การเมืองเรื่อง ‘ไม่ทำ’ กับชีวิตและความตายของคลองโอ่งอ่าง

10 ม.ค. 2566 - 09:09

  • ชะตากรรมของคลองโอ่งอ่างผ่านร้อนผ่านหนาว มีขึ้นมีลงมาตลอดกว่า 200 ปี

  • หลังการคืนชีวิตใหม่ให้มัน คลองแห่งนี้ควรจะได้รับการสนับสนุนไปเรื่อยๆ จากทางการกรุงเทพฯ หรือจะให้ประชาชนขับเคลื่อนมันกันเอง?

Life-and-death-and-the-politics-of-do-nothing-in-klong-ong-ang-SPACEBAR-Thumbnail
คลองโอ่งอ่างมันได้ชื่อแบบนั้น เพราะเคยเป็นแหล่งชุมนุมของผู้ซื้อและผู้ขายโอ่ง อ่าง กระถาง ไห เครื่องปั้นดินเผาทั้งหลายในสมัยก่อนกรุงเทพฯ เข้าสู่ยุคใหม่ มันเป็นตลาดโอ่งและอ่างของชาวมอญและชาวจีน กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการทำเครื่องปั้นดินเผา (อย่างที่เรารู้จักกันในชื่ออิฐมอญ และโอ่งมังกรจีน) 

ต่อมาความเป็นคลองแห่งโอ่งและอ่างก็สิ้นสุดลงไปตามกาลเวลา เมื่อผู้คนไม่จำเป็นต้องซื้อโอ่งกับอ่างมารองน้ำฝนเอาไว้ใช้อีก เพราะมีระบบประปาเข้ามาแทนที่ แต่คลองแห่งนี้ก็ยังเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญของพระนครต่อไป จนกระทั่งเมื่อกรุงเทพฯ เข้าสู่ยุคใหม่เต็มตัวและใช้ถนนเป็นที่สัญจรแทนคลอง คลองแห่งนี้ก็หมดความจำเป็นลง 

ความตายครั้งแรก 

ความเป็นลำคลองของมันกลายเป็นส่วนเกินของชีวิตคนเมืองยุคใหม่ที่ใช้ชีวิตพึ่งพาท้องถนน จนกระทั่ง 2526 หน่วยงานบริหารกรุงเทพมหานครเปิดสัมปทานที่คลองให้เป็นตลาดคร่อมลำน้ำเอาไว้เบื้องล่าง ส่วนข้างบนคือแหล่งค้าขายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบะของเล่นแหล่งใหญ่ของประเทศในชื่อ ‘สะพานเหล็ก’ นานวันเข้าร้านค้าชั่วคราวก็กลายเป็นการปักตอม่อสร้างเพิงถาวรครอบลำน้ำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน 

มันได้ชื่อว่าตลาดสะพานเหล็กเพราะตัวตลาดเริ่มต้นที่สะพานดำรงสถิตที่เป็นสะพานเหล็ก จากสะพานแห่งนั้นบรรดาร้านรวงต่างๆ จะเรียงรายกันเหนือลำคลองไปจนถึงสะพานภาณุพันธุ์ที่ติดกับพาหุรัดและสำเพ็ง แม้จะคึกคักไปด้วยการค้าขาย แต่สภาพของมันเรียกได้ว่า ‘ดูไม่จืด’ ไม่ว่าจมองจากมุมไหนมันก็ไม่ต่างอะไรกับสลัมดีๆ นี่เอง 

คลองขายโอ่งและอ่างที่ถูกแผ่นสังกะสีปิดทับเอาไว้จนกลายเป็นอดีตไป และนี่คือความตายครั้งแรกของคลองแห่งนี้  

