วันที่ 16 ตุลาคม “วันอาหารโลก” หรือ World Food Day กำหนดโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) นับตั้งแต่ปี 1945 ซึ่งเป็นปีที่ก่อตั้ง FAO เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของอาหารและการเกษตร รวมถึงปัญหาความอดอยากและความหิวโหย
“Right to foods for a better life and a better future.”
คำขวัญวันอาหารโลก 2024 สื่อถึงเรื่องสิทธิในอาหาร เพื่อชีวิตและอนาคตที่ดีกว่า
สิทธิในอาหาร...ความ “ไม่เท่าเทียม” ที่กระทบ SDGs ทุกมิติ
ในความเป็นจริงแล้ว อาหารมีเพียงพอสำหรับทุกคน แต่ปัญหาคือเพื่อนร่วมโลกราว 8,000 ล้านคน เข้าถึงอาหาร “ไม่เท่าเทียม” กัน เพราะปัจจัยหลายด้าน
จากข้อมูลรายงานวิกฤตการณ์อาหารโลก ปี 2024 (Global Report on Food Crisis :GRFC 2024) พบว่าประชากรเกือบ 282 ล้านคน ใน 59 ประเทศ เผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร ทั้งความอดอยาก หิวโหย และการเข้าไม่ถึงอาหารตามหลักโภชนาการ เพราะ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
- สงคราม/ความขัดแย้ง : เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้คนกว่า 134.5 ล้านคน ใน 20 ประเทศ ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร
- สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว : ส่งผลให้กว่า 71.9 ล้านคน ใน 18 ประเทศ ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร เพิ่มขึ้นจากในปีก่อนหน้าอีก 4 ประเทศ มากกว่า 15.1 ล้านคน ขณะที่ปี 2023 โลกได้เผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมรุนแรง พายุ ความแห้งแล้ง ไฟป่า โรคและการระบาดของศัตรูพืช
- ผลกระทบทางเศรษฐกิจ : ส่งผลให้ผู้คนกว่า 75.2 ล้านคน ใน 21 ประเทศ ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหาร เนื่องจากการพึ่งพาอาหารนำเข้า และปัจจัยการผลิตทางการเกษตร รวมถึงปัญหาค่าเงินอ่อน สินค้ามีราคาสูง และภาวะหนี้สูง
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและผลกระทบทางเศรษฐกิจ ยังส่งผลให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี กว่า 36 ล้านคน ใน 32 ประเทศขาดสารอาหารจนเกิดภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งจำนวนกว่า 2 ใน 3 อยู่ในทวีปเอเชีย ในจำนวนนี้มีเด็กไทยที่มีภาวะผอมโซ 5–10% แม้อยู่ในระดับปานกลางไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ก็สะท้อนว่ายังมีกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารตามหลักโภชนาการ หรือขาดความรู้ความเข้าใจด้านโภชนาการตามช่วงวัย
สถิติอาหารเหลือทิ้งทั่วโลก
ในขณะที่ทั่วโลกเกิดวิกฤตด้านอาหาร เกิดความอดอยาก แต่รายงาน Food Waste Index Report 2024 กลับสวนทางอย่างไร้ความสมดุล โดยรายงานประเมินว่า ใน 1 วันมีอาหารเหลือทิ้งกว่า 1,000 ล้านมื้อ และปริมาณขยะอาหารมาจากในครัวเรือนเป็นสัดส่วนสูงสุด
ความไม่มั่นคงด้านอาหาร กระทบ SDGs ทั้ง 5 มิติ
เรื่องอาหารไม่ใช่แค่เรื่องของคน หรือปัญหาปากท้องแค่ระดับครัวเรือน แต่กระทบความยั่งยืนในทุกมิติ รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 5 มิติ ได้แก่ มิติสังคม (People) มิติเศรษฐกิจ (Prosperity) มิติสิ่งแวดล้อม (Planet) มิติสันติภาพและสถาบัน (Peace) และมิติหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership)
ปัญหาใหญ่ที่เรากังวลกันวินาทีนี้คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสร้างความเสียหายต่อห่วงโซ่อาหารมากน้อยเพียงใด?
