“กฎหมายอากาศสะอาด” ความหวังคืนอากาศบริสุทธิ์ของคนไทยไปถึงไหนแล้ว?

4 พ.ย. 2567 - 09:15

  • ความหวังได้ใช้ “กฎหมายอากาศสะอาด” ของไทยใกล้ความจริง หลังคณะกรรมาธิการผ่านการประชุม 114 ครั้ง เพื่อแปรญัตติและปรับปรุงเนื้อหา

  • ทำไมต้องมีกฎหมายอากาศสะอาด และสาระสำคัญ

  • ไทม์ไลน์ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ล่าสุดเตรียมเข้าสภาฯ วาระ 2 ปลาย ธ.ค.ปีนี้ คาดใช้จริงปี 2568

update-clean-air-act-thailand-2567-SPACEBAR-Hero.png

กฎหมายอากาศสะอาด หรือชื่อเต็มคือ พระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... คือหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี ด้วยการป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาวะ รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี 

พ.ร.บ.อากาศสะอาด ล่าสุด 

ความคืบหน้าล่าสุด เกี่ยวกับพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... ภายหลังที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ มีการตั้งอนุกรรมาธิการ 2 ชุด และมีการประชุมเรื่อยมาตั้งแต่ ม.ค.-ต.ค. 2567 รวมทั้งหมด 114 ครั้ง เพื่อแปรญัตติและปรับปรุงเนื้อหา 

ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 30 ต.ค. 2567) คณะกรรมาธิการวิสามัญแถลงความคืบหน้าขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้ อนุกรรมาธิการทั้ง 2 ชุด จะประชุมร่วมกันและส่งงานให้กับกรรมาธิการเพื่อพิจารณา โดยจะมีการแปรญัตติ และเปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์ของสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงกลางเดือน ธ.ค.2567

update-clean-air-act-thailand-2567-SPACEBAR-Photo_SQ01.png

ทำไมต้องมีกฎหมายอากาศสะอาด 

 เนื่องจากปัญหาด้านมลพิษทางอากาศเป็นภัยคุกคามสุขภาพของประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก เป็นปัจจัยเร่งให้มีการผลิต การบริโภค และการเดินทางเพิ่มมากขึ้น  

สำหรับประเทศไทยปัญหามลพิษทางอากาศส่วนใหญ่เกิดจากกระบวนการผลิต ทั้งในภาคการเกษตร เช่น การเผาอ้อยก่อนตัด การเผาตอซังในไร่ข้าวโพดและนาข้าว การเผาเพื่อบุกรุกพื้นที่ป่า และภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งสาเหตุจากพฤติกรรมและกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเดินทางโดยพาหนะต่างๆ ที่ก่อให้เกิดควันไอเสีย การเผาขยะ ตลอดจนสาเหตุจากธรรมชาติ เช่น ไฟป่า ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่เผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศมาอย่างต่อเนื่องและได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562  

ผลกระทบด้านสุขภาพ 

มลพิษทางอากาศที่ครอบคลุมทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดต่างๆ ในทุกภูมิภาค ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน และมีบางช่วงที่ระดับค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงในขั้นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกับเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 

 จากข้อมูลเฝ้าระวังโรคของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2566 พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศกว่า 1,700,000 ราย โดยกลุ่มโรคที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ และตาอักเสบ ในขณะที่ข้อมูลของระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข ที่เก็บข้อมูลจากเขตสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ ล่าสุดพบว่า เฉพาะปี 2567 (เดือน ม.ค.-พ.ค.) มีผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศรวมกว่า 4,400,000 คน โดยเฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ 8 จังหวัดภาคตะวันตก และ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือโซนใต้ ที่มีผู้ป่วยมากกว่า 400,000 คน 

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ 

นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทั้งในด้านงบประมาณในการบรรเทาฟื้นฟู ซ่อมแซมความเสียหายต่างๆ ที่เกิดจากผลกระทบของมลพิษทางอากาศ และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รวมถึงความเสียหายต่อธุรกิจการท่องเที่ยว อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

update-clean-air-act-thailand-2567-SPACEBAR-Photo-V01.png

สรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด 

จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … กล่าวถึงสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ว่า เนื่องจากกฎหมายที่ผ่านเข้าสู่สภาฯ ทั้ง 7 ฉบับ มี 5 ฉบับของพรรคการเมือง 1 ฉบับของคณะรัฐมนตรี และ 1 ฉบับของภาคประชาชน ดังนั้นการทำงานของกรรมาธิการต้องรวมสาระสำคัญของทุกฉบับเป็นร่างที่สมบูรณ์และครบถ้วนที่สุด โดยยอมรับว่ามีความยากและท้าทายในบางประเด็น ทำให้การพิจารณาทำอย่างเข้มข้นเพื่อให้ครอบคลุมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านสิทธิและหน้าที่ของทั้งภาคประชาชนและภาครัฐ โดยออกแบบให้มีรายละเอียดเรื่องของการบริหารจัดการ ตั้งแต่คณะกรรมการระดับชาติไปจนถึงระดับท้องถิ่น มีเครื่องมือสำคัญที่จะนำมาใช้บริหารจัดการพื้นที่ที่หลากหลาย มีเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ มีบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญา ปรับทางพินัย มีการป้องกันและสร้างแรงจูงใจ ซึ่งทั้งหมดจะรวมอยู่ใน ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ฉบับนี้  

นานแค่ไหนกว่าร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด จะประกาศใช้ 

หลังการมีส่วนร่วมของประชาชน จากนั้นจะมีการเสนอร่างกฎหมายให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในเดือนเดียวกัน เพื่อพิจารณาในวาระ 2 ซึ่งหากวุฒิสภามีข้อแก้ไขและสภาฯ ไม่เห็นด้วย ต้องตั้งกรรมาธิการร่วม ในท้ายที่สุด หากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบโดยไม่มีการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับนี้จะนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธย เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2568

ทั้งนี้ หาก พ.ร.บ.อากาศสะอาดของไทยฉบับนี้ได้ใช้จริง ก็นับเป็นของขวัญปีใหม่ที่คนไทยควรได้รับ เนื่องจากหากพิจารณาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) แล้วเรื่องนี้จะเชื่อมโยงกับ #SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี การลดจำนวนการตาย การป่วยจากสารเคมีอันตราย การปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน #SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน โดยรวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคุณภาพอากาศ และ #SDG13 ซึ่งเป็นแนวทางการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์