ไม่ใช่ SAW ภาคใหม่ !! พบกับการผ่าตัดสุดประหลาด ที่นำเอา “ฟัน” ไปใส่ใน “ดวงตา”

25 ตุลาคม 2566 - 08:12

Tooth-In-Eye-Surgery-SPACEBAR-Hero.jpg
  • โหมโรงเรื่องราวแปลกๆ ก่อนเข้าสัปดาห์ฮาโลวีน ด้วยเรื่องราวการผ่าตัดสุดประหลาดที่มีชื่อเรียกว่า "tooth in eye surgery" หรือแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่าการผ่าตัด “ฟัน” ใส่ใน “ลูกตา”

  • การผ่าตัดนี้มีขึ้นเพื่ออะไร ? ขั้นตอนจะสยดสยองขนาดไหน ติดตามได้ที่นี่

การผ่าตัดนี้ถูกพัฒนาขึ้นครั้งแรกในช่วง ค.ศ. 1960 ที่กรุงโรม โดยศัลยแพทย์ทางด้านจักษุนามว่า ศาสตราจารย์ เบเนเดตโต สแตรมเปลลี่ ได้คิดค้นขั้นตอนการผ่าตัดรักษาดวงตาที่ไม่สามารถใช้วิธีผ่าตัดทั่วไปได้ผล อาทิ ดวงตาได้รับความเสียหายมาก หรือผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือเป็นผู้ป่วยที่ประสบกับการปลูกถ่ายกระจกตาล้มเหลวมาหลายครั้ง 

และเหตุผลที่ต้องใช้ฟันก็เพราะ เนื้อเยื่อบางส่วนของตัวฟันสามารถลำเลียงเลือดไปยังดวงตาได้อย่างคงที่และมั่นคง โดยจะนิยมใช้ฟันซี่เดียวอาทิ ฟันเขี้ยว ด้วยปัจจัยด้านขนาดที่เหมาะสม 

โดยขั้นตอนการผ่าตัดจะเริ่มต้นดังนี้

-ผ่าตัดนำพื้นผิวด้านในของเปลือกตา พื้นผิวกระจกตา และเนื้อเยื่อแผลเป็นทั้งหมดออก 

-นำเยื่อบุชั้นในของแก้มปลูกถ่ายลงบนพื้นผิวใหม่ของดวงตา 

-ขั้นตอนต่อมาคือการถอนฟันที่ต้องการใช้ออก ก่อนจะสลักกลุ่มกระดูกฟัน ก่อนจะประกอบมันเข้ากับกระบอกแสงพลาสติก 

-เมื่อได้ขนาดที่ต้องการก็จัดการปลูกถ่ายตัวลำเลียงที่ทำจากฟันนี้ ฝังเข้าไปในแก้มของผู้ป่วยเพื่อสร้างการลำเลียงเลือดใหม่ขึ้นภายในตัวกระบอกที่ทำจากฟัน เมื่อจบขั้นตอนนี้ผู้ป่วยจะต้องรอเวลา 4 เดือนเพื่อรอให้การปลูกถ่ายเสร็จสิ้นก่อนมารับการผ่าตัดอีกครั้ง 

-เมื่อครบเวลาการผ่าตัดอีกครั้ง แพทย์ก็จะผ่าตัดเพื่อนำตัวกระบอกฟันออกจากแก้ม เผื่อนำมาสอดเข้าไปในดวงตาแทนที่เยื่อบุแก้มเดิมที่ปลูกถ่ายไว้บนผิวดวงตา ซึ่งถ้าการผ่าตัดสำเร็จก็จะทำให้แสงผ่านเข้ามายังกระบอกพลาสติกดังกล่าวและทำให้สายตาของผู้ป่วยกลับมามองเห็นได้ดีอีกครั้ง

ซึ่งข้อดีของการผ่าตัดนี้คือเปรียบเสมือนความหวังสุดท้ายในการรักษาการมองเห็นของผู้ป่วยบางประเภทดังที่กล่าวไปข้างต้น สามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อีกครั้ง เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ต่างจากการผ่าตัดดวงตาแบบอื่น นอกจากนี้ยังมีอัตราสำเร็จสูงถึง 93.9%

ส่วนข้อจำกัดของการผ่าตัดชนิดดังกล่าว คือต้องใช้ศัลยแพทย์เฉพาะทางที่ประสบการณ์สูงเนื่องจากขั้นตอนมีความซับซ้อนมาก และมีความสุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากเนื้อฟันที่ไม่ดีพอ นอกจากนี้ดวงตาของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดจะมีความปกติที่สังเกตุเห็นได้จากภายนอก อาจส่งผลต่อความมั่นใจของผู้ป่วยได้ ที่สำคัญคือการดูแลรักษาพักฟื้นหลังการผ่าตัดที่ทั้งยาวนานและมีขั้นตอนสลับซับซ้อนไม่น้อย ซึ่งจากข้อจำกัดที่มากมายขนาดนี้ ก็ต้องย้ำกันอีกทีว่าการผ่าตัด tooth in eye surgery จะถูกนำมาใช้จริงก็ต่อเมื่อไม่มีการผ่าตัดใดๆ ที่จะสามารถใช้กับผู้ป่วยได้แล้ว เปรียบเสมือนความหวังสุดท้ายที่จะทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ในสภาวะพิเศษกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์