ย้อนมาตรการ 20 ปี จัดระเบียบสังคม ‘วัยโจ๋’

23 ม.ค. 2567 - 08:46

  • หลัง 5 เยาวชน ก่อเหตุสลดในพื้นที่ จ.สระแก้ว ทำให้ ‘บิ๊กต่อ’ คุมเข้มสั่ง ‘เคอร์ฟิวเด็ก’ ในพื้นที่ แต่การจัดระเบียบสังคมของ ‘วัยโจ๋’ นั้นมีมานานกว่า 20 ปีแล้ว และทุกรัฐบาลพยายามปรับมาตรการให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกมาตลอด เราจะพาคุณไปย้อนเวลาตั้งแต่ยุครัฐบาลของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ จนกระทั่งปัจจุบันว่า ‘พวกเขา’ เคยมีนโยบายอย่างไรกันบ้าง

20-years-organize-youth-society-SPACEBAR-Hero.jpg

หากจะพูดถึง ‘เด็กและเยาวชน’ ทุกคนย่อมเข้าใจบริบทเป็นอย่างดีว่า ‘พวกเขา’ คืออนาคตที่สำคัญของประเทศชาติ แต่ระยะเวลาหลายปีระหว่างที่ ‘พวกเขา’ กำลังเติบโต ย่อมมีสิ่งล่อตาล่อใจให้เดินไขว้เขวไปในทางผิดมากมาย ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาตระหนักดีในเรื่องนี้ จึงพยายามสร้างมาตรการรอบด้าน หวังให้ ‘พวกเขา’ เติบโตอย่างมีคุณภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ย้อนไปตั้งแต่ 20 กว่าปีที่แล้ว หลายคนรู้จักชื่อนี้เป็นอย่างดี ‘ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์’ เจ้าของฉายา ‘มือปราบสายเดี่ยว’ เมื่อปี 2544 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในยุคของนายกรัฐมนตรีชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ สร้างผลงานสำคัญในการจัดระเบียบสังคม เข้มงวดกับสถานบริการ โดยกำหนดให้สถานบริการและร้านเหล้าเหล่านี้ ปิดตี 2 ทั่วประเทศ พร้อมออกตรวจด้วยตัวเองยามค่ำคืน ด้วยความที่เป็นคนตรงไปตรงมาในแบบฉบับ ‘มิสเตอร์ไม้บรรทัด’ จึงจัดหนักกับสถานบันเทิงยามราตรีที่ไม่ใช่แค่ผับบาร์ แต่ยังรวมไปถึงร้านคาราโอเกะเล็กๆ ตามตรอกซอกซอยต่างๆ เล่นเอาเป็นที่หวั่นเกรงของบรรดานักท่องเที่ยววัยโจ๋ จนเข็ดขยาดไม่กล้าปาร์ตี้ยันสว่างเหมือนเคย

ถัดมาอีก 10 ปี ในยุคสมัยของนายกรัฐมนตรีชื่อ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย เมื่อรัฐบาลในขณะนั้นออกมาตรการ ‘เคอร์ฟิวเด็ก’ ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีออกนอกบ้านเกิน 22.00 น. ตาม ‘มาตรการพิทักษ์ปกป้องเด็กและเยาวชน’ หวังลดปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด ซึ่งหากพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ออกนอกบ้านหลัง 22.00 น. โดยไม่มีเหตุอันควร จะให้ควบคุมตัวไปทำประวัติที่ สน. ก่อนเรียกผู้ปกครองรับตัวกลับบ้าน แต่ก็มีข้อห่วงใยจากหลายฝ่ายว่า จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วน นำมาตรการนี้มาแสวงหาผลประโยชน์และยัดเยียดข้อหาหรือไม่? ในขณะนั้นจึงกลายเป็นข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง แต่รัฐบาลก็ยืนยันว่า ไม่ละเมิดสิทธิเด็ก แค่ป้องกันไม่ให้เด็กอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมเท่านั้น

info-เด็กช่าง.jpg

ต่อมาในปี 2558 ยุคสมัยหลังรัฐประหาร ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้ ‘ยาแรง’ ด้วยการงัดมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในขณะนั้น มาแก้ไขปัญหา ‘เด็กแว้น’ ที่ชอบแข่งรถบนท้องถนน รวมถึงคุมเข้มการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษา โดยออกประกาศเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. กำหนดห้ามมั่วสุมแข่งรถบนถนน ฝ่าฝืนกฎจราจร โดยพ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแลและยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็ก หากพบเด็กและเยาวชนกระทำผิดจะต้องวางเงินประกัน และหากทำผิดซ้ำอีก ‘ผู้ปกครอง’ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และริบเงินประกันเป็นของกองทุนคุ้มครองเด็ก