เกิดใหม่ครั้งที่สอง  

คลองโอ่งอ่างอยู่ในสภาพ ‘ข้างบนเป็นสลัม ข้างล่างเป็นน้ำครำ’ แบบนี้จนกระทั่งถึงปี 2558 กรุงเทพมหานครภายใต้การนำของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ ในขณะนั้น อาศัยคำสั่งของคณะปฏิวัติฉบับที่ 44 ที่ออกมาตั้งแต่สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศให้ผู้ค้าย้ายออกไปจากตลาดสะพานเหล็กทั้งหมด เพื่อรักษาสภาพคลองโอ่งอ่าง (หรือคลองรอบกรุง) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไปแล้ว  

การรื้อตลาดคร่อมคลอง การขุดลอกคลอง การไล่น้ำครำออกไป และการลอยกระทงเหนือน้ำในคลองแห่งนี้ครั้งแรกในรอบ 30 ปีก็เกิดขึ้นในสมัยของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร นี่เอง 
 
แต่เอาเข้าจริงผู้ที่มีส่วนสำคัญอีกคนก็คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของรัฐบาล คสช. ที่ย้ำหลายครั้งเรื่องการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวางคลองโอ่งอ่างต้องเป็นไปตามกฎมาย และยืนยันเสียงแข็งไม่ยอมรับฟังเสียงอ้อนวอนของผู้ค้าที่ร้องเรียนมาถึงสำนักนายกฯ (เมื่อปี 2558 บิ๊กตู่บอกว่า “เรื่องนี้ต้องสอนให้ประชาชนเคารพกฎหมายด้วย”) และโปรดสังเกตว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็ยังต้องขอยืมอาญาสิทธิ์ของรัฐบาลทหาร คือ คำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 44 มาเคลียร์พื้นที่คลองโอ่งอ่าง 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนใหม่ในปีถัดมา พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่งเป็นคนของรัฐบาล คสช. อย่างชัดเจนได้สานต่องานนี้ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ไปดูงานที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ของคลองให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เหมือน ‘คลองช็องกเยช็อน’ ในกรุงโซล ซึ่งเป็นลำน้ำที่เหมือนเส้นเลือดหลักของเมืองหลวง แต่เคยถูกปู้ยี่ปู้ยำจนเละเทะเหมือนคลองโอ่งอ่าง จนกระทั่งทางการเกาหลีไล่สลัมออกไปและแปลงโฉมมันจนสวยเหมือนยกลำธารกลางป่ามาไว้ในเมือง 

กรุงเทพมหานครก็มีไอเดียแบบเดียวกัน เมื่อไล่ตลาดสะพานเหล็กออกไปและฟื้นฟูสภาพคลองใหม่ ปูทางเดินเลียบคลองใหม่ กรุงเทพมหานครก็ริเริ่มกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่คลองโอ่งอ่างโฉมใหม่ จนกระทั่งมันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ในเมืองหลวงที่ผู้คนต่างก็อยากจะมาดูให้ได้สักครั้ง จะว่าไปแล้วนี่คือช่วงเวลาที่คลองโอ่งอ่างท็อปฟอร์มสุดขีดในแง่ของการเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของกรุงเทพฯ และไม่เคยมีช่วงไหนในประวัติศาสตร์ที่มันจะหน้าตาดูดีได้ขนาดนี้ 

ความตายครั้งที่สอง? 

เมื่อผู้ว่าฯ อัศวินหมดวาระลงไป และผู้ที่รับไม้ต่อคือ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดูเหมือนว่าความคึกคักของคลองโอ่งอ่างจะเริ่มซาลงไป ในโซเชียลมีเดียมีการแชร์ภาพและประสบการณ์การไปเยือนคลองโอ่งอ่างในช่วง 6-7 เดือนหลังจากที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ รับตำแหน่ง และบ่นว่าคลองโอ่งอ่างกำลังถูกทอดทิ้งหรือเปล่า? เพราะมันเงียบเหงาจนเหมือนป่าช้า ต่างจากไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ที่เต็มไปด้วยผู้คน เสียงดนตรี และร้านอาหาร  

