ภายหลังใช้เวลาราว 1 เดือน ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้ดูแลการพิจารณาเรื่องประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ หรือ ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ’ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะครบกำหนดในวันที่ 20 ต.ค.นี้
วันนี้ สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ก็ได้เปิดเผยผลการประชุม กบฉ. ครั้งที่ 4/2566 ณ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำเนียบรัฐบาล ว่า ได้ให้ส่วนราชการ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ไปรับฟังความเห็นประชาชน รวมถึงนำข้อมูลและความเห็นจาก สมช. และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มาประกอบการพิจารณาด้วย

โดยจากสถิติตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน พบว่าความรุนแรงของสถานการณ์ลดลง โดยในอดีตมีบางปี มีเหตุการณ์สูงกว่า 100 ครั้ง แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สถิติลดลงเหลือประมาณ 70 กว่าครั้ง ส่วนปี 2566 มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำคือ ประมาณ 100 กว่าครั้ง
ที่ประชุม กบฉ.จึงมีมติเห็นชอบ ให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีก 3 เดือน ระหว่างวันที่ 20 ต.ค. 2566 - 19 ม.ค. 2567
แต่มีมติให้ปรับลด 3 อำเภอ ที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงฯ หรือ ‘พ.ร.บ.ความมั่นคง’ แทน ได้แก่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา, อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส
รวมถึงมีมติปรับให้ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส กลับมาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกครั้ง เนื่องจากสถิติความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วง 5 ปีหลังมานี้
ทั้งนี้ เตรียมนำมติ กบฉ.เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 ต.ค.นี้ ส่วนความคืบหน้าในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.แทนผู้ที่เกษียณไปนั้น สมศักดิ์ ระบุว่า ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เพราะนายกฯ ยังไม่ได้มีการมอบหมายว่าจะให้รองนายกฯ คนใดดูแลกำกับของ สมช. และการแต่งตั้งเลขาธิการ สมช. ต้องรอนายกฯ ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เรียกประชุมก่อน

‘ประชาชาติ’ ย้ำจุดยืนยกเลิก ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-กฎหมายพิเศษ’ ในพื้นที่ 3 จชต.
กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส ในฐานะโฆษกพรรคประชาชาติ แถลงภายหลังที่ประชุม กบฉ.มีต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า พรรคประชาชาติ ที่ยืนยันมาตลอดว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือกฎหมายพิเศษ เช่น กฎอัยการศึก ที่ใช้บังคับใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้นถึงเวลาแล้วที่ต้องยกเลิก แล้วนำกฎหมายปกติมาบังคับใช้ ส่วนจะยกเลิกในคราวเดียว ยกเลิกบางอำเภอ หรือทีละอำเภอ ก็แล้วแต่ทางประธาน กบฉ. จะพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนการที่ สมศักดิ์ ในฐานะประธาน กบฉ. ได้หารือกับ สส.ก็ถือเป็นนิมิตรหมายในทางบวก เพราะปกติจะเชิญเพียงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มาพูดคุยเท่านั้น
“ขอเรียกร้องไปยังเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ลดจำนวนด่านตรวจให้น้อยลง เพราะเกินความจำเป็น อีกทั้งเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดี และทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงว่าเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แล้ว บรรยากาศก็น่าจะดีขึ้น”
กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ
เตรียมชงสภาฯ คิกออฟตั้ง ‘กมธ.วิสามัญฯ’ สางปัญหายืดเยื้อ ฟุ้งศึกษากระบวนการแบบไม่เคยมีมาก่อน
ส่วนญัตติเพื่อขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อศึกษาและเสนอแนวทางกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่พรรคประชาชาติเสนอ จะมีสัญญาณในแง่บวกมากกว่าในอดีตที่ผ่านมาหรือไม่นั้น กมลศักดิ์ มองว่า ทุกสมัย สภาฯ มีการตั้ง กมธ.วิสามัญฯ มาตลอด แต่พิจารณาในภาพรวม รอบนี้จะมีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ที่ไม่เคยมีมาก่อน
โดยจะนำกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่เคยดำเนินการมา 3 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ให้สภาฯ พิจารณาศึกษาเป็นครั้งแรก ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะนำมาศึกษาในสภาฯ เพราะปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาขัดแย้งยืดเยื้อ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ จึงต้องให้คนทั้งประเทศรับทราบ เพื่อให้เข้าใจปัญหามากกว่าเดิม ส่วนสภาฯ จะเห็นชอบหรือไม่นั้น ทราบมาว่าทั้งวิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน เห็นชอบที่จะมีการตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ขึ้นมาพิจารณา
อ่านเพิ่มเติม: ฟังเสียง ‘สส.ชายแดนใต้’ สางปม ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ’ สะท้อนทางแก้ปัญหาในพื้นที่