เมื่อ “ความมั่นคงด้านอาหาร” กลายเป็นปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ด้านสำคัญ คือ
- Food Availability การมีอาหารเพียงพอ : มีอาหารคุณภาพในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งอาจได้มาจากการผลิตภายในประเทศ หรือการนำเข้า
- Food Access การเข้าถึงอาหาร : ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรภายใต้กฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศนั้น ให้ได้มาซึ่งอาหารที่มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ
- Food Utilization การใช้ประโยชน์จากอาหาร : มากกว่าการบริโภคอาหารเพื่อตอบสนองต่อความต้องการบริโภค คือการมีสุขภาพและสุขอนามัยที่ดี รวมถึงการมีน้ำดื่มที่สะอาดถูกสุขลักษณะอนามัย
- Food Stability การมีเสถียรภาพด้านอาหาร : คือทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้ตลอดเวลา ไม่มีความเสี่ยงเรื่องอาหารขาดแคลนจากวิกฤตใดๆ ไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจ วัฏจักรตามฤดูกาล หรือเพราะสภาพภูมิอากาศ
“ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า…”
ถ้าเรากินไม่เหลือทิ้ง สถิติคนอดอยากจะลดลงไหม?
เรื่องนี้น่าคิด เพราะมันดูไม่สมเหตุสมผลกันสักเท่าไหร่ ต่อให้เรากินไม่เหลือ หรือกินเหลือทิ้ง ในความเป็นจริงอีกซีกโลกที่กำลังหิวโหยก็ไม่ได้รับอาหารในส่วนนี้อยู่ดี!
ก็จริง แต่นั่นคือคำตอบแบบแค่ที่ตาเห็นตอนนี้ ซึ่งไม่ผ่านกระบวนการคิดในระยะยาว เพราะอาหารที่เรากินไม่หมด สุดท้ายแล้วจะต้องกลายเป็นขยะอย่างน้อย 17% และการเน่าเสียของมันก็ทำให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งส่งผลต่อภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า!! มีส่วนสร้างมลพิษถึง 8% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เราปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ พอโลกร้อนลามเป็นโลกเดือด เกิดสภาพสุดขั้ว ความแห้งแล้ง น้ำท่วม พายุ กลายเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ พืชผักผลไม้ไม่ออกตามฤดูงาน ผลเล็กลง โภชนาการต่ำลง มีกินน้อยลง ราคาแพงขึ้น คนเข้าถึงแหล่งอาหารได้ยากขึ้น เราต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินเพื่อซื้อผักผลไม้มากขึ้นก็จนลง เริ่มอดอยาก นี่ยังไม่นับคนที่อดอยากเป็นทุนเดิมอยู่แล้วที่จะยิ่งอดอยากมากขึ้นไปอีก
เพราะฉะนั้น คำตอบจริงๆ ของเรื่องนี้ก็คือ ถ้าเรากินเหลือทิ้ง สถิติคนอดอยากจะเพิ่มขึ้น (และเราอาจเป็นหนึ่งในนั้น)
ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะสื่อสารว่า เราทุกคนควรตระหนักถึงเรื่องของอาหาร กิจวัตรประจำที่ทำวันละ 3 มื้อ เดือนละ 90 มื้อ ปีละ 1,080 มื้อ เลิกบริโภคแบบสุดโต่ง ตามกระแสบริโภคนิยม (Consumerism) แล้วกลับมามีสติในการกิน กินแบบพอประมาณ ซื้อแบบพอดี ไม่เหลือทิ้งเป็นขยะ (Food waste) ใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานแห่งความพอเพียง และเตรียมส่งต่อโลกที่ยังน่าอยู่ให้คนรุ่นถัดไป พร้อมสิทธิในอาหาร เพื่อชีวิตและอนาคตที่ดีกว่า สอดคล้องกับคำขวัญวันอาหารโลก 2024 “Right to foods for a better life and a better future.”