เจอมากับตัว: ทำไมรถไฟไทยถึงช้าจนเป็นเรื่องปกติ

19 ตุลาคม 2566 - 10:41

Why-Thailand-train-is-slow-SPACEBAR-Hero.jpg
  • แน่นอนว่าการเดินสู่จังหวัดต่างๆ บนแผ่นดินประเทศไทยหลักๆ ‘รถไฟ’ ที่ถือเป็นระบบขนส่งที่เคียงคู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และนิยมมากๆ เพราะราคาเริ่มต้นหลักร้อย

  • แต่ราคาถูกก็แลกด้วยเวลา และรถไฟไทยทำไมถึงช้าจนแทบจะถือว่ากลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว สาเหตุคืออะไร วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกันครับ

แน่นอนว่าการเดินสู่จังหวัดต่างๆ บนแผ่นดินประเทศไทยหลักๆ แล้วมีอยู่ไม่กี่วิธีนั่นก็คือ รถยนต์ ที่นับว่าสะดวกสบายในแง่ของความเป็นส่วนตัวที่สุด เพราะเรากำหนดเวลาของตัวเองได้ อยากแวะพักที่ไหนก็ได้ตามใจเรา อาจจะเหนื่อยหน่อยตรงต้องใช้ร่างกายในการขับรถ โดยเฉพาะถ้าขับไกลๆ ถัดมาก็คือ รถโดยสารไม่ว่าจะเป็น รถทัวร์ หรือ รถตู้ ที่ก็คล้ายๆ กับรถยนต์ เพียงแค่ไม่ได้ส่วนตัวเท่านั้นเอง ระยะเวลาไม่หนีกันมากนัก ราคาก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มีให้เลือกหลากหลาย ส่วนวิธีต่อมาก็คือ เครื่องบิน โดยอันนี้ถือว่าเป็นการเดินทางที่ประหยัดเวลามากที่สุด เพราะใช้เวลาไม่นาน จะเหนือสุดหรือใต้สุดของแผนที่ เต็มที่ก็ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง แถมยังมีโปรตั๋วราคาถูกออกมาเรื่อยๆ ทำให้วิธีนี้คนก็ใช้บริการกันไม่น้อย 

และสุดท้ายคือ รถไฟ ที่ถือเป็นระบบขนส่งที่เคียงคู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งก็ขึ้นชื่อในเรื่องของความไม่ตรงเวลาที่มีให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ แต่ถึงอย่างนั้นนี่ก็ยังเป็นวิธีการเดินทางที่ไม่เคยมีความนิยมลดน้อยลงเลย ด้วยราคาที่ถูก สตาร์ทที่หลักร้อยต้นๆ ไปจนถึงหลักพัน คนทุกระดับสามารถใช้ได้ แต่อย่างที่บอกก็คือราคาถูกก็แลกด้วยเวลา และรถไฟไทยทำไมถึงช้าจนแทบจะถือว่ากลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว สาเหตุคืออะไร วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกันครับ

ขบวนรถที่เก่า ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควรจะเป็น

Why-Thailand-train-is-slow-SPACEBAR-Photo02.jpg

ปัญหาแรกเลยคือ ขบวนรถไฟที่เก่า และไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควรจะเป็น โดยตรงนี้ต้องยอมรับว่าบ้านเราไม่ได้ลงทุนเรื่องระบบขนส่งทางรางเป็นหลัก แต่ให้ความสำคัญกับระบบล้อมากกว่า เพิ่งจะมาเริ่มพัฒนาในช่วงหลังๆ ที่จะทำรถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟระบบรางคู่ ทำให้ไม่มีงบประมาณลงมาในส่วนนี้มากเท่ากับระบบอื่น บวกกับความนิยมที่คนหันไปใช้บริการวิธีอื่น รายได้ก็เลยน้อยลงไปด้วย ขาดทุนอยู่ตลอดเวลา สวนทางกับค่าบำรุงรักษาที่มีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงมากๆ ทั้งในเรื่องอุปกรณ์, ค่าตอบแทนพนักงาน และ การแบกภาระเงินทุนในหลายๆ อย่าง เช่น ระบบราง, ระบบเดินรถ, อาคารสถานที่ และ ตัวขบวนรถ ไม่เหมือนกับระบบขนส่งอื่นๆ นั่นเอง อย่างตัวขบวนรถที่เก่าวิ่งได้เต็มที่เร็วสุดก็ 120 กม./ชม. เท่านั้น

