เมื่อ ‘หมอ Burnout’ จาก ‘ความไม่เป็นธรรม’

7 มิ.ย. 2566 - 07:20

  • สาเหตุหลักในการลาออกของแพทย์ คือ ความรู้สึกที่ ‘ไม่เป็นธรรม’

  • ขณะที่ ประธานชมรมแพทย์ชนบท แนะ ควรมี ผอ.รพ.จังหวัดที่อยู่นาน พร้อมพัฒนาระบบการแพทย์ปฐมภูมิ ลดปัญหาคนไข้แออัด

  • ด้าน อาจารย์แพทย์จากสหรัฐอเมริกา ชี้ ต้องแก้ทั้งระบบตั้งแต่แรก ไม่เช่นนั้น ผลิตหมอให้ตาย ก็ไม่มีทางพอ

Doctor-Burnout-Resign-Because-Unfair-SPACEBAR-Thumbnail
เมื่อฟางเส้นสุดท้ายของ #หมอปุยเมฆ ขาดสะบั้น กลายเป็นกระแสลุกโชนจนเป็นที่มาของแฮชแท๊กดังในโลกโซเชียล #หมอลาออก เรื่องนี้สะเทือนถึงกระทรวงสาธารณสุขผู้ดูแลหมอทั่วทั้งประเทศ จน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ต้องออกมาแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ พร้อมกางข้อมูลอัตราส่วนระหว่างหมอกับคนไข้ ที่ยิ่งสะท้อนให้เห็นภาวะขาดแคลน  
 
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ทั้งหมด 50,000-60,000 คน โดยมีจำนวนแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข 24,649 คน คิดเป็น 48% ของทั้งหมด เมื่อคำนวณอัตราส่วนของแพทย์กับคนไข้ จะพบว่า แพทย์ 1 คน ต้องแบกภาระดูแลคนไข้ถึง 2,000 คน  
 
แม้แพทยสภาจะเคยออกประกาศกรอบเวลาทำงานแพทย์ภาครัฐนอกเวลาราชการว่า ไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำงานฉุกเฉินไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน แต่ผลสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงวันที่ 15-30 พ.ย.2565 ยังพบโรงพยาบาลที่แพทย์ต้องปฏิบัติงานนอกเวลาเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 65 แห่ง ได้แก่ 
 
• มากกว่า 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 9 แห่ง 
• มากกว่า 59-63 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 4 แห่ง 
• มากกว่า 52-58 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 11 แห่ง 
• มากกว่า 46-52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 18 แห่ง 
• มากกว่า 40-46 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 23 แห่ง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6j5ANZHVW5uIErEr0njWcL/1c9580097ee8ef55f3bce0d3042c3e4d/Doctor-Burnout-Resign-Because-Unfair-SPACEBAR-Photo01
Photo: ‘โรงพยาบาลที่ปฏิบัติงานนอกเวลาเกิน 40 ชม.ต่อสัปดาห์’
นอกจากนี้ จากข้อมูลการลาออกของแพทย์ 10 ปีย้อนหลัง ยังพบว่า มีแพทย์บรรจุรวม 19,355 คน มีแพทย์ใช้ทุนปีแรกลาออก 226 คน หรือ 1.2% เฉลี่ยปีละ 23 คน ,แพทย์ใช้ทุนปีที่ 2 ลาออก 1,875 คน หรือ 9.69% เฉลี่ยปีละ 188 คน ,แพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 ลาออก 858 คน หรือ 4.4% เฉลี่ยปีละ 86 คน และแพทย์ลาออกหลังพ้นภาระชดใช้ทุน 1,578 คน หรือ 8.1% เฉลี่ยปีละ 158 คน เฉลี่ยลาออกทั้งหมดปีละ 455 คน และเกษียณปีละ 150-200 คน รวมประมาณปีละ 655 คน  
 
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท ยอมรับว่า มีปัญหาขาดแคลนแพทย์จริง โดยเฉพาะโรงพยาบาลในต่างจังหวัดที่ขาดแคลนแพทย์มากกว่าโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ แต่ปัญหาอยู่การกระจุกอยู่ในเอกชน อยู่ในโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่ ขณะที่แพทย์ของ กทม. หรือศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ก็ขาดแคลนแพทย์ การขาดแคลนแพทย์ ไม่ได้ดูแค่ที่ตัวเลขอัตราส่วนอย่างเดียว แต่ต้องดูที่เชิงระบบด้วย   
 
นพ.สุภัทร บอกอีกว่า จะต้องดีไซน์ระบบการจัดการสุขภาพใหม่ ไม่เช่นนั้นปัญหานี้จะไม่จบ ต้องสร้างระบบการแพทย์ปฐมภูมิ ปัจจุบันคนไข้อยากมาโรงพยาบาลก็มาได้ตามความรู้สึกของตัวเอง แล้วก็มากระจุกแออัด จึงมีแนวคิดการพัฒนาระบบการแพทย์ปฐมภูมิ โดยมีแพทย์ประจำครอบครัวของตนเอง ที่ให้คำปรึกษา ช่วยดูแลในเบื้องต้น เพื่อลดความแออัดได้มากกว่า 50% จากนั้นค่อยส่งต่อ แต่ระบบดังกล่าวนี้ ต้องใช้เวลาพัฒนาหลายปี และขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ด้วยว่าจะดำเนินการหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐประหารมา ระบบนี้ยังไม่เกิดขึ้น 
 
ส่วนการที่หมอลาออกเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่สาเหตุหลักคือ ภาระงานที่มาก ไม่สอดคล้องกับความรู้สึกของตัวเอง โดยหมอรุ่นใหม่ยินดีที่จะทำงานหนัก แต่ก็ต้องมีเวลาให้ตัวเองด้วย เมื่อไม่มีเวลาให้ตัวเอง จะรู้สึกหมดไฟ หรือ Burnout เป็นที่มาของการลาออก แต่คำว่า ‘ทำงานหนัก’ ต้องเป็นการทำงานหนักที่ได้รับ ‘ความเป็นธรรม’ ด้วย  
 
“ปัญหาคือความรู้สึก เขารู้สึกว่า เขาเหนื่อยมากอยู่คนเดียว ระบบโรงพยาบาลไม่ได้ช่วยเขาเลย หมอหลายคนก็บ่นว่า ป่วยยังต้องมาทำงาน พ่อแม่ไม่สบาย ก็ไม่ได้ไปดูพ่อแม่ ลาไม่ได้เลย แสดงถึงระบบช่วยเหลือเกื้อกูลกันน้อยเกินไป หากแก้สิ่งเหล่านี้ได้ จะได้เห็นบรรยากาศการทำงานที่ดี ทำงานหนักด้วยกันทุกคน ก็จะทำให้ความรู้สึกไม่ธรรม มันน้อยลง เพราะน้องๆเขาสู้งานไหว ต้องทำงานนอกเวลาควบคู่กับในเวลาอยู่แล้ว ฝึกมาอย่างดีแล้ว”  
 
นพ.สุภัทร ยอมรับว่า ระบบอาวุโสนั้นมีอยู่จริง บางคนก็ใจดีดูแลน้องๆ บางคนก็โหดพูดจาดุเดือด น้องๆอาจจะไม่ชอบ บางคนก็ขยันช่วยงานน้องๆ บางคนก็อู้งาน หาตัวไม่เจอ สิ่งเหล่านี้ต้องแก้ไขที่หน้างานโรงพยาบาลนั้นๆ  
 
ดังนั้น ปัญหาที่รู้สึก ‘ไม่เป็นธรรม’ เป็นปัญหาระดับหน้างาน ไม่ใช่ระดับนโยบาย ซึ่งหมายความว่า แต่ละโรงพยาบาลต้องมีการบริหารจัดการที่ดี โดยต้องการผู้บริหารหรือผู้อำนวยการที่ลงมาคลุกกับปัญหา เพราะปัญหานี้เรื้อรัง ระบบโรงพยาบาลใหญ่ก็ใหญ่มาก แบ่งความเฉพาะทางสารพัด การช่วยกันในห้องฉุกเฉินอาจจะน้อย จึงต้องการผู้อำนวยการที่เข้ามาจัดแจงปัญหา ส่วนตัวที่เคยเป็นทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ และปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าบ้อย ก็ไม่ง่ายที่จะจัดการ จะต้องลงรายละเอียดทุกปี  
 
“ปัญหาเหล่านี้ เกิดขึ้นมากที่โรงพยาบาลจังหวัด เราอยากได้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดที่อยู่นาน อยู่สัก 4 ปีเป็นอย่างน้อย ไม่ใช่อยู่ครึ่งปีย้าย หนึ่งปีย้าย คือจุดแข็งของโรงพยาบาลชุมชนคือ ผู้อำนวยการอยู่นาน อยู่แล้วเซตระบบหลายปี ปัญหาสมองไหลของแพทย์จากความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรมก็จะไม่มาก แต่โรงพยาบาลจังหวัด ผู้อำนวยการจะโดนย้ายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ที่สำคัญการโยกย้ายของผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดไม่ได้มี Commit กับโรงพยาบาล ความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็น้อย ปัญหาการขาดแคลน ความแออัดสะสม ต้องการคนที่ทำได้จริง อยู่นาน และทุ่มเท” นพ.สุภัทร แนะ 
 
ขณะที่ นพ.ธนีย์ ธนียวัน อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปอด การปลูกถ่ายปอดและวิกฤติบำบัด ที่สหรัฐอเมริกา ยังได้ส่งเสียงสะท้อนมายังประเทศไทยถึงปัญหาขาดแคลนแพทย์ว่า มีสมการเดียวคือ ทำอย่างไรที่จะลดจำนวนคนไข้ และทำอย่างไรที่เพิ่มจำนวนหมอ  
 
การลดจำนวนคนไข้ คือ ‘เน้นส่งเสริมสุขภาพก่อนที่จะป่วย’ การส่งเสริมสุขภาพนั้นมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ การให้ข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจน เพราะปัจจุบันหน่วยงานของรัฐยังขัดแย้งในตัวเอง ไม่ค่อยชัดเจน ไม่ควรทำให้ประชาชนสับสน และอย่าให้ประชาชนทึกทักเอาเอง ที่สำคัญ ต้องกำจัดข้อมูลที่ไม่ถูกต้องออกไปให้หมด ส่งเสริมให้มีหน่วยงานกลางใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ต้องกระจายคนไข้ไม่ให้ไปกระจุกอยู่ในที่เดียวด้วยการทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น มีหัวเมืองเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้คนรวมตัวทำงานอยู่ที่เดียวและป่วยอยู่ในที่เดียว คนไข้จะได้เฉลี่ยไปรักษาตัวในหลายโรงพยาบาล  
 
    ส่วนการเพิ่มจำนวนแพทย์ นพ.ธนีย์ ยกโมเดลของสหรัฐอเมริกา ที่ในบางรัฐ มีพยาบาลที่เรียนต่อยอด จนสามารถทำงานได้เหมือนหมอ ตรวจคนไข้ได้จริง ทำให้แบ่งเบาภาระของแพทย์ไปได้ ถือเป็นการดึงศักยภาพของคนที่ช่วยเหลือแพทย์ได้ นี่เป็นโมเดลที่อยากให้ประเทศไทยมีอย่างมาก โชคดีที่ปัจจุบันมีการกระจายโรงเรียนแพทย์ไปในต่างจังหวัด แต่ต้องควบคุมคุณภาพให้ดี ผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ จากนั้น เปิดตำแหน่งนักเรียนนักศึกษาแพทย์เพิ่มขึ้น ไม่ใช่มีตำแหน่งเท่าเดิม และเมื่อแพทย์จบมาแล้ว ก็อย่าให้สมองไหลไปที่อื่น เนื่องจากภาระหน้าที่ที่หนักเกินไปจากการอยู่เวรเยอะ พักผ่อนน้อย ผิดพลาดแต่ละครั้งก็ถูกประนาม ดังนั้น ต้องหาวิธีแก้ไข อย่าให้แพทย์อยู่เวรมากจนเกินไป  
 
“ที่สหรัฐอเมริกา มีหน่วยงานกลางกำหนดว่า ไม่ให้แพทย์ทำงานเกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และถ้าอยู่เวร 24 ชั่วโมง วันต่อไปจะต้องได้พักอย่างน้อย 14 ชั่วโมง นอกจากนี้ ใน 7 วัน ต้องมีวันหยุดอย่างน้อย 1 วัน โดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ต้องมีวันหยุดอย่างน้อย 4 วัน ที่อเมริกาทำอย่างนี้ได้ ทำไมที่ประเทศไทยจะทำไม่ได้ มันต้องทำให้ได้ ไม่เช่นนั้น จะมีปัญหาเดิมๆ ถ้าแพทย์ไม่พออยู่เวร แล้วต้องรับเวรต่อ ซึ่งไม่ได้ กรณีแบบนี้มีความไม่เป็นธรรมสูงมาก จำนวนเวรมีเยอะ ทำให้แพทย์อยู่เวรเยอะและเกินกำลัง ดังนั้น คนที่เป็นผู้บริหารต้องลงมาช่วยบ้าง”  นพ.ธนีย์ กล่าว 
 
ส่วนที่กล่าวกันว่า ‘ถ้าทนเหนื่อยไม่ได้จะมาเป็นแพทย์ทำไม’  นพ.ธนีย์ แย้งว่า คนเรามีปากท้อง มีครอบครัวต้องเลี้ยง มีสุขภาพต้องดูแล ถ้าเราเติมเต็มไม่ได้ ไม่มีใครเขาอยู่กันหรอก ถ้าท่านบอกว่า หมอต้องเสียสละ แล้วทำแบบนี้ต่อไป บอกได้เลย ระบบทางการแพทย์ สมองไหลหมดแน่ 
 
“บางคนอาจจะเคยได้ยินมาว่า Staff บางคนรับเวรก็จริง แต่ตัวไปอยู่คลินิก เพื่อหารายได้แล้วก็ปล่อยให้น้องแพทย์ใช้ทุนรับหน้ากันเอาเอง แต่โชคดีที่สมัยผมเป็นแพทย์ใช้ทุนโรงพยาบาลผม ผมไม่เคยเจอแบบนั้น อันนี้ถือว่าโชคดีมาก แต่คนอื่นก็อาจจะมีบ้าง แล้วทำไมถึงเกิดแบบนี้ขึ้นล่ะ ทำไม Staff ถึงไปทำงานข้างนอก ทำไมต้องไปรับเวร ทำไมจะต้องมาใช้แพทย์ใช้ทุนทำงาน ทำไมถึงมีระบบอาวุโส ทำไมแพทย์ใช้ทุนจบไปจะต้องเป็นเบ๊เขาเสมอไป ต้องทำงานที่ตัวเองไม่เคยคิดจะทำ ต้องทำงานหนักมากเกินกว่าที่ตัวเองคิดจะอยากทำ ทำไมมัน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ต้องบอกอย่างนี้ มันเป็นที่ระบบ ไม่ได้เป็นที่คน” นพ.ธนีย์ ย้ำ 
 
นพ.ธนีย์ เล่าอีกว่า เวลามีเรื่องพวกนี้ขึ้นมา หมอทุกคนก็หมดไฟ Burnout หมอที่อยู่ในระดับผู้บริหาร โดยเฉพาะถ้าอยู่ในระดับรัฐบาล ลองมาทำหน้าที่เป็น Intern สักหนึ่งเดือน เดี๋ยวท่านจะรู้เองว่า มันมีปัญหายังไง บางคนที่บอกว่า Burnout เพราะหมอความอดทนต่ำ แต่ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ระดับบุคคล มันอยู่ที่ระบบ ดังนั้น ถ้าเราจะแก้ก็ต้องแก้ที่ระบบตั้งแต่แรก ถ้าระบบยังแย่ ต่อให้ผลิตหมอให้ตาย ก็ไม่มีทางพอ  
 
“ระบบอาวุโสรุ่นพี่ ก็จะว่ารุ่นน้อง แล้วงานถัดมาก็คือเอางานภาระที่เยอะ มาให้เราทำ เยอะเกินไปจนกว่าที่เราจะรับไหว บางทีงานที่ทำ มันก็เป็นงานที่ไม่ใช่งานของเราเลย เป็นงานจิปาถะ งานเอกสารที่ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย เพิ่มภาระให้เราโดยใช่เหตุ แทนที่จะเอาเวลาไปทำอย่างอื่น ไปตรวจคนไข้ ไปทำหัตถการอะไรพวกนี้ เราก็ต้องมานั่งทำงานพวกนี้ ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับเรา การที่มีปัญหาแบบนี้ ทำให้ยิ่ง Burnout แล้วถามว่า ปัญหาพวกนี้มันเพราะอะไร มันก็เป็นเพราะว่าระบบ พอระบบมันไม่ดี หมออาวุโสก็ไม่อยากจะทำ เพราะงานมันเยอะ ก็ต้องหาเงินเพิ่ม ก็ต้องไปทำเอกชน แต่ทำเอกชนแล้วทำไง สมัยก่อนเราเคยให้ Intern ทำ ให้แพทย์ใช้ทุนทำ ก็โยนให้ทำแล้วกัน เราจะได้ไปหาเงิน เดี๋ยวน้องมันโตขึ้นมา มันก็ทำแบบเราเองนั่นแหละ ก็คิดแบบนี้ ก็ส่งต่อความคิดแย่ๆอย่างนี้ไปรุ่นสู่รุ่นไปเรื่อยๆ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ดังนั้น ถ้าเราจะแก้ก็ต้องแก้ที่ระบบตั้งแต่แรก” นพ.ธนีย์ ย้ำ 
 
แน่นอนว่า เสียงสะท้อนจากแพทย์ออกมาทุกทิศทาง ทำให้ทุกสายตาพุ่งเป้าไปที่กระทรวงสาธารณสุข ว่าจะแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างไร รวมถึงสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ออกมาเรียกร้องขอให้กระทรวงสาธารณสุขให้สวัสดิการที่ดีกับบุคลากรทางการแพทย์ เพราะเห็นว่า ทุกวันนี้การกระจายตัวของแพทย์เป็นปัญหาอย่างมาก ทั้งขาดแคลนและไม่เพียงพอ จนทำให้คนที่เหลือต้องแบกรับภาระงานที่หนักขึ้น บางพื้นที่แพทย์ 1 คนต้องดูแลคนไข้มากกว่า 3,000 คน จนไม่ยุติธรรมสำหรับคนทำงาน ส่งผลต่อสุขภาพและจิตใจ ส่วนคนที่ได้รับทุกข์ไปด้วยคือผู้บริโภคที่ต้องเข้ารับการรักษานั่นเอง 
 
ต้องจับตากันต่อไปว่า บทสรุปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร และในอนาคตจำนวนแพทย์จะเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ เพราะถือเป็นความท้าทายของประเทศไทย โดยเฉพาะปัจจุบันที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว อัตราคนเจ็บป่วยย่อมเพิ่มขึ่น แล้วระบบสาธารณสุขไทยจะพร้อมรองรับได้หรือไม่ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์