สิทธิ ‘30 บาทพลัส’ ได้มากกว่า ประกันสังคม?

9 ม.ค. 2567 - 07:45

  • นโยบาย ‘30 บาทพลัส’ ของรัฐบาล เป็นประโยชน์ไม่น้อยสำหรับประชาชนคนไทย ด้วยสิทธิการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมและเข้าถึงมากขึ้น แต่ก็ทำให้เกิดคำถามในกลุ่มคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมว่า สุดท้ายแล้วพวกเขาที่จ่ายเงินเข้ากองทุนทุกเดือน กลับได้รับสิทธิรักษาพยาบาลน้อยกว่าหรือไม่?

30Baht-plus-right-more-social-security-SPACEBAR-Hero.jpg

Kick off ไปแล้ว กับนโยบาย ‘30 บาทพลัส’ นำร่องพร้อมกัน 4 จังหวัด ‘ร้อยเอ็ด แพร่ เพชรบุรี นราธิวาส’ พลิกโฉม ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ สู่นโยบาย ‘30 บาท รักษาทุกที่’ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพได้สะดวก รวดเร็ว ทั้งโรงพยาบาลรัฐ เอกชน คลินิก แล็บ และร้านยาใกล้บ้าน ซึ่ง ‘30 บาทพลัส’ ขยายสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นมากมาย ภายใต้เป้าหมายให้ครอบคลุมประชาชนมากที่สุด เริ่มตั้งแต่

  • การนัดคิวแพทย์ ที่สามารถ นัดคิวออนไลน์ เลือกเวลาพบแพทย์ล่วงหน้าได้ผ่านแอพหรือ LINE ของ ‘หมอพร้อม’ ไม่ต้องเสียเวลารอตรวจที่โรงพยาบาลทั้งวันอีกต่อไป  
  • รักษาได้ทุกโรงพยาบาลรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนในเครือ ซึ่งข้อมูลสุขภาพจะถูกเก็บอยู่ในระบบ Cloud ผ่านระบบ HealthID สามารถส่งตัวรักษาต่อได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว หรือใช้บัตรประชาชนใบเดียว Walk-in เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลก็ได้เช่นกัน  
  • เมื่อตรวจรักษาเสร็จแล้ว สามารถกลับบ้านได้ทันที โดยมีใบสั่งยาดิจิทัล (e-prescription) ที่ให้รับยา ณ ร้านขายยาใกล้บ้าน หรือรับทางไปรษณีย์ ได้   
  • ตรวจเลือดใกล้บ้านที่แล็บหรือคลินิกเครือข่ายใกล้บ้าน ช่วยให้เดินทางสะดวกมากขึ้น เนื่องจากโรงพยาบาลรักษาสามารถออกใบสั่งแล็บดิจิทัล (e-Lab order) โดยข้อมูลจะเชื่อมโยงกับหน่วยบริการสุขภาพอื่น  
  • ตรวจรักษากับแพทย์ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ Telemedicine ผ่านแอป ‘หมอพร้อม’ สำหรับผู้ป่วยที่มีประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว

อีกหนึ่งสิทธิประโยชน์ที่หลายคนให้ความสนใจของ  ‘30 บาทพลัส’ คือ การรักษามะเร็งครบวงจร ที่เริ่มตั้งแต่การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเด็ก การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม ซึ่งหากตรวจพบ ผู้ป่วยจะถูกส่งต่อเข้าสู่การรักษาที่มีข้อมูลเชื่อมต่อกัน ทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากแต่เดิมที่ ‘ผู้ป่วยโรคมะเร็ง’ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ ‘บัตรทอง 30 บาท’ สามารถรักษามะเร็งได้ทุกที่อยู่แล้ว แต่ ‘30 บาทพลัส’ ขยายการดูแลโรคมะเร็งให้ครบวงจรมากกว่าเดิม เริ่มตั้งแต่ การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้กับผู้หญิงตั้งแต่อายุ 11-20 ปี 

แล้วสิทธิประกันสังคมได้รับการรักษาเท่าเทียมกันหรือไม่?