ส่วนใหญ่ยังเป็นระบบรางเดี่ยว

ข้อถัดมาก็คือ เส้นทางรถไฟส่วนใหญ่ในไทยยังเป็นระบบ ‘รางเดี่ยว’ อยู่ ส่วนนี้สำคัญมากๆ เพราะลองนึกดูว่า ขบวนรถไฟของไทยมักจะมีช่วงเวลาที่เดินทางออกจากต้นทางในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน ทำให้เมื่อถึงช่วงหนึ่ง การจราจรจะแออัดมากๆ บวกกับระบบรางที่ยังไม่มี ‘รางคู่’ โดยเฉพาะในสายใต้ที่มักจะล่าช้าอยู่เสมอ เมื่อมีขบวนรถมาพร้อมกัน ขบวนหนึ่งก็จะต้องจอดรอ เพื่อหลีกทางให้ขบวนอื่นไปก่อน อย่างเช่น ขบวนรถเร็ว จะต้องหลีกทางให้ ขบวนรถด่วน หรือ ด่วนพิเศษ ก่อนเสมอ เลยทำให้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความล่าช้าขึ้น

สภาพราง และจุดตัดที่ไม่ใช่ระบบปิด

Why-Thailand-train-is-slow-SPACEBAR-Photo03.jpg

ประเด็นสุดท้ายที่เราเห็นว่าก็สำคัญไม่แพ้กัน และมีผลกับเรื่องเวลามากๆ ก็คือ สภาพรางที่ไม่สมบูรณ์เท่าไหร่ บวกกับจุดตัดรถไฟในบ้านเราที่มีเยอะมากๆ ทั้งจุดตัดที่มีอยู่แล้ว รวมไปถึง ‘ทางลักผ่าน’ ที่บางทีชาวบ้านทำกันเอง ซึ่งแน่นอนว่ามันจะไม่มีที่กั้น คอยให้สัญญาณว่ารถไฟกำลังจะมา ด้วยเหตุผลที่เราบอกมานี้ก็ทำให้ รถไฟจะใช้ความเร็วได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากต้องคำนึงถึงความปลอดภัยมาก่อนเป็นหลัก บางขบวนทำความเร็วได้ 100-120 กม./ชม. แต่วิ่งจริงๆ ทำได้แค่ 60-90 กม./ชม. เท่านั้น ต่อให้ในอนาคตมีรถไฟความเร็วสูงที่สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 160 กม./ชม. เมื่อมันมีทางตัดเยอะ ยังไงก็ทำความเร็วได้ไม่ถึงระดับนั้น เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาก็จะสร้างความเสียหายเยอะแน่นอน นี่ยังไม่นับเรื่องสภาพอากาศเลวร้ายอย่างฝนตกหนักอีก ที่จะทำให้รถต้องวิ่งช้าลง หรือเกิดน้ำท่วมรางจนไม่สามารถเดินรถได้

และเมื่อไปเปรียบเทียบกับประเทศที่การขนส่งระบบรางเจริญมากๆ อย่าง ‘ญี่ปุ่น’ ที่เขาให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเป็นลำดับแรกๆ จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่บ้านเขาจะเป็นระบบปิดเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีถนนตัดผ่านเยอะเหมือนบ้านเรา หรือถ้ามีจริงๆ ก็จะมีไม้กั้นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุเสมอ ในขณะที่ตัดภาพมาประเทศไทยยังมองว่า ‘ตลาดร่มหุบ’ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอยู่เลย ทั้งๆ ที่มันไม่มีความปลอดภัยเลยแม้แต่นิดเดียว ยังไม่นับความสะอาดเรื่องของขายที่วางอยู่ริมรางรถไฟตอนรถไฟวิ่งผ่านอีกต่างหาก

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์