ปุจฉา ‘เซียนธุรกิจ’ แห่ร่วมทัพการเมือง เรียกคะแนนนิยมให้พรรคได้แค่ไหน?

24 มี.ค. 2566 - 09:54

  • ปรากฏการณ์พรรคการเมืองเปิดตัว ‘ทีมเศรษฐกิจ’ ชูบุคคลแวดวงการค้าและเศรษฐศาสตร์ชั้นเซียนร่วมทัพสู้ศึกเลือกตั้ง 2566

  • นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองวิเคราะห์ ‘แบรนด์บุคคล’ ขายได้แต่ไม่สำคัญที่สุด

Businessman-subscribes-to-political-parties-presents-economic-policies-SPACEBAR-Thumbnail
เรียกได้ว่าการเลือกตั้งปีในรอบนี้ ทุกพรรคการเมืองต่างทยอย ‘ปล่อยของ’ ทั้งว่าที่ผู้สมัครฯ และนโยบายต่างๆ มากมาย บ้างคล้ายหรือแตกต่างไปตามแนวคิด อุมดมการณ์ และเป้าหมายอย่างไรเสีย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็น ฝั่งอนุรักษ์นิยม หรือเสรีประชาธิปไตย ต่างชูแนวทางการแก้ปัญหาปากท้องเป็นนโยบายเรือธงนำทัพทุกค่าย ไปจนถึงการเฟ้นหา ‘หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ’ ที่ทุกพรรค ต่างนำเสนอบุคคลชั้นเซียน คว่ำหวอดในแวดวงการเงิน - การค้า - การคลัง เรียกได้ว่ามีทั้ง เสี่ย - เจ้าสัว - ครูอาจารย์ มีชื่อเสียงทั้งนั้น  

ฝ่ายประชาธิปไตย อย่างพรรคเพื่อไทยที่ชู ‘หมอมิ้ง - พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช’ นักการเมืองคนสนิท ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เป็นกัปตันทีมมี ‘เสี่ยนิด - เศรษฐา ทวีสิน’ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เครือแสนสิริ และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ในขณะที่พรรคก้าวไกล ส่ง ‘ไหม - ศิริกัญญา ตันสกุล’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าคนเดิมดีกรีไม่ธรรมดา เพราะในฐานะฝ่ายค้านเคยเป็นประธานกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจของสภาฯ บทบาทสำคัญ คือการอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจ และการผูกขาดของกลุ่มทุน ซึ่งรอบนี้ควงทีมงานด้านวิชาการและธุรกิจมาเต็มที่ 

ด้านฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ไม่น้อยหน้า ชิงดีชิงเด่นจนเลือกใครไม่ถูก อย่างพรรคพลังประชารัฐมี ‘สันติ พร้อมพัฒน์’ อดีต รมช.คลัง ‘อุตตม - สนธิรัตน์’ 2 กุมาร และ ‘มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์’ ขณะที่ รวมไทยสร้างชาติ ก็ดัน ‘ม.ล.ชโยทิต กฤดากร’ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ มีกุนซือคอยให้คำปรึกษาอย่าง ‘ไตรรงค์ สุวรรณคีรี’ และ ‘สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์’ รมต.พลังงาน  

จริงๆ ยังมีอีกมาก แต่หากต้องยกองคาพยพของแต่ละพรรคมาเขียนบอกเล่า คงต้องใช้หน้ากระดาษหลายแผ่นในการเรียบเรียง ดังนั้นผู้เขียนจึงขอพาไปฟังความเห็นของ ‘รศ.ดร.สมชาย ภคภาสวิวัฒน์’ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง มาวิเคราะห์ถึงนโยบายและแผนเศรษฐกิจที่แต่ละพรรคชูธง และไม่วายขอนำเสนอเรื่องการเมืองเชิงอำนาจแบบพอหอมปากหอมคอดด้วย 

อาจารย์สมชายให้มุมมองว่า เลือกตั้งรอบหน้าจะมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการในการตัดสินใจของผู้คน เรียงตามลำดับ 1) ความเชื่อทางการเมือง 2) นโยบายแต่ละพรรค และ 3) ขุนพลด้านเศรษฐกิจ 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในมุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง เรื่องของนโยบายและทีมเศรษฐกิจ ล้วนมีความสำคัญเป็นลำดับถัดไป จากทิศทางทางการเมืองของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะในการ ‘เรื่องความจริงไม่สำคัญเท่ากับความรู้สึก’

ในด้านนโยบายเศรษฐกิจเชื่อว่า ฝ่ายค้านจะได้เปรียบ เพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะรัฐบาล ไม่มีรอยด่างพร้อยในด้านการบริหารการจัดการ อาจเป็นเหตุผลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยากได้อะไรใหม่ๆ ตัดสินใจเลือก ขณะเดียวกันในฝ่ายรัฐบาลหากนำนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่สามารถแก้ปัญหาประชาชนได้ในช่วงที่ผ่านมา ลดความน่าเชื่อถือลง  

สำหรับประเด็นเรื่องตัวบุคคลในสนามการเมืองด้านเศรษฐกิจ รศ.ดร.สมชาย ระบุว่า ที่ผ่านมาการเมืองไทยไม่เคยเกิดปรากฏการณ์ ที่มีบุคคลเข้ามากอบกู้วิกฤติเป็นที่ประจักษ์ และในทีมเศรษฐกิจพรรคต่างๆ ที่มีการเปิดตัว มีหลายคนที่ประชาชนอาจเห็นหน้าค่าตามาก่อนหน้านี้ หรือบางคนอาจไม่ได้เป็นที่รู้จักมาก ทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้เป็นแปลสำคัญ การตัดสินใจเลือกของพี่น้องประชาชน 

“ไม่ได้หมายความว่าคนนี้มาแล้วฉันจะหยอดให้พรรคนี้ ยกเว้นจะเข้ามาแล้วสามารถนำเสนอนโยบายที่เห็นเป็นรูปธรรมและสามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้นตัวบุคคลถึงไม่ใช่ปัจจัยหลักในการที่จะเลือกเสียงคะแนน อาจจะมาช่วยในเรื่องของการคิดค้นนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจเพื่อสู้ศึกในเชิงนโยบาย”

แต่ทางกลับกันนักธุรกิจหรือนักวิชาการเหล่านี้สร้างปัจจัยแง่ลบให้กับพรรคโดย รศ.ดร.สมชาย อ้ายเอ่ยเป็นชื่อบุคคล แต่ระบุว่ามีหลายคน พอเปิดตัวเข้ามาอาจทำให้ทิศทางลมของพรรคเปลี่ยนแปลง เพราะที่ผ่านมาหลายคนพลาดท่าในสนามธุรกิจ การแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนไม่เป็นผลตามนโยบายที่ขายไว้ 

โดยมุมมองของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง มองว่าจริงๆ ทีมเศรษฐกิจอาจไม่สำคัญแล้วในปัจจุบัน แต่สิ่งที่จะดึงดูดประชาชนคือนโยบาย นี่จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่รองลงมาจากทิศทางทางการเมือง 

“พรรคนี้ไม่มีทีมเศรษฐกิจเลยแต่นโยบายคุณดีเขาก็เลือก คุณอย่าลืมว่าคะแนนเสียงของบางพรรคก็พุ่งขึ้นเลยทั้งที่ไม่มีทีมเศรษฐกิจ ก็เกิดจากกระแสที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง”

ส่วนประเด็นที่พรรคการเมืองทุกพรรคล้วนถูกพิพากษ์วิจารณ์กันเรื่องการขายนโยบายประชานิยมสุดโต่งนั้น รศ.ดร.สมชาย ระบุว่า หากทุกพรรคดำเนินการตามนโยบายที่ขายไว้แบบประชานิยม จะใช้เงินมากกว่างบประมาณที่การคลังของรัฐบาลมีอยู่เกือบ 2 เท่า ขณะนี้เสถียรภาพทางการคลังของประเทศอยู่ระดับ ‘คอหอย’ แล้ว ดังนั้นต้องมีแผนในการจัดการ วันหนึ่งได้เป็นจัดตั้งรัฐบาล ได้ไม่สร้างหนี้สาธารณะให้กับประเทศเพิ่ม  

อย่างไรเสียก็เชื่อว่ามีหลายพรรควางแผนไว้แล้ว โดยการลดรายจ่ายจากส่วนที่คิดว่าสามารถตัดทอนได้ ทั้งนี้อยากฝากถึงผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง และปัจจุบันจะอยู่ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาปากท้องย่อมเป็นสิ่งที่ดีในการที่จะแก้ไขเร่งด่วน อยากให้ทุกคนพิจารณา แผนระยะยาวว่าแต่ละพรรคนำเสนอด้วยในแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์