แน่นอนว่า ต้องเกิดคำถามกับผู้ที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในทุกๆ เดือน ตั้งแต่การรักษาพยาบาล ที่ต้องใช้กับโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกสิทธิไว้เท่านั้น เว้นแต่กรณีฉุกเฉิน ขณะที่การรักษาโรคร้ายอย่างโรคมะเร็ง สำหรับ ‘30 บาทพลัส’ ก็ยังได้ขยายครอบคลุมแบบครบวงจร แต่ ‘สิทธิประกันสังคม’ กลับครอบคลุมโรคมะเร็งเพียง 20 ชนิดเท่านั้น ได้แก่

  1. มะเร็งเต้านม 
  2. มะเร็งปากมดลูก 
  3. มะเร็งรังไข่ 
  4. มะเร็งมดลูก 
  5. มะเร็งโพรงหลังจมูก 
  6. มะเร็งปอด 
  7. มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ใหญ่ตรง 
  8. มะเร็งหลอดอาหาร 
  9. มะเร็งตับและท่อน้ำดี 
  10. มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ 
  11. มะเร็งต่อมลูกหมาก 
  12. มะเร็งกระเพาะอาหาร 
  13. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบลิมฟอยด์ในผู้ใหญ่ 
  14. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในผู้ใหญ่ 
  15. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันชนิดมัยอีลอยด์ในผู้ใหญ่ 
  16. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันในผู้ใหญ่แบบ Acute Promyelocytic leukemia (APL) 
  17. มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์ในผู้ใหญ่ 
  18. มะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอีโลมาในผู้ใหญ่ 
  19. มะเร็งกระดูกชนิด Osteosarcoma ในผู้ใหญ่ 
  20. โรคมะเร็งเด็ก

แม้ ‘หมอเลี๊ยบ’ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ จะยอมรับว่า ‘สิทธิ 30 บาท’ ในบางด้าน อาจจะมีสิทธิ์ที่ดีกว่าคนในระบบประกันสังคม แต่ก็ย้ำว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามแก้ปัญหาในเรื่องนี้เป้าหมายสุดท้าย คือ ทั้ง 3 สิทธิ ได้แก่ บัตรทอง 30 บาท ประกันสังคม และข้าราชการ ต้องได้คุณภาพมาตรฐานในการรักษาพยาบาลเหมือนกัน

จ่ายเงินสมทบทุกเดือน แต่ทำไมได้สิทธิน้อยกว่า?

คำถามนี้ต้องเกิดขึ้นแน่นอนอยู่แล้ว แต่หากมองแง่บวกในมิติที่กว้างขึ้น ต้องอย่าลืมว่า ‘กองทุนประกันสังคม’ ไม่ได้มีแค่ ‘กรณีเจ็บป่วย’ ของผู้ประกันตนเท่านั้น แต่ยังมีกรณีเหล่านี้อีกมากมาย ได้แก่

  • กรณีคลอดบุตร จะได้รับเงินค่าคลอดบุตร ทั้งผู้ประกันตนหญิงและชาย รวมถึงได้รับเงินสงเคราะห์หยุดงานเพื่อคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย
  • กรณีทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้
  • กรณีเสียชีวิต จะได้รับเงินสงเคราะห์และค่าทำศพ 
  • กรณีชราภาพ จะได้รับเงินบำนาญชราภาพรายเดือน หรือเงินบำเหน็จชราภาพ ที่ไว้ใช้จ่ายในชีวิตบั้นปลายหลังเกษียณ
  • กรณีสงเคราะห์บุตร จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรต่อเดือน
  • กรณีว่างงาน ทั้งการถูกเลิกจ้าง การลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง และการว่างานจากเหตุสุดวิสัย จะได้รับเงินทดแทนในช่วงว่างงานตามที่กำหนด

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกันตนยังสามารถนำเงินสมทบที่เราจ่ายทุกเดือนมาคำนวณเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีอีกด้วย

ดังนั้น หากจะสรุปว่า สิทธิ ‘30 บาทพลัส’ ได้มากกว่า ‘ประกันสังคม’ อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมดนัก เพราะยังมีอีกหลายสิทธิที่ ‘30 บาทพลัส’ ไม่ได้รับ แต่เมื่อขึ้นชื่อว่า เป็นผู้จ่ายเงินทุกเดือนแล้วก็ย่อมต้องการสิทธิการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมและเป็นธรรมเช่นเดียวกับสิทธิการรักษาขั้นพื้นฐานของคนไทย 

หลังจากนี้คงต้องเกาะติดกันอย่างใกล้ชิดว่า จะเป็นไปได้หรือไม่? ที่รัฐบาลจะปรับมาตรการ เพื่อให้ทั้ง 3 กองทุนได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกันเสียที

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์