‘อากาศร้อนส่งผลต่อความฉลาด’ พาสำรวจและพิสูจน์แนวคิดของแอริสโตเติล

25 เม.ย. 2566 - 09:08

  • สำรวจข้อสันนิษฐานของแอริสโตเติลผ่านงานวิจัยในปัจจุบันที่พิสูจน์ว่า ‘อากาศร้อนส่งผลต่อความฉลาดจริงไหม’?

temperature-affects-intelligence-SPACEBAR-Thumbnail
ทำไมเราอ่านหนังสือเท่าไรก็ไม่จำ คิดอะไรก็ไม่ค่อยออก ความครีเอทีฟก็ไม่ค่อยเกิด หรือว่าเราเป็นคนไม่ฉลาดและไม่เก่ง?
 
แอริสโตเติล เคยกล่าวไว้ว่า 
“ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น (ยุโรป) คือผู้คนที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณ รักความอิสระเสรี แต่ไร้ซึ่งความรู้และความสามารถ จึงไม่สามารถจัดระบบระเบียบในสังคมได้ แตกต่างจากคนเอเชียที่เต็มไปด้วยความรู้และความสามารถ แต่กลับขาดจิตวิญญาณแห่งความเสรี จึงมักถูกควบคุมและตกเป็นทาสอยู่เสมอ แต่กรีก พื้นที่ตรงกลางระหว่าง 2 ทวีป เป็นพื้นที่ที่อากาศกำลังดี ไม่ร้อนและไม่หนาวเกินไป ทำให้พวกเขาได้รับทั้ง 2 สิ่ง คือมีทั้งความเฉลียวฉลาดและจิตวิญญาณ” 
 
จากคำกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความเชื่อของ แอริสโตเติล นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยเขาเชื่อว่าพื้นที่ตั้งของประเทศต่างๆ และสภาพอากาศในพื้นที่มีผลต่อลักษณะนิสัยและความคิดของผู้คน ทำให้กรีก พื้นที่ตรงกลางที่ตั้งอยู่บริเวณปลายสุดของทวีปยุโรปและมาบรรจบกับทวีปเอเชียและแอฟริกาได้รับข้อดีจากทั้ง 2 ฝั่งคือมีทั้งสติปัญญาและจิตใจที่ดี กรีกจึงเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยนักคิดและนักเขียนที่มีชื่อเสียงมากมาย 
 
แนวคิดนี้ก่อให้เกิดการถกเถียงถึงความน่าจะเป็นและความน่าเชื่อถือของนักวิจัยทั่วโลกมาหลายรุ่น  ทำให้ในปัจจุบัน นักวิจัยหลายคนพยายามที่จะพิสูจน์และหาคำตอบจากแนวคิดนี้ของแอริสโตเติล
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1HKyEHISxml8iV1UwMsRDD/846ffcacce1159004e6cc7405de4d076/temperature-affects-intelligence-SPACEBAR-Photo01
Photo: เว็บไซต์ Washington Post
จากงานวิจัยของสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติโดยการร่วมมือของทีมนักวิจัยชาวอเมริกันและจีน ได้มีการศึกษาถึงผลกระทบของอุณหภูมิเฉลี่ยรายวันต่อคะแนนของนักเรียนจีนในการสอบเข้าวิทยาลัยแห่งชาติ พบว่าเมื่อจับคู่ผลการทดสอบหลายล้านรายการกับข้อมูลอุตุนิยมวิทยาในท้องถิ่นสำหรับวันที่นักเรียนเข้าสอบ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 3.29°C หรือประมาณ 5.9°F จะสามารถลดคะแนนในการสอบของนักเรียนลงถึง 1.12%  และยังสามารถลดโอกาสในการเข้าศึกษาต่อในระดับวิทยาลัยได้ถึง 1.97% 
  
หลังจากการเผยแพร่ของงานวิจัย ทางการจีนได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมีมาตราการห้ามไม่ให้ใช้เครื่องปรับอากาศ เพราะไม่ต้องการให้เกิดความเหลื่อมล้ำและอยากให้ความยุติธรรมกับพื้นที่ที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศใช้ 
 
เช่นเดียวกับงานวิจัยของ Patrick Behrer นักวิชาการจากศูนย์ความมั่นคงด้านอาหารและสิ่งแวดล้อมของสแตนฟอร์ด และ Jisung Park จาก UCLA Luskin Center for Innovation เผยให้เห็นว่าความร้อนส่งผลเสียอย่างมากในระบบการศึกษา โดยจากการสำรวจเด็กอายุ 15-19 ปี พบว่าเด็กมากกว่า 10 ล้านคนในประเทศสหรัฐอเมริกามีอัตราการเรียนรู้ลดลงตามจำนวนวันที่มีอากาศร้อน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/RixwgQEYkwCuJZlT9aJi7/0fde6cdc0ee110d2d48bfe5a3f8bf006/temperature-affects-intelligence-SPACEBAR-Photo02
Photo: เว็บไซต์ Washington Post
กราฟแสดงผลการสอบ PSAT ในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2001-2014 แสดงให้เห็นว่าในแต่ละปีหากมีจำนวนวันที่อากาศร้อนเพิ่มขึ้น คะแนนการสอบ PSAT จากผู้เข้าสอบกว่า 10 ล้านคนในประเทศก็จะยิ่งลดลง โดย Park ได้กล่าวไว้ว่า 
 
“อุณหภูมิเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อนักเรียนอย่างมาก มันสร้างความรำคาญใจให้นักเรียน เป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาความรู้ความสามารถในห้องเรียน และทำลายสมาธิในการทำข้อสอบ”  
 
ซึ่ง Park และ Bhrer ได้ขยายภาพให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น โดยการสำรวจคะแนนสอบรายวันที่วิเคราะห์ภาพรวมคะแนนสอบของ New York Stage Regents หรือการสอบวัดระดับความรู้มาตราฐานของนักเรียนมัธยมปลายในนครนิวยอร์คร่วมกับสภาพอากาศแต่ละวัน ซึ่งจากการสำรวจนักเรียนกว่า 1 ล้านคน พบว่าการทำข้อสอบในวันที่มีอุณหภูมิสูงถึง 90°F หรือ 32°C สามารถลดประสิทธิภาพในการทำข้อสอบของนักเรียนลงถึง 14 เปอร์เซ็นต์
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5YBX40tccVZInsaBqoNEgz/62ebfc56ab8798ad4fbd88dba43caef4/temperature-affects-intelligence-SPACEBAR-Photo03
Photo: เว็บไซต์ Washington Post
จากกราฟจะเห็นได้ว่า นักเรียนเกือบ 1 ใน 5 ต่างประสบปัญหาในวันสอบที่มีอุณหภูมิสูงถึง 90 °F โดยค่าเฉลี่ยคะแนนสอบในวันนั้นแสดงให้เห็นถึงโอกาสสอบผ่านที่น้อยลง ซึ่งอากาศร้อนอบอ้าวที่เกิดขึ้นสามารถเพิ่มโอกาสในการสอบตกได้ถึง 10.9%  
 
ปัญหานี้จะส่งผลต่อความน่าจะเป็นในการสำเร็จการศึกษา และสามารถส่งผลในวงกว้างไปถึงระดับประเทศ เพราะการศึกษาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงไม่ควรปล่อยให้เด็กรับมือกับปัญหาโดยลำพัง และควรรีบเร่งแก้ไขการจัดระบบสอบเพื่อไม่ให้ปัญหานี้ขยายไปขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของแต่ละบุคคลได้ 
 
ซึ่งหลังจากการศึกษางานวิจัยที่ยกมาข้างต้น พบว่าอากาศสามารถส่งผลต่อความคิดตามที่แอริสโตเติลกล่าวไว้ได้จริง ในวันที่อากาศดี สมองจะสามารถทำงานได้ดี แตกต่างจากวันที่อากาศร้อน ยิ่งอากาศร้อนมากเท่าไร ความสามารถในการประมวลผลของสมองยิ่งลดลงมากเท่านั้น และนอกจากความร้อนจะส่งผลต่อความฉลาดด้านการศึกษาแล้ว ยังส่งผลต่อความฉลาดทางด้านอารมณ์อีกด้วย 
 
จากการที่กรมสุขภาพจิตได้มีการออกมาประกาศเตือนประชาชนเกือบทุกปีว่า ‘อากาศร้อน’ สามารถเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีที่ทำให้เกิดความเครียด ความฉุนเฉียว และพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งเราจะสามารถเห็นหลักฐานได้จากข่าวต่างๆ ยิ่งอุณหภูมิสูงขึ้นเท่าไร เราจะพบข่าวคน ‘หัวร้อน’ ทะเลาะวิวาท หรือผู้ป่วยทางจิตเวชที่ขาดยาลุกขึ้นมาก่อคดีอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากเมื่ออุณภูมิในอากาสยิ่งเพิ่มสูงขึ้น อุณภูมิในร่างกายก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตสูงขึ้นตามไปด้วย  
 
นักวิจัยเรียกอาการนี้ว่า ‘ภาวะความตื่นตัวที่เพิ่มขึ้น’ เมื่อทุกอย่างในร่างกายทำงานด้วยภาวะตื่นตัวจะทำให้ความรู้สึกต่างๆ และความอ่อนไหวที่มียิ่งทวีความรู้สึกแรงขึ้นจนยากที่จะควบคุม ซึ่งเป็นสาเหตุเดียวกันกับการถูกความร้อนรบกวนขณะนั่งสอบของงานวิจัยต่างๆ เมื่อความร้อนเพิ่มขึ้นเราจะรู้สึกหงุดหงิดและมีการตัดสินใจต่างๆ ที่แย่ลง วิธีแก้ไขที่ดีสำหรับสถานการณ์นี้คือการรู้เท่าทันตัวเองและหมั่นจิบน้ำเยอะๆ เพื่อเป็นการลดอุณหภูมิของร่างกายและทำให้จิตใจเย็นลง  
 
 ‘อากาศร้อน’ หนึ่งในตัวการที่ทำให้ผู้คนขาดความฉลาดทางด้านอารมณ์และลดทอนความสามารถในการคิดของสมอง เนื่องจากความร้อนสามารถส่งผลรบกวนจิตใจและการทำงานของร่างกายได้ ซึ่งสำหรับพวกเราที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยที่มีอากาศร้อนเกือบทั้งปี นี่อาจเป็น ‘เหตุผล’ ว่าทำไมเราถึงมักหงุดหงิดกันง่าย และอาจเป็น ‘ข้ออ้าง’ ได้หากมีใครมาหาว่าไม่ฉลาด รับรองว่าหากอธิบายด้วยข้อมูลจากบทความนี้เขาจะมองว่าคุณกลายเป็นคนฉลาดแน่นอน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์