จากเสียงบ่นยกระดับกลายเป็นคำตำหนิ ชัชชาติ ที่ดูเหมือนจะทอดทิ้งโปรเจกต์ชิ้นโบแดงของผู้ว่าฯ คนก่อน จนกระทั่ง ชัชชาติ ต้องชี้แจงให้ที่สุดว่า “ถ้าเกิดต้องเอาเงินงบประมาณไปจัดอีเวนต์ทุกวัน ทุกปี สุดท้ายแล้วจะอยู่ไม่รอด ผมว่าตลาดหลายๆ อย่าง ต้องอยู่ได้ด้วยเนื้อหาของตัวมันเอง ซึ่งบางครั้งคนในชุมชน หรือรอบข้าง ก็ต้องสร้างตรงนี้ขึ้นมาด้วยกัน” และ “สุดท้ายแล้วต้องเป็นตลาดที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง ที่ชุมชนช่วยกันดูแล สร้างสินค้า สร้างกิจกรรม ที่ดึงดูดคนเข้าไปได้” 

แม้ว่าจะไม่ได้บอกอย่างตรงไปตรงมา แต่ดูเหมือนว่า ชัชชาติ จะไม่สานต่อโครงการของผู้ว่าคนก่อนแล้ว อย่างน้อยก็ในแง่การเจียดงบประมาณของกรุงเทพมหานครไปจัดอีเวนต์ที่คลองโอ่งอ่าง 

การเมืองเรื่อง ‘ไม่ทำ’ 

แต่ ชัชชาติ กำลังจะฆ่าคลองโอ่งอ่างให้มันตายอีกครั้งหรือเปล่า? ในภูมิทัศน์การเมืองบ้านเราที่การแบ่งฝ่ายสุดโต่งจนแต่ละฝ่ายไม่ยอมลดราวาศอกกัน เวลามีประเด็นไม่พอใจอะไรกันขึ้นมาก็มักจะลงเอยด้วยการสรุปว่าอีกฝ่ายมีเจตนาบ่อนทำลายอย่างแน่นอน ไม่มีทางที่มีจะมีเจตนาที่ดีได้  

การเมืองเรื่องของโอ่งอ่างก็เช่นกัน ฝ่ายวิพากษ์ ชัชชาติ (ซึ่งเชียร์อดีตผู้ว่าฯ อัศวินและนายกฯ ประยุทธ์) เชื่อว่า ชัชชาติ คิดจะตัดตอนผลงานของผู้ว่าฯ คนก่อนและมรดกของบิ๊กตู่อย่างแน่นอนเพื่อหวังบ่อนทำลายการเมือง (sabotage) เนื่องจากมาจากกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามกัน และหลังจากนั้นก็ดำเนินการโจมตี ชัชชาติ อย่างหนักว่า ‘ไม่ทำอะไร’ และ ‘ทำอะไรดีๆ ไม่เป็น’ 

แต่จากปากคำของ ชัชชาติ ค่อนข้างชัดว่า เขามีเหตุผลของเขา และเหตุผลคือต้องการจะให้ชุมชุมคลองโอ่งอ่างยืนด้วยลำแข้งตนเองให้ได้ในฐานะพื้นที่แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะต้องอาศัยงบประมาณจากภาครัฐไปกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา (เหมือนสมัยผู้ว่าฯ คนที่แล้ว) 

การ ‘ไม่ทำ’ นั้นบางครั้งไม่ได้หมายความว่าขี้เกียจหรือเฉยเมย ในปรัชญาการปกครองของจีนโบราณมีหลักการ ‘ไม่ทำ’ (อู๋เว่ย) ที่หมายถึงการปล่อยให้อารยธรรมขับเคลื่อนไปตามครรลองของมัน ตราบเท่าที่มันไม่ได้มีเรื่องร้ายแรงอะไรเกิดขึ้น ผู้ปกครองเพียงแต่ประคับประคอง และไม่แทรกแซงโดยไม่จำเป็น 

ให้งอกงามด้วยตัวเอง 

คำว่า ‘วัฒน’ ในคำว่า ‘วัฒนธรรม’ มีความหมายว่า ‘งอกงาม’ บางครั้งการจะให้อะไรเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ต้องปล่อยให้มันงอกเงย (วัฒน) จนงามด้วยตัวของมันเองในกรอบอันดีงามที่วางไว้ (ธรรม) สิ่งที่เรียกว่า ‘แหล่งวัฒนธรรม’ ก็เช่นกัน หากมันถูกแทรกแซงด้วยอำนาจแปลกปลอมจากภายนอกเพื่อให้มันโตขึ้นมา มันก็จะโตแบบไม่ยั่งยืน สุดท้ายก็จะเหมือนคลองโอ่งอ่าง ที่วันหนึ่งไม่มีคนจากทางการมาป้อนให้ มันก็เงียบสงัดเหมือนเมืองร้าง 

ผู้ว่าฯ อัศวินคงต้องการให้มันเหมือนคลองช็องกเยช็อน ทุกวันนี้คลองช็องกเยช็อนกลายเป็นสถานที่จัดงานอีเวนต์ตลอดทั้งปี จนสื่อเกาหลีใต้บางรายถึงกับบอกว่าคลองแห่งนี้ “ได้กลายเป็นสัญสัญลักษณ์ของงานเทศกาลและงานอีเวนต์ที่แตกต่างหลากหลาย” นั่นหมายความว่า ถ้าคลองบางกอกสามารถเติบโตได้ด้วยตัวเองตามทิศทางที่วางไว้ให้ มันก็สามารถกลายเป็นแบบคลองที่โซลได้เหมือนกัน 

แต่หัวใจสำคัญก็คือ มันจะต้องเป็นแหล่งอีเวนต์ที่ “แตกต่างหลากหลาย” ไม่ใช่งานซ้ำๆ ซากๆ แค่ให้คนมาเล่นดนตรี การแสดงริมถนน หรือพายเรือล่องคลอง ในกรณีของ คลองช็องกเยช็อนเป็นสถานที่สำหรับกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลายถึง 259 งานเฉพาะระหว่างปี 2005-2007 (หรือหลังจากเพิ่งเปิดใหม่) จนทำให้ “สายน้ำแห่งนี้มีสถานะที่มั่นคงในฐานะสถานที่สำหรับวัฒนธรรมและการพักผ่อนหย่อนใจ” จากรายงานขององค์กร Seoul Solution 

ชีวิตขึ้นๆ ลงๆ ของโอ่งอ่าง 

คลองโอ่งอ่างมีชีวิตและความตายของมันเองมานานกว่า 200 ปี มีฟังก์ชันที่แปรเปลี่ยนไปตามความต้องการของยุคสมัย มันมีตัวตนครั้งแรกในฐานะคูเมือง (หรือคลองรอบกรุง) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก อีกเกือบ 70 ปีต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มันกลายสภาพจากคูเมืองมาเป็นแค่คลองสัญจรและที่ขายโอ่งกับอ่างหลังการขุดคูเมืองใหม่เพื่อขยายพระนคร นั่นคือคลองผดุงกรุงเกษม 

เมื่ออายุครบ 200 ปีเต็มคลองถูกปูทับบางส่วนเพื่อทำให้เป็นตลาดเครื่องไฟฟ้า แต่จากนั้นมันถูกขัดสีฉวีวรรณให้กลายเป็นแหล่งวัฒนธรรมใหม่ และล่าสุดดูเหมือนมันจะกลายเป็นแค่คลองโอ่งอ่างธรรมดาๆ แต่หน้าตาดูดีกว่ายุคสมัยไหนๆ นี่คือเส้นทางชีวิตของคลองโอ่งอ่าง  

โดยไม่ต้องเทียบกับยุคสลัมกับน้ำครำ ต่อให้ไม่มีกิจกรรมอะไร คลองโอ่งอ่างตอนนี้หน้าตาสะสวยยิ่งกว่าคลองไหนๆ ในกรุงเทพฯ เรื่องนี้ต้งยกเครดิตให้ผู้ว่าฯ สขุมพันธุ์ ที่กล้าคืนชีวิตให้คลