แม่ทัพบก : ผู้กำหนดทิศทางลมระหว่าง ‘ทหาร - รัฐบาลพลเรือน’ กับแนวโน้ม ‘การปฏิรูปกองทัพ’

20 เม.ย. 2566 - 10:40

  • ถอดปัจจัย การเข้าสู่ตำแหน่ง ‘ผบ.ทบ.’ ผู้มีอำนาจ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ และ ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘กองทัพ - รัฐบาบพลเรือน’ ผ่านความเห็นเชิงวิชาการ

  • ‘ปิยะภพ เอนกทวีกุล’ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชี้ การเปลี่ยนแปลงของทหารขึ้นอยู่กับชุดความคิด และการไม่เปิดช่องโหว่วของประชาชน เพื่อนำไปสู่ ‘การรัฐประหาร’

A-SPACEBAR-Thumbnail
ว่าด้วยเรื่องบทสนทนาค้างคาระหว่างผู้เขียนกับ ‘ปิยะภพ เอนกทวีกุล’ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง’ ที่คุยกันต่อเนื่องจากบทความ อ่านความคิด ‘ผู้นำเทรนด์ นศท.’ ต่อ ‘นโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหาร’ ชิมลางสมรภูมิเลือกตั้ง ที่ว่ากันด้วยนโยบายยกเลิกการบังคับการเกณฑ์ทหาร ที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเสนอเป็นธงรบ ในสนามเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 

หากท่านอ่านจนครบถ้วนใจความ เนื้อหาจะสิ้นสุดอยู่ที่ปุจฉาทิ้งท้ายชวนคิดเรื่อง ‘การปฏิรูปกองทัพ’ ซึ่งก่อนจะกล่าวถึงต่อเนื่อง ผู้เขียนขอหยิบยกประเด็นทางกองทัพที่ถูกจับตาไม่แพ้การเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้อ่านทำความเข้าใจพอหอมปากหอมคอ เพราะต้นเดือนตุลาคมนี้ จะเป็นห้วงของการโยกย้ายปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ใน 4 เหล่าทัพที่น่าจับตา เป็นผลสืบเนื่องจากการเกษียณอายุราชการของ แกนนำ ‘เตรียมทหาร 22’ สู่ คิวรุ่นน้อง ‘เตรียมหทาร 23’ ที่จะเข้ามาคุมบังเหียนแทนรุ่นพี่ในฐานะ ‘ผู้บริหารกองทัพ’ 

หากเจาะลึกไปที่ ‘กองทัพบก’ นักข่าวสายทหารหลายสำนัก จับสัญญาณท่าที ‘ตท.23’ อย่างใกล้ชิด คาดการณ์ไว้ว่า ‘ว่าที่แม่ทัพบก’ ผู้่จะตบเท้าเข้ารับ่สานต่อจาก ‘บิ๊กบี้’ พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ไม่พ้นนายทหาร ‘กลุ่ม 5 เสือทบ.’ ได้แก่  

‘บิ๊กต่อ’ พลเอกเจริญชัย สินเธาว์ รอง ผบ.ทบ. และรอง ผบ.ฉก.ทม.รอ 904 น้องรักสายตรงของ ‘บิ๊กตู่’ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเติบโตมาจาก ‘กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์’ เรียกได้ว่าตั้งไข่มาด้วยกันตั้งแต่เป็น ‘ทหารเสือราชินี’  

อีกคนที่น่าจับตาไม่พ้น ‘บิ๊กโต’ พลเอกสุขสรรค์ หนองบัวล่าง ผช.ผบ.ทบ. และ เสธ.ฉก.ทม.รอ 904 มีถิ่นกำเนิดมาจาก ‘กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์’ จึงให้น้ำหนักว่าเป็นน้องเลิฟ ‘บิ๊กป้อม’ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งแคนดิเดต ผบ.ทบ. ล้วนเป็น ‘ทหารคอแดง’ สาย ‘บูรพาพยัคฆ์’ ผลผลิตน้ำดีจาก ‘กองพลทหารที่ 2 รักษาพระองค์’
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5212Sx3z7wWGKl6X0FRSu0/a1b9c1516ed0f3a15b21fd86076780bb/A-SPACEBAR-Photo01
เชื่อว่าผู้อ่านบางท่านต้องตั้งคำถามว่า ทำไมผมถึงเลือกเจาะจงโผล ‘แม่ทัพบก’ เป็นพิเศษ ก็เพราะ กองทัพบกเป็นขุมกำลังหลักของประเทศ มีกำลังพลประจำการและงบประมาณสูงสุด รวมถึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับ ‘การเมือง’ และ ’การรัฐประหาร’ มากที่สุดด้วย ซึ่งปัจจัยเรื่องการยึดอำนาจ ถือเป็น ‘หัวใจ’ แนวคิดการปฏิรูปกองทัพที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตย มักนำเสนอผ่านนโยบายมาตลอดช่วงให้หลัง  

ในฐานะนักวิชาการด้านการเมือง - การทหาร อาจารย์ปิยะภพ ให้ข้อมูลกับผู้เขียนว่า ผู้บัญชาการทหารบก ถือเป็นผู้มีส่วนอย่างมากกับปรับเปลี่ยนหรือพัฒนากองทัพบก อย่างแอคชันที่เห็นกันมาโดยตลอดของ ‘พลเอกณรงค์พันธ์’ ในฐานะ ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน ที่พยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับทหารบก  

ถือเป็นก้าวแรกที่ดูดี โดยเฉพาะการออกนโยบายเปิดกว้างเรื่องการเมือง เปิดให้นักการเมืองสามารถเข้ามาใช้พื้นที่หาเสียงภายในหน่วยงานของกองทัพบกได้ทั่วประเทศ และออกเป็นคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้บังคับบัญชาชักจูงเรื่องการเมืองกับทหารใต้บังคับบัญชาด้วย ซึ่งสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงมาจากกระแสการตั้งคำถามหน่วยงานความมั่นคงของ ‘พรรคอนาคตใหม่’ เมื่อคราวเลือกตั้งใหญ่ปี 2562
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/19d5uBmFY0jvfFrSm3fpaF/f95d4f501c34c7a78f874481a83d8001/A-SPACEBAR-Photo02
Photo: พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก
ถ้าพลเอกณรงค์พันธ์เลือกเดินเกมเยี่ยง ‘บิ๊กแดง’ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. คงไม่วายถูกตำหนิ และกระแสทหารคงถูกโจมตีต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับกองทัพไม่ว่าจะมิติใดๆ แต่กลับเป็นการดีต่อความสัมพันธ์กับรัฐบาลพพลเรือนในอนาคต ดังนั้นวิสัยทัศน์และการแสดงออกของ ‘ผบ.ทบ.’ จึงส่งผลต่อภาคการเมืองและการปฏิรูปกองทัพโดยตรง 

เห็นได้จากประวัติศาสตร์ความมั่นคงไทย ผบ.ทบ. หลายยุคมีทัศนคติเฉกเช่นเดียวกับบิ๊กบี้ อย่าง ‘พลเอกวิมล วงศ์วานิช’ ที่แสดงจุดยืนว่าทหารจะไม่ยุ่งกับภาคการเมือง และจะทำตามนโยบายที่ดีของรัฐบาล ขณะที่ ‘พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร’ ก็เคยบอกว่าทหารพร้อมจะช่วยแก้วิกฤติเศรษฐกิจ ช่วงที่ประเทศไทยเผชิญหน้ากับ ‘วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง’ หรือแม้กระทั้งสมัย ‘พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์’ ที่ปลูกฝังเรื่องประชาธิปไตยในหน่วยงานทหาร และย้ำคำว่าห้าม ‘ทหารไม่ควรยุ่งกับการเมืองเด็ดขาด’ 

“พลเอกสุรยุทธ์เคยบอกไว้ว่า ถ้าทหารจะเล่นการเมืองต้องลาออกมาเลือกตั้ง แต่พอหมดยุคของบิ๊กแอ๊ด ผบ.ทบ. รุ่นหลังก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับจนมาถึงทุกวันนี้ในยุคของบิ๊กบี้อที่แสดงวิสัยทัศน์ในทิศทางทีดีต่อภาคการเมือง ดังนั้นสิ่งสำคัญอยู่ที่ชุดความคิดให้ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน กองทัพก็ต้องพร้อมจะทำงานร่วมได้ทั้งหมด ต้องมืออาชีพและไม่มีอคติต่อรัฐบาลพลเรือน” ปิยะภพ กล่าว 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1GTdScD0jAMTNRvlouwrV7/839dfaf71bb2be83b61020047d0ac0f4/A-SPACEBAR-Photo03
Photo: ปิยะภพ เอนกทวีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เมื่อถามว่าหาก ‘พรรคเพื่อไทย’ และ ‘พรรคก้าวไกล’ ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะสามารถดำเนินำการปฏิรูปกองทัพ และปิดกั้นการทำรัฐประหารได้หรือไม่ อาจารย์ปิยะภพ อธิบายว่า ส่วนหนึ่งของเหตุผลในการรัฐประหาร คือ รัฐบาล - กองทัพ - ประชาชน ไม่สามารถหาจุดร่วมกันได้ บางครั้งทหารมองนักการเมืองพยายามสร้างเงื่อนไขทำให้ต้องรัฐประหาร บางครั้งกองทัพก็ไม่อยากมีส่วนร่วมกับการยึดอำนาจแต่ประชาชนก็สร้างเงื่อนไขด้วยเหตุผล ‘สถานการณ์สุกงอม’ 

