ตลาดน้อย: ย่านคนจีนทำไมมีวัดญวน?

26 กุมภาพันธ์ 2566 - 04:12

Talad-Noi-vietnamese-people-clue-SPACEBAR-Hero
  • ตลาดน้อยเป็นย่านคนจีน แต่ทำไมมีวัดญวน วัดญวนมาจากไหน

  • จุดเริ่มต้นวัดญวนในตลาดน้อยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 หลัง ‘องเชียงสือ’ กษัตริย์เวียดนามเดินทางมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร

“ไหนว่าตลาดน้อยเป็นย่านคนจีน ทำไมมีวัดญวน?”

น้องที่ชอบเดินดูย่านเก่าด้วยกันตั้งคำถาม 

ใช่ครับ ตลาดน้อยมีวัดญวณเก่าแถมยังเป็นวัดที่ได้รับการสนับสนุนโดยพระมหากษัตริย์ วัดที่ว่าคือ ‘วัดอุภัยราชบำรุง’ ชาวบ้านเรียก ‘วัดญวณตลาดน้อย’ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/48c4L6YkkLeYbZEd6IzEvh/c33ba6a6f680dc9654f03b55b42eabbf/Talad-Noi-vietnamese-people-clue-SPACEBAR-Photo01
Photo: ประตูทางเข้าวัด มุมจากวัดมองออกไป. (Photo: Charoenkrung Creative District)
อันที่จริง ในย่านเยาวราช สำเพ็ง สัมพันธวงศ์ จักรวรรดิ ที่มีคนจีนอยู่เยอะะ มีวัดญวนตั้งแซมๆ อยู่ในพื้นที่ นับดีๆ วัดอนัมนิกาย (พุทธศาสนานิกายมหายาน สืบมาจากเวียดนาม) ตรงนั้นเยอะกว่าวัดจีน 

แล้ววัดญวนมาจากไหน มาตั้งแต่ตอนไหน  

วัดญวนมาพร้อมกับคนญวน วัดญวนตลาดน้อยกับวัดญวนแถวเยาวราช มาพร้อมกับคนเวียดนามหรือคนญวนที่ไปอยู่ตรงนั้น แต่ทั้งสองกลุ่มมาคนละคราวกัน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7tWCSRbSbY54KGasjo9bYA/dca7a3b537c7cb27621667125434a4cb/Talad-Noi-vietnamese-people-clue-SPACEBAR-Photo02
Photo: งานไหว้ดาวนพเคราะห์ประจำปีในยามค่ำคืน. (Photo: Charoenkrung Creative District)
วัดญวนตลาดน้อยมาก่อน มาพร้อมกับการมาอยู่ของ ‘องเชียงสือ’ (พระนามของกษัตริย์เวียดนาม ทายาทคนเดียวที่เหลืออยู่ของตระกูลเหงวียน) ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร รัชกาลที่ 1 ในตอนนั้นรัชกาลที่ 1 ให้องเชียงสือไปอยู่ที่บ้านต้นสำโรง ก็คือบริเวณที่เป็นสถานทูตโปรตุเกส ในซอยเจริญกรุง 30 ซอยกัปตันบุช (และเลยขึ้นไปถึงมัสยิดฮารูน สถานทูตฝรั่งเศส) พร้อมด้วยบริวารขององเชียงสือ และญวนที่อพยพมาช่วงกรุงธนบุรีที่เข้ามาอยู่บริเวณนี้ กระจายอยู่ในพื้นที่ที่ลงมาจากวัดสำเพ็ง หรือวัดปทุมคงคา เจืออยู่กับชุมชนจีนที่มีอยู่แล้วบริเวณตลาดน้อยนั่นเอง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/30AyOT5EQaasgBufSsRZIO/8a56e14219f54b7119527dbfc74f5af4/Talad-Noi-vietnamese-people-clue-SPACEBAR-Photo03
Photo: องเชียงสือ
วัดคั้นเวิน หรือ คั้น เวิน ตื่อ หรือ วัดอุภัยราชบำรุง จึงตั้งขึ้นที่นั่น ด้วยความศรัทธาของคนญวน เวลาผ่านไปไม่นาน องเชียงสือกลับไปกอบกู้อำนาจของตนเองคืน หลังการหนีกลับไปดื้อๆ ขององเชียงสือ เขาไม่ได้เอาคนญวนกลับไปทั้งหมด ยังเหลือร่องรอยของวัฒนธรรมญวนไว้ 

เหตุการณ์ ‘หนี’ ขององเชียงสือ ทำให้รัชกาลที่ 1 ย้ายญวนที่อยู่บริเวณบ้านสำโรงทั้งหมดรวมถึงบริเวณตลาดน้อยไปอยู่บางโพตั้งแต่นั้น 