นอกจากนี้ ยุค ‘ลุงตู่’ ยังสาวไปถึงคนที่ดัดแปลงสภาพรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เตรียมไว้เพื่อการแข่งขันที่มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000-30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตลอดจนสั่งปิดกิจการและเพิกถอนใบอนุญาต 

‘ลุงตู่’ ยังคงเข้มสถานประกอบการ โดยสั่งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืน เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งปิดและไม่ให้เปิดอีกนานกว่า 5 ปีได้ รวมถึงหากพบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษาก็จะถูกสั่งปิดทันที!

แต่หลังจากที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทุกประเทศรวมถึงบ้านเราต้องหาวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับคืนมา และหนึ่งในนั้นคือ มาตรการการขยายเวลาปิดผับไปถึงตี 4 ที่เริ่มขึ้นได้จริงในยุคสมัยของ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คนปัจจุบัน แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องอยู่ในขอบข่าย เพื่อให้การจัดระเบียบสังคมยังเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย รัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ จึงนำร่องขยายเวลาแค่ 4 จังหวัดไปก่อน ได้แก่ กทม. ชลบุรี เชียงใหม่ และภูเก็ต โดยแต่ละจังหวัดจะจัดเป็นโซนนิ่งที่อนุญาตให้เปิดถึงตี 4 เท่านั้น ไม่ใช่ทั่วทั้งจังหวัด และแน่นอนว่า เจ้าของสถานประกอบการจะต้องคุมเข้ม ห้ามเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าไปใช้บริการและห้ามใช้ยาเสพติดเด็ดขาด! โดยที่ ‘เจ้ากระทรวงมหาดไทย’ ออกลุยตรวจผับด้วยตัวเองเป็นระยะ

แต่หลังจากเริ่มต้นปี 2567 มาไม่ได้นาน กลับเกิดเหตุสลด เมื่อ 5 เยาวชน ทำร้ายร่างกาย ‘ป้ากบ’ บัวผัน ตันสุ จนเสียชีวิตในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระบุรี สร้างความสะเทือนใจให้กับคนทั้งประเทศ จนสังคมเกิดคำถามเรื่องข้อกฎหมายในการดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชน รวมถึงการดูแลพฤติกรรมของเด็กในสมัยนี้ ทำให้ ‘บิ๊กต่อ’ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ถึงขั้นสั่งระดมกวาดล้างกลุ่มแก๊งเยาวชนกวนเมืองทั่วประเทศให้ลดลงภายใน 1 เดือน ส่วนในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว มอบหมายให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้วกวาดล้าง จัดทำประวัติและพฤติกรรมของแก๊งเยาวชนในพื้นที่ทั้งหมด ที่สำคัญคือ สั่ง ‘เคอร์ฟิวเด็ก 10-15 ปี’ ห้ามออกนอกบ้านหลัง 22.00 น. โดยไม่มีผู้ปกครองมาด้วย หากพบ จะเชิญมาทำประวัติและสอบถามผู้ปกครองทันที

แต่นี่อาจเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเพื่อป้องกันเหตุ ทำให้ ‘ธวัชชัย ไทยเขียว’ กรรมการพิทักษ์คุณธรรมข้าราชการตำรวจ และอดีตกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ออกมาเสนอหนทางแก้ปัญหาเด็กก่อคดีรุนแรง โดยยกเคส ‘เคอร์ฟิวเด็ก’ ในสหรัฐอเมริกามาเป็นกรณีศึกษา อย่าง ในรัฐ New Orleans, Atlanta และ Washington D.C. ที่กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี ต้องเข้าบ้านก่อนเวลา 23.00 น. หากฝ่าฝืนจะถูกควบคุมตัว และกรณีที่พบว่า ผู้ปกครองมีส่วนสนับสนุนให้เด็กละเมิดเคอร์ฟิวก็จะถูกปรับและทำงานบริการสังคมด้วย โดย ‘ธวัชชัย’ เชื่อว่า สามารถอาศัย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ทำได้ทันที และมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นเจ้าภาพ 

เป็นเรื่องปกติ ที่มาตรการจัดระเบียบสังคม ‘วัยโจ๋’ จะต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยอยู่แล้ว เพราะเด็กและเยาวชนเกิดและเติบโตในทุกๆ ปี ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ผู้ใหญ่อย่างเราจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลและมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับ ‘อนาคตของชาติ’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์