นักวิชาการชาวต่างชาติ เคยนำเสนอทฤษฎี ว่าการยึดอำนาจกับความล้มเหลวสามารถเกิดขึ้นได้ 4 รูปแบบ 1) หากกองทัพมีชุดความคิดยึดอำนาจอยู่แล้ว และใช้โอกาสในวันที่มีประชาชนให้กับสนับสนุน แนวโน้มความสำเร็จเป็นไปได้สูง 2) หากกองทัพไม่มีชุดความคิดดังกล่าว ปล่อยให้ภาคการเมืองแก้ปัญหาเอง และประชาชนไม่สนับสนุน การยึดอำนาจจะไม่เกิดขึ้น 3) หากกองทัพคิดจะก่อแต่ประชาชนไม่หนุน การยึดอำนาจอาจเกิดขึ้นแต่ก็อาจจะล้มเหลว หรือถ้าสำเร็จก็อยู่ในอำนาจไม่ได้นาน และ 4) หากประชาชนเรียกร้องให้รัฐประหาร กองทัพอาจไม่ทำ แต่ถ้าหากทำเมื่อไหร่ก็จะกลับไปเป็นเงื่อนไขข้อแรก
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6KmualMjQI6OKogrk3KBYl/02ca3b56133030dacbbb9c998c51e86c/A-SPACEBAR-Photo04
สรุปง่ายๆ คือการรัฐประหารจะเกิดขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 3 องค์ประกอบที่กล่าวไปแล้วข้างต้น คือ รัฐบาล กองทัพ และประชาชน ซึ่งทุกองค์ประกอบล้วนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน อย่างน้อยถ้าไม่มีเงื่อนไข ไม่มีการสร้างสถานการณ์กองทัพจะไม่มีทางยึดอำนาจ ดังนั้นสิ่งที่ควรจะเป็นเมื่อเกิดปัญหาความวุ่วาย กองทัพต้องแสดงบทบาทว่าปัญหาการเมืองก็ต้องแก้ด้วยภาคการเมืองไม่ใช่ทหาร 

ในส่วนอนาคตผู้บัญชาการทหารบกที่เข้ามารับช่วงต่อ จะมีโอกาสทำรัฐประหารหรือไม่ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ให้ความเห็นว่า คงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะนโยบายของพลเอกณรงค์พันธ์ชัดเจนแล้วไม่ต้องการยึดอำนาจ ทั้งในส่วนบุคคลที่จะเข้ามาในตำแหน่งแม่ทัพบกล้วนเป็น ‘ทหารคอแดง’ ซึ่งต้องปฏิบัติตามพระราชดำริขององค์พระประมุข ว่าทหารต้องทำหน้าที่พิทักษ์รักษา ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน นี่จึงเป็นการการันตีความยากในการก่อการยึดอำนาจ เพราะทหารที่ดีย่อมปฏิบัติตามธรรมเนียม 

“ด้วยจารีตการปฏิบัติที่มีมาว่า ต้องเป็นทหารอย่างแท้จริงไม่ฟักใฝ่การเมือง ซึ่งผมมองว่า ผบ.ทบ. คนต่อไปทุกคนต้องเป็นทหารคอแดงหมดตามธรรมเนียม และอย่างน้อยที่สุด ผบ.ทบ. ท่านปัจจุบันไม่พูดเรื่องการเมือง ก็จะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าทุกคนจะไม่ยึดอำนาจ ผมก็หวังให้เป็นแบบนะ” ปิยะภพ เอนกทวีกุล กล่าว
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3qX2ouE6QwlQOYnr0Wa3k2/45161d74e7f4ec6c53935d012afbaebc/A-SPACEBAR-Photo05
ท้ายที่สุด อาจารย์ปิยะภพ ได้ฝากแง่คิดถึงผู้อ่านทุกท่านว่า การศึกษาเรื่องการเมืองและกองทัพยังเป็นประเด็นสำคัญอยู่ อย่างน้อยที่สุด ‘ทหาร’ ยังเป็น ‘ตัวละครเอก’ ในละครการเมืองไทยและโลกสากล โดยเฉพาะในยุคที่ประชาธิปไตยถดถอย ‘ไม่มีใครสามารถแยกทหารออกจากการเมืองได้’ แม้ว่าจะมีนโยบายปฏิรูปกองทัพ แต่กองทัพก็ยังต้องเป็นส่วนหนึ่งของภาคการเมือง  

ในส่วนบทบาทจะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับนโยบายของกองทัพและความเข้มแข็งของรัฐบาลพลเรือน เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารเข้ามายุ่งวุ่นวายเกี่ยวกับอำนาจบริหาร 

หวังว่าทิศทางของกองทัพข้างหน้าจะดีวันดีคืน...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์