‘สุชัชวีร์’ และ ‘ประชาธิปัตย์’ กับนัดล้างตากู้ศรัทธา ‘มหานคร’

22 มี.ค. 2566 - 09:47

  • ‘สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ’ อ้อนคนกรุงเทพฯ ‘พาประชาธิปัตย์กลับบ้าน’ พร้อมเปิดนโยบายกู้ศรัทธามหานคร

  • ‘ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่ออาจมีลุ้น แต่ระวังแบ่งแต้มกันเอง ชี้นโยบายแคบ “เลือกรัฐบาลไม่ใช่ผู้ว่าฯ”

Democra-Party-Government-Election-Policy-SPACEBAR-Thumbnail
หลัง กกต.ประกาศไทม์ไลน์และกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 14 พฤษภาคม อุณหภูมิทางการเมืองก่อนการเลือกตั้ง ก็ปะทุเร่าร้อนในทุกหัวระแหง 400 เขต มีหลายถิ่นน่าจับตามอง การชิงไหวพริบด้วยกลเม็ดต่างๆ เรียกได้ว่าดุเดือดเลือดพล่าน จะปฏิเสธไม่ได้ว่าเขตการเลือกตั้งต่างจังหวัด ล้วนฝากความหวังไว้กับ ‘บ้านใหญ่’ หรือ ว่าที่ผู้สมัครฯ ที่อิทธิพลกับท้องถิ่นมายาวนาน  

แต่สำหรับ 33 เขตพื้นที่ กทม. เรียกได้ว่าเป็นยุทธภูมิสำคัญ โดยเฉพาะรอบนี้ที่ทุกฝ่ายต่างพยายามขับเคี่ยว ‘คั้นน้ำออกเอาแต่หัวกะทิ’ จรดเชิงมวยย่างสามขุมอย่างระมัดระวัง เรียกได้ว่าหากก้าวผิดจังหวะอาจโดน ‘หมัดฮุก’ น็อคเอ้าท์ตกเวทีไป เพราะเวทีกรุงเทพฯ เดาใจยาก 

อย่างกรณี่การ ‘สอบตกยกแผง’ ของ ‘ประชาธิปัตย์’ เจ้าพ่อเมืองหลวงในคราวการเลือกตั้งปี 2562 ที่แสดงให้เห็นว่า ‘สนาม กทม.’ ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะไม่มีใครเป็น ‘เจ้าของ’ ถาวร ว่ามาถึง ‘พรรคเก่าแก่’ หลายฝ่ายต่างมองตรงกันว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทวงคืนเมืองหลวงให้กลับมาอยู่ในอ้อมกอด  

หากวิเคราะห์จากปรากฏการณ์ ที่ ‘อดีต ส.ส.กทม.’ จากพรรคต่างๆ มากกว่าครึ่งที่เคยถูกรับเลือกตั้ง ต่างถูกซื้อตัว - ทะยอยโยกย้ายหอบหมอนมุ่งไปหาสังกัดใหม่ ทีหวัง ‘คะแนนนิยม’ ช่วยกลับมาพิชิตคะแนนเสียงได้อีกครั้ง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ที่ ‘สูญพันธุ์’ ใน กทม. มาแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน ก็ถือเป็นงานยากในการกลับมาชนะใจคนกรุงเทพฯ เพราะที่ผ่านไม่ผู้แทนฯ มาทำพื้นที่ - ผลักดันนโยบาย  

ผนวกกับมุรสุมรุมเร้า โดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้ายถูก ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ตกปลาในบ่อเพื่อน ส.ส.ทะยอยลาออกจนไขก็อกปิดไม่ทัน ทำให้คอการเมืองวิเคราะห์กันว่าเป็นความท้าทายที่ประชาธิปัตย์ต้องเจออาจหนักหนากว่าพรรคอื่น แม้แต่ ‘ภูมิใจไทย’ ที่ยังไม่เคยได้ กทม.เลยสักตัว อาจมีหวังในรอบนี้ เพราะ ‘พลังดูด’ ทำให้ตัวท็อปมาหลายคน ผนวกกับการนำทัพของ ‘บี - พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์’ ดีกรีอดีตผู้แทนฯ กทม. พลพรรค ปชป.เดิม และขุมกำลังสำคัญช่วยพลังประชารัฐเข้าวินรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งที่ผ่านมา
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6qRUUGYkhxe3hmIM0XE4bj/ca9f64d3482b868b8994369cb9cc1e21/Democra-Party-Government-Election-Policy-SPACEBAR-Photo01
สำหรับภาวะเลือดไหลสาหัส ถูกแก้ต่างจากกรรมการบริหารพรรคว่าเป็นการ ‘ถ่ายเลือดเสีย’ สร้าง ‘เลือดใหม่’ นำโดยเลือดเก่าที่ยังอยู่ คือ แม่ทัพ (เมือง) หลวง ‘องอาจ คล้ายไพบูลย์’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค ผู้กรำสงครามเลือดโชกมาหลายสมัย และแกนนำ ‘ขุนพลผ่านศึก’ จากสมรภูมิเลือกตั้งผูัว่า กทม. มาแล้ว อย่าง ‘ดร.เอ้ - สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ อดีตนักการศึกษาจากสถาบันชื่อดัง ‘พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง’ และ ‘มาดามเดียร์- วทันยา วงส์โอภาษี’ อดีต ส.ส.จาก ‘พลังประชารัฐ’ เรียกได้ว่าทั้งคู่คือความหวังใหม่ในสนาม กทม.รอบนี้ 

ผู้เขียนได้มีการพูดคุยกับ ‘ดร.เอ้’ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม.ได้ความว่า สนามในรอบนี้ดุเดือดไม่ต่างกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่ผ่านมา แต่ความแตกต่างรอบนี้ คือการต่อสู้ในภาคการเมืองสนามใหญ่ ผู้สมัครที่ ‘สอบผ่าน’ ได้เป็นสภาผู้แทนราษฎร ทำงานระดับมหาภาค จึงเป็นความกดดันที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งธรรมชาติคนกรุงเทพฯ ล้วนเดาใจยาก เป็น ‘สวิงโหวต’ ที่สามารถเปลี่ยนใจได้จนวินาทีสุดท้ายก่อนเข้าคูหา  

ดังนั้นประชาธิปัตย์ จึงได้วางกลยุทธ์แผน ‘กู้ กทม.คืน’ โดยการสอดแทรกนโยบายคนเมืองเข้าสู้ ภายใต้ แนวคิด ‘สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ’ ผ่านกระบวนการ ฟัง - คิด - ทำ อาทิ นโยบายอินเทอร์เน็ตฟรีล้านจุด การแก้ปัญหาคลาสสิคอย่างน้ำท่วมด้วยดาวเทียม และการประกาศสงครามกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่ง สุชัชวีร์ ยืนยันว่า ประชาธิปัตย์มีความใสใจประเด็นการแก้ปัญหาเรื่องนี้ มากกว่าพรรคอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีประเด็นปกิณกะมากมาย ครอบคลุมทุกปัญหา ซึ่งหลายประเด็นเป็นปัญหาระดับชาติที่ครอบคลุมมากกว่า กทม. 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1ur1c4fJdHYhWUdik90PzH/13d23939613a0b480e8d975e61fe6961/Democra-Party-Government-Election-Policy-SPACEBAR-Photo02
Photo: ดร.เอ้ - สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
เมื่อถามถึงคำถามจี้ใจดำ ว่ามั่นใจแค่ไหนกับตัวเลขที่ประกาศไว้ 5 - 7 เก้าอี้ กับสถานการณ์ก่อนหน้านี้ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ปชป.สูญพันธ์จากกรุงเทพฯ ไปแล้ว สุชัชวีร์ ให้ความเห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าสำคัญ เพราะเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์ต้องสูญเสียพื้นที่ ที่เปรียบเสมือน ‘บ้าน’ ที่อดีตเคยเป็นที่มั่นสำคัญ ดังนั้นจึงขอโอกาสชาวกรุงเทพฯ ให้พรรคทำหน้าที่ดั่งที่เคยทำมา   

สำหรับความเชื่อมั่น สุชัชวีร์ พูดเต็มปากว่า ประชาธิปปัตย์คือพรรคเก่าแก่มีฐานะเป็นสถาบันการเมืองของประเทศ พรรคที่เกิดใหม่หรือกำลังมีกระแสตอบรับดีอาจเลือนหายไป แต่สำหรับประชาธิปัตย์ เชื่อว่ายังคงอยู่ ‘ต่อให้ผู้นำตาย’ ก็จะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาสืบสาน เพราะประชาธิปัตย์เป็นสถาบันการเมืองที่ั่มั่นคง ดังนั้นอยากให้ผู้สิทธิเลือกตั้งทุกคนพิจารณาปัจจัยเด่นข้อนี้ เพราะประชาธิปัตย์มีความมั่นคงแตกต่างจากพรรคอื่น ที่เกิดแล้วดับไป  

“4 ปี พรรคไม่ได้ ส.ส. ใน กทม.เลย เราเจ็บปวดแต่ที่เจ็บปวดมากกว่าคือปัญหากรุงเทพฯ ที่หนักหน่วง ครั้งนี้เราจะเข้ามาแก้ปัญหา และขอโอกาส 4 ปีต่อจากนี้ให้ประชาธิปัตย์ได้กลับบ้าน เพราะกรุงเทพฯ คือบ้านของเรา ต้องรับรับว่าคนกรุงเทพฯ ไวต่อกระแส เราไม่อยากให้เป็นแบบนี้ต่อไป แต่ความฝันของผมคืออยากให้ คนกรุงเทพเลือกจากนโยบาย เลือกจากความมั่นใจว่านโยบายนี้ต้องทำให้ได้ พี่ยอมทิ้งทุกอย่างเพื่อเข้ามาในสนามการเมืองเพื่อหวังทำการเมืองสร้างสรรค์” สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4CxmfOsc38mqrt6HzX0Gnz/63de9098aa8839e923a559525464d5f1/Democra-Party-Government-Election-Policy-SPACEBAR-Photo03
Photo: ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
ขณะที่ ‘ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์แนวโน้มการกลับมาของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งใหญ่สนาม กทม.ว่า มีลุ้นที่จะกลับมา แต่ถ้าคงไม่ได้ถล่มทลายแบบอดีต เพราะโดยภาพรวมรอบนี้คะแนนถูกแบ่งกับ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ ขึ้นอยู่กับว่าฐานคะแนนจะไปอยู่กับพรรคไหน ซึ่ง ผศ.ดร.พิชญ์ ระบุว่าไม่ได้มีแค่เสียงที่จะถูกแบกไปให้กับ ‘ขั้วเดียวกัน’ แต่อาจมี ‘ขั้วตรงข้าม’ แบ่งแต้มไปด้วย 

“มีลุ้นแต่จะได้เลยไหมไม่แน่ใจ ขึ้นอยู่กับเสียงส่วนหนึ่งไปกับพรรคก้าวไกลหรือยัง และเสียงจากพลังประชารัฐ - รวมไทยสร้างชาติกลับมาหรือยัง ดังนั้นหากจะเรียกเสียงคือกลับมาได้ประชาธิปัตย์จำเป็นต้องทะเลาะกับทุกฝ่าย แต่ว่าประชาธิปัตย์ไม่มีผลงานในกรุงเทพเลย ลุ้นในที่นี้ไม่ได้ลุ้นจากนโยบายและภาพลักษณ์พรรค แต่ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของผู้สมัครในแต่ละเขต” 

ในส่วนนโยบายของประชาธิปัตย์ ผศ.ดร.พิชญ์ มองว่าพุ่งโฟกัสปัญหาในเมืองได้ดีที่สุด แต่ในทางกลับกัน พรรคอาจสับสนว่ากำลังหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หรือ หาเสียงใหญ่ แม้จะหยิบยกปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง อย่าง PM 2.5 แต่รายละเอียดยังถูกเสนอไม่ชัดว่าจะแก้ปัญหาระดับเมืองหรือประเทศ    

สำหรับธรรมชาติของคนกรุงเทพฯ ที่ ‘สวิงโหวต’ มาตลอด เรื่องนี้นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์มองว่า ขณะนี้คนกรุงเทพฯ ชัดเจนคือการ ‘ไม่เอารัฐประหาร’ เพราะจากการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 เห็นได้ชัด ว่าพรรคฝั่งประชาธิปไตยใน กทม. รวมคะแนนกันแล้วสูงกว่าพรรคพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ ดังนั้นประชาธิปัตย์ต้องประกาศชัดเจนว่าจะ ‘ไม่สนับสนุนระบบการสืบทอดอำนาจ’ ส่วนคะแนนจะไปลงพรรคไหนขึ้นอยู่กับปัจจัยท้องถิ่นและฐานเสียง
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4Yv5c6mZ3biwiu9FzSSOEt/3c8d2f19b5abcf0fbcd24dac829802ef/Democra-Party-Government-Election-Policy-SPACEBAR-Photo04
เมื่อถามว่าการจัดตั้งขุนพลของประชาธิปัตย์ ที่มี ‘สุชชัชวีย์’ เป็นหัวเรือด้านนโยบายจะมีผลหรือไม่กับสนามเลือกตั้งรอบนี้ ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวว่าไม่ใช่เรื่องคะแนนเลย เพราะการเลือกตั้งใหญ่คือการเลือกรัฐบาล ดร.เอ้ มีชื่อเสียงด้านบริหารเมืองหรือสถาบันการศึกษา ดังนั้นเวลาดูการเมืองกรุงเทพ ต้องอ่านฐานคะแนนให้ออก ฐานกลุ่มใหม่ก็สำคัญ ซึ่งหมายถึงที่มีวิถีชีวิตแบบใหม่ เพราะการเข้าถึงทุกพื้นที่ย่อมส่งผลดีทุกทาง  

“คนกลุ่มใหม่ๆ ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ แต่คือคนที่ใช้ชีวิตสมัยใหม่ อยู่ตามคอนโดฯ หาเสียงได้ยากขึ้นคงต้องใช้อินเทอร์เน็ต กรุงเทพก็มีหัวคะแนนเหมือนกัน” ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์