray-cats-the-walking-story-of-a-cat-photographer-SPACEBAR-Photo02.jpg

แมวใช้ชีวิตอย่างไรในเมืองเก่า

“แมวจรไม่มีคนดูแล สิ่งที่ต้องเผชิญคือปัญหาสุขอนามัย นอกจากเรื่องการกินอยู่ คือโดนรถชนบ้าง โดนตัวเงินตัวทองกินบ้าง จากที่ไม่เคยสนใจเรื่องแมว เราก็ศึกษา แมวออกลูกปีละ 4 ครั้ง เรารู้จำนวนลูกจากเต้านม ปกติประมาณ 8 เต้า เท่ากับปีนึงมีลูกได้ 32 ตัว แมวจรไม่ได้ควบคุมจึงมีจำนวนมาก ตอนแรกเคยไม่จับแมว คิดว่าแมวจรสกปรก ตอนนี้พกแอลกอฮอล์ ถ่ายด้วย ลูบหัวด้วย มันก็ดีไปอย่าง”

คำแนะนำในการถ่ายรูปแมว

“ถ้าจะไปถ่ายแมวจร คือเวลา เช้าๆ ก่อน 9 โมง อีกทีคือค่ำเลย มันจะมาปาร์ตี้กัน แต่แสงจะน้อย แล้วก็ระวังอย่าไปถ่ายตอนมันกิน มันจะหงุดหงิด ถ้ากินเสร็จ เอาล่ะ เรื่องอาหารไม่จำเป็น อยู่ที่การเข้าหามัน อย่าให้มันตกใจพอ”

เคล็ดลับ เราต้องสังเกตดูเขาอยู่ตรงไหนบ้าง เดินทุกวันจะรู้แมวแต่ละจุดตรงไหนมีมากมีน้อย อย่างถนนวานิช พอค่ำจะเจอแมวอยู่บนหลังคา ในตลาดหลังจากเลิกขายของแมวจะออกมา ตอนกลางคืนแมวชอบไปอยู่บนหลังคารถ จังหวะเวลาถ่าย ต้องทำให้เขาแอคชั่น แมวที่ถ่ายได้ดีที่สุดคือแมวที่ไม่ได้ให้อาหาร ไม่ถ่ายรัวๆ ไม่ถ่ายแมวในกรง มันเป็นแมวเลี้ยง ไม่ใช่แมวขจร ผมไม่ใช้มือถือ เพราะมันชัดเกินไป ดีเกินไป

stray-cats-the-walking-story-of-a-cat-photographer-SPACEBAR-Photo04.jpg

เมืองแมวกลายเป็นปัญหาของเมือง

บางชุมชน บางวัด ให้เลี้ยงได้ ให้อาหารได้ บางชุมชนไม่ได้ เราก็เข้าใจ ทุกวันนี้ไม่ได้เดินถ่ายรูปอย่างเดียว เตรียมอาหารไปให้ด้วย แมวจรมีปัญหาเรื่องตา ผมถ่ายรูปมาแล้ว ตาแฉะ เพื่อนเห็นก็ส่งยามา เขาเป็นแผล แมวจรมีเยอะเพราะแพร่พันธุ์ได้ตลอด ถ้าแมวทำหมันจะลดความก้าวร้าว ถ่ายเป็นที่ทาง แต่ กทม.ไม่มีงบ ทำได้แค่ไม่กี่ตัว ทำแล้วก็ต้องมีคนคอยดูแล

ทั้งหมดคือบทสรุปของแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพสัตว์แมวจร จาก “ขจร พีรกิจ” ผู้พิชิตภารกิจที่มากกว่าแค่ถ่ายภาพ และต่อไปนี้คือภาพสวยๆ ที่เราคัดมาให้ชมกัน

stray-cats-the-walking-story-of-a-cat-photographer-SPACEBAR-Photo07.jpg
stray-cats-the-walking-story-of-a-cat-photographer-SPACEBAR-Photo06.jpg
stray-cats-the-walking-story-of-a-cat-photographer-SPACEBAR-Photo05.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์