ด้วยเหตุนี้ บางโพจึงมีชุมชนคนญวนเก่า มีวัดญวนคือวัดบางโพโอมาวาส ความจริงคนญวนที่ต้นสำโรงและตลาดน้อยไม่ได้ไปอยู่บางโพทั้งหมด และคนญวนที่ต้นสำโรง ก็ไม่ใช่คนญวนพุทธทั้งหมด ยังมีคนญวนที่นับถือคาทอลิกที่อยู่ที่นั่น ยืนยันด้วยการมีอยู่ของกลุ่มคริสตังญวนวัดกาลหว่าร์ ทั้งวัดอุภัยราชบำรุง และวัดกาลหว่าร์ยังคงมีอยู่ และดำรงอยู่อย่างดีมาจนทุกวันนี้ 

วัดคั้นเวินตั้งมั่นเงียบสงบอยู่นานโดยไม่ได้เป็นวัดร้าง มีพระ มีคนญวนเข้ามาทำบุญไม่ขาด ก่อนจะกลายมาเป็นวัดอุภัยราชบำรุงในเวลาต่อมา เมื่อได้รับการดูแลโดยพระมหากษัตริย์ 2  องค์ คือ รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4SyqDAhZ9I9IzipYslyeD7/57861f37b2b571f8746296d0b244b271/Talad-Noi-vietnamese-people-clue-SPACEBAR-Photo04
Photo: พระครูคณานัมสมณาจารย์ (โผซ้าย) อดีตเจ้าคณะใหญ่อนัมนิกาย วัดอุภัยราชบำรุง มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2442-2501
มีเรื่องเล่าว่าตอนที่รัชกาลที่ 4 ยังทรงผนวช ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนามหายานจากท่านเจ้าอาวาสวัดคั้นเวิน เมื่อลาผนวชครองราชย์แล้ว จึงอุปถัมภ์วัดนี้โดยมีรัชกาลที่ 5 ให้การอุปถัมภ์ต่อมาจึงเป็นชื่อของอุภัยราชบำรุง 

อุภัย หมายถึง สอง 
ราชบำรุง คือ กษัตริย์สององค์ที่ทรงอุปถัมภ์บำรุงวัด  

ร่องรอยของญวนในตลาดน้อยนอกจากวัดแทบไม่มีเหลืออะไรแล้ว หลังจากการไปขององเชียงสือบริเวณที่เคยเป็นวังองเชียงสือก็ถูกเปลี่ยนเป็นสถานีการค้าของโปรตุเกส ก่อนจะกลายเป็นสถานทูตโปรตุเกสในเวลาต่อมา ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสองสถานทูตเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยเคียงกับสถานทูตฝรั่งเศสเลยทีเดียว 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/14yxka2eOOuDdmdJfYJNJp/08eb7eb57bd9181cfb00b6873b438827/Talad-Noi-vietnamese-people-clue-SPACEBAR-Photo05
Photo: พระประธานในวัดอุภัยราชบำรุง. (Photo: Charoenkrung Creative District)
หากใครอยากสัมผัสกลิ่นอายความเป็นญวนที่เคยมี แนะนำให้มาชมพิพิธภัณฑ์ประวัติวัดและเจ้าอาวาสที่วัดอุภัยราชบำรุง
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2ht5ited0hdeKBsKcDXX2d/277e1b7e7a73fae31548175cae6388ec/Talad-Noi-vietnamese-people-clue-SPACEBAR-Photo06
Photo: ภาพวาดวัดอุภัยราชบำรุง. (Photo: walk.in.th)
นอกจากย่านตลาดน้อย ในบริเวณสัมพันธวงศ์ จักรวรรดิ เยาวราช ก็มีวัดญวนอยู่ถึง 4 วัด ได้แก่ วัดชัยภูมิการาม วัดมงคลสมาคม วัดกุศลสมาคม และวัดโลกานุเคราะห์ เทียบกับวัดจีนแล้วมีมากกว่า เพราะมีคนญวนที่มากับเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายกในรัชกาลที่ 3 ไปรบและอยู่ที่เวียดนามยาวนานก่อนจะกลับบ้านที่มีจวนของท่านอยู่ใกล้ๆ สะพานหัน หรือชุมชนเลื่อนฤทธิ์ในทุกวันนี้ 

ว่ากันว่าการสงครามครั้งนั้นมีญวนมาเติมที่สามเสน เป็นญวนคาทอลิกและญวนที่ตามท่านมาอยู่ใกล้กับจวนท่าน สำเพ็งในรัชกาลที่ 3 จึงมีทั้งจีน ญวน ลาว แขก และเป็นที่มาของวัดญวนในย่านจีน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3jVZOXOGlU3L2gWdrbL4nS/d60e4611e9b25b49b3614a77951af257/Talad-Noi-vietnamese-people-clue-SPACEBAR-Photo07
Photo: ชาวบ้านมาทำบุญ ณ วัดอุภัยราชบำรุง. (Photo: Charoenkrung Creative District)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์