สำหรับ ‘บทลงโทษ’ ที่บรรดา ‘นักเลือกตั้ง’ ต่างพากันหวาดกลัวในเวลานี้ หนีไม่พ้นข้อกฎหมายว่าด้วยเรื่อง ‘มาตรฐานจริยธรรม’ ของนักการเมือง ที่บัญญัติไว้ใน รธน.60 มาตรา 235 (1) ที่ระบุว่า “ถ้าเป็นกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย” ที่มีโทษถึงขั้นเพิกถอนสิทธิทางการเมืองตลอดไป ที่เปรียนกันว่าเท่ากับเป็นการ ‘ประหารชีวิต’ ในทางการเมือง อีกทั้งยังมีทษการเพิกถอนสิทธิในการเลือกตั้ง 10 ปีด้วย
ล่าสุด ศาลฎีกาสั่งตัดสิทธิ ‘ช่อ พรรณิการ์ วานิช’ อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ ห้ามลงสมัครเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งการเมืองตลอดไป จากความผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง หลังโดนร้องกรณีโพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊กพาดพิงสถาบัน ต่อมา ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิด ยื่นฟ้องต่อศาล จนนำมาสู่คำพิพากษา
ย้อนไป 7 เม.ย.65 ศาลพิพากษา ‘ปารีณา ไกรคุปต์’ ฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง มีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง สส. นับจาก 25 มี.ค. 64 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกาสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป มีผลให้ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิ์รับเลือกตั้งเป็น สส. สว. ผู้บริหารท้องถิ่น และดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ
ทั้งนี้ยังมีกรณีของ ‘กนกวรรณ วิลาวัลย์’ อดีต รมช.ศึกษาธิการ ในคดีครอบครองที่ดินเขาใหญ่ และ ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ สส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ในคดีเสียบบัตรแทนกันในการประชุมสภาฯ
ทำให้ข้อกฎหมายเรื่อง ‘มาตรฐานจริยธรรม’ ถูกตีความอย่างมาก รศ.อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์สเปซบาร์ถึงข้อถกเถียงที่เกิดขึ้น
โดย รศ.อานนท์ มองปัญหาของกฎหมายฉบับดังกล่าวว่าเป็น ‘เกณฑ์ใหม่’ ที่เกิดขึ้น ที่กลายเป็น ‘คดี’ อีกประเภท เปรียบเป็น ‘กฎหมาย’ ที่เกิดขึ้นใหม่ นอกเหนือจากกฎหมายและมาตรฐาน ‘อาญา-แพ่ง’ ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานที่มีอยู่เดิม เช่น ลักษณะต้องห้ามต่างๆ ที่เป็นความผิดทางอาญาที่ต้องโทษมีโทษตัดสินจำคุก ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง สส. หรือรัฐมนตรี
มาตรฐานจริยธรรม เกิดขึ้นโดยใคร ?
รศ.อานนท์ ระบุว่า ตาม รธน.60 มาตรา 219 ที่กำหนดขึ้นโดยศาล รธน. และองค์กรอิสระร่วมกันกําหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้น ที่ไปบังคับใช้กับ สส. , สว. และรัฐมนตรี เป็นที่ชัดเจนว่าบรรดา สส. - สว. กลับไม่ได้เป็นผู้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งตามหลักการประชาธิปไตยหลักเกณฑ์ดังกล่าวควรมาจากประชาชน เพราะบรรดา สส. เป็นผู้แทนที่มาจากประชาชน โดยให้สภาฯ เป็นผู้ออกกฎหมายมาตรฐานจริยธรรมขึ้นมา ดังนั้นมาตรฐานจริยธรรมจึงไม่ได้ยึดโยงภาคส่วนใดเลย ที่สำคัญศาล รธน. และองค์กรอิสระ ที่มาจาก รธน.60 ก็เท่ากับมาจากยุค คสช.
มาตรฐานจริยธรรม ซ่อน 2 ปัญหา
รศ.อานนท์ ระบุว่า 1)ปัญหาทางกฎหมายไม่ได้ถูกพิจารณาจากที่ยึดโยงประชาชน 2)ศาล รธน. และองค์กรอิสระ ที่มาออกเกณฑมาตรฐานจริยธรรมเชื่อมโยงกับระบอบ คสช. ตาม รธน.60
สะท้อนว่าแนวคิดเรื่องมาตรฐานจริยธรรมเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 ในการกำหนดเกณฑ์เรื่อง ‘คุณค่าความดีงาม’ ต่อบรรดา ‘นักการเมือง’
แม้ว่าในอดีตจะมีการกำหนดเรื่อง ‘จริยธรรม’ ที่อยู่ใน ‘กฎหมายอาญา’ ที่เป็น ‘กฎหมายปกติ’ แต่ภายหลัง รปห. 2557 เกิดแนวคิดเรื่อง ‘สังคมคนดี’ ที่นำมาสู่การที่ ‘คนมีอำนาจ’ ได้มาออกแบบ ‘จริยธรรม-ความดี’ ขึ้นมา แล้วแยกออกจากกฎหมายปกติ เปรียบเป็น ‘สารตั้งต้น’ ในการ ‘แยกไม้บรรทัด’ ทางกฎหมายออกมา
ความไม่ได้สัดส่วนทางกฎหมาย
รศ.อานนท์ มองว่า มีผลอย่างมากในเรื่องการ ‘ไม่ได้สัดส่วน’ ใน รธน.60 มาตรา 235 วรรค 3-4 ที่บัญญัติว่า
“เมื่อศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคําพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทําความผิดตามที่ถูกกล่าวหา แล้วแต่กรณีให้ผู้ต้องคําพิพากษานั้น พ้นจากตําแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้
ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าในกรณีใด ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดํารงตําแหน่งทางการเมืองใดๆ”
เปิดกฎหมายมาตรฐานจริยธรรม
มาตรฐานทางจริยธรรมของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561
มาตรฐานทางจริยธรรมนี้ให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 219 วรรคสอง ด้วย
หมวด 1 มาตรฐานจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์
ข้อ 5 ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ข้อ 6 ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ข้อ 7 ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน
ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
ข้อ 9 ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่
ข้อ 10 ต้องไม่รับของขวัญของกำนัล ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการรับจากการให้โดยธรรมจรรยา และการรับที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับให้รับได้
ทั้งนี้ รศ.อานนท์ ตั้งข้อสังเกตถ้อยคำของกฎหมาย มีความหมายกว้าง นามธรรมสูง เปิดโอกาสให้ตีความสูง ซึ่งมีกฎหมายอาญากำหนดความผิดอยู่แล้ว แต่ในกฎหมายอาญาเองก็ยังไม่กำหนดโทษถึงขั้น ‘ประหารชิวิต’ เช่น การรับสินบนหรือทุจริต ก็แค่โทษจำคุก
ดังนั้นบทกำหนดโทษไม่ควรเป็นนามธรรม บางอย่างมีในกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ไม่ควรมากำหนดซ้ำ ที่สำคัญโทษไม่ถึงขั้นประหาร เพราะการจำคุกยังมีเรื่องระยะเวลา จึงเกิดปัญหาเรื่องความ ‘ได้สัดส่วน’ ของกฎหมาย ระหว่าง ‘การกระทำผิด’ กับ ‘โทษ’ ที่ได้รับ ของกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานจริยธรรม เช่น ข้อ 7 หาก สส. โดดประชุมสภาฯ จะลงโทษด้วยเกณฑ์ใด เป็นต้น
ซึ่งมาตรฐานจริยธรรมทั้ง 5 ข้อ จะเชื่อมโยงมาถึง หมวด 4 การฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 27 การฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง
การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 2 และหมวด 3 จะถือว่ามีลักษณะร้ายแรงหรือไม่ ให้พิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ เจตนาและความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัตินั้น
ทั้งนี้ รธน. ของไทย มีเรื่อง ‘จริยธรรม’ มานานแล้ว ในเรื่องการความรับผิดชอบทางการเมือง เมื่อมีการร้องขึ้นมา ก็ให้เป็นอำนาจของสภาฯ ในการถอดถอน และหากผิดทางอาญาก็ให้ต้องคดีอาญา เช่นผ่านการยื่นญัติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นต้น แต่การมีกฎหมายมาตรฐานจริยธรรมแยกออกมาเช่นนี้ ก็เท่ากับเป็นการให้ศาลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
“เรื่องการเมือง ก็ควรให้การเมืองรับผิดชอบ แต่กลับให้ศาลมารับผิดชอบ” ดังนั้นการ ‘ตัดสิทธิตลอดไป’ จึงไม่ได้สัดส่วนในทางกฎหมาย อีกทั้งเป็นคดีที่ไม่เปิดโอกาสให้ยื่น ‘อุทธรณ์’ เพราะในชั้นศาลฎีกาไม่เปิดให้อุทธรณ์ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา