ประมวลชนวนเหตุ ‘ยุบสภา’ ในช่วงทศวรรษความวุ่นวายจาก ‘ทักษิณ’ ถึง ‘ประยุทธ์’

21 มีนาคม 2566 - 09:47

History-of-dissolution –of-parliament-taksin-prayut-SPACEBAR-Hero
  • ประมวลเหตุผลนำไปสู่ ‘การยุบสภา’ ของรัฐบาลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษสงครามสีเสื้อและอุดมการณ์ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ถึง ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’

  • วิเคราะห์แนวโน้มความได้เปรียบ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ กับปัจจัยการดูด ‘ผู้สมัครฯ นกแล’

ปากกาเซียนไม่หัก! เป็นไปตามที่คาดการไว้ล่วงหน้า ว่า ‘บิ๊กตู่’ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะตัดสินใจก่อนการสิ้นสุดสมัยรัฐบาลไม่กี่วัน เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง  ซึ่งหากย้อนกลับไปตามหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2475  ประเทศไทยเคยเกิดการ ‘ยุบสภา’ 15 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งล้วนมี ‘ชนวนเหตุ’ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะช่วงทศวรรษให้หลังที่นำไปสู่ปัญหาการเมืองสีเสื้อถึงทุกวันนี้  

กองบรรณาธิการ SPACEBAR ชวนผู้อ่านย้อนดูเหตุผลการยุบสภาตั้งแต่ยุครัฐบาล ‘ทักษิณ’ และ ‘ประยุทธ์’ เพื่อร่วมวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงของการเมืองในสภาวะ ‘แบ่งฝากฝ่าย’  

เริ่มจากยุครัฐบาล ‘พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร’ ที่ได้มีการประกาศยุบสภาฯ ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่เกิดการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองโดย ‘กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ ทำให้ ‘ทักษิณ’ ให้เหตุผลว่า สถานการณ์บ้านเมือง ส่อเคล้าวิกฤตการเผชิญระหว่างผู้คิดต่าง และอาจมีการสอดแทรกจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อความวุ่นวาย ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการประกาศยุบสภาฯ รัฐบาลทักษิณ 2 พยายามแก้ปัญหาด้วยการใช้ระบบรัฐสภาเป็นกลไก เปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ แต่มิอาจแก้ไขปัญหาได้ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตร จึงตัดสินใจประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ก่อนจะมีการรัฐประหารรัฐบาลรักษาการ โดยกลุ่มความมั่นคงที่เรียกตัวเองว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ ‘คมช.’ ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ในขณะที่ ‘ทักษิณ’ อยู่ต่างประเทศ 

ต่อมาเป็นยุค ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ที่จัดตั้งในรัฐบาลในค่ายทหารและถูกโจมตีจาก ‘แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ’ หรือกลุ่ม ‘นปช.’ มาโดยตลอด กระทั้งเกิดความวุ่นวายต่อเนื่อง ทำให้ ‘เดอะมาร์ค’ ตัดสินใจประกาศยุบสภาวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ด้วยเหตุผลว่าสิ้นสุดลงของวาระสภาผู้แทนราษฎรและวาระของรัฐบาล ขณะเดียวกันจะเป็นการเริ่มต้นใหม่ของประเทศในการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการตัดสินใจจากประชาชน พร้อมยืนยันว่าทำด้วยความเต็มใจ และหวังว่าประชาชนจะใช้โอกาสนี้ขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า พูดง่ายๆ คือการคืนอำนาจให้กับประชาชน

ในขณะที่การกลับมาอีกครั้งของรัฐบาลตระกูลชินวัตร อย่างรัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ ในฐานะน้องสาว ‘คนแดนไกล’ ก็เกิดเหตุมรสุม มีผู้ชุมนุมภายใต้ชื่อ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ ‘กลุ่มกปปส.’ ได้ออกมาเคลื่อนไหว และมีบทบาทสำคัญในการกดดันรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการชุมนุมปิดสถานที่ราชการสำคัญและการเดินขบวน ‘ชัตดาวน์กรุงเทพฯ’ คัดค้านการออกนิรโทษกรรมสุดซอย (ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พ.ศ.2556)

แม้ ‘รัฐบาลปู’ จะมีการเปิดพื้นที่ร่วมพูดคุยหารือและพยายามหาแนวทางแก้ไขความวุ่นวายหลายประการ ก็ไม่สามารถขจัดความอลเวงทางการเมืองได้จึงตัดสินใจยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และในเวลาต่อมาถูกกลุ่ม ‘ทหาร-ตำรวจ’ ที่เรียกตัวเองว่า ‘คณะรักษาความสงบแห่งชาติ’ หรือ คสช. ที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ในขณะนั้น) ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล โดยฝ่ายก่อการยกอ้างเหตุผลว่า รัฐบาล (รักษาการ) ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองได้ ซึ่งสถานการณ์ของ ‘นายกฯ ปู’ ถือเป็นการซ้ำรอยประวัติศาสตร์ ‘พี่แม้ว’ ที่ถูกฝ่ายความมั่นคงเข้ายึดอำนาจหลังมีการประกาศยุบสภาฯ

สำหรับครั้งล่าสุด คือ การประกาศยุบสภาของ ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ที่ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการยุบสภาฯ ก่อนครบวาระรัฐบาลที่สั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ ก่อน 3 วันเท่านั้น อย่างไรก็ดีในแง่รัฐศาสตร์ ตีความการประกาศยุบสภาในรอบนี้ว่าเป็นเรื่อง ‘การเมือง’ ขยายความต่อเนื่องคือ หากอยู่ครบวาระจะต้องมีจัดเลือกตั้งภายใน 45 วัน ซึ่งจะทำให้ ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ สังกัดการเมืองใหม่ของ ‘บิ๊กตู่’ ที่เป็นแม่ทัพใหญ่ในศึกชิงดำฐานะ ‘แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี’ ขาดความพร้อมหลายด้านโดยเฉพาะเรื่องขุมกำลัง 

หมายความว่าหาก ‘ประยุทธ์’ ไม่ยุบสภาฯ เลย การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 และ ส.ส.จะต้องย้ายพรรคก่อน 90 วันนับย้อนมาจากวันที่ 7 พฤษภาคม สรุปให้เข้าใจคือ ต้องเข้าเป็นสมาชิกพรรคใหม่ภายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 หากย้ายพรรคช้ากว่านั้นก็จะไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

แต่เมื่อการยุบสภาเกิดขึ้นช่วงเวลาสังกัดพรรคการเมืองจะลดลงเหลือ 30 วัน แน่นอนจะส่งผลให้บรรดา ส.ส.นกแล อีกหลายคนที่ตั้งหน้าตั้งตารอ ‘การย้ายพรรค’ จะใช้จังหวะนาทีทองระหว่างนี้ ย้ายสังกัดอย่างอลม่าน ซึ่งหนึ่งในพรรคที่คาดว่าจะได้เปรียบที่สุดคือ ‘รทสช.’ ที่จะช่วงชิง ‘โอกาส’ ในการ ‘ดูด’ ว่าที่ผู้สมัครส.ส. เสริมทัพสู้ศึกเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการกลับมาเป็น ‘เบอร์ 1 ไทยคู่ฟ้า’ อีกครั้งของ ‘ประยุทธ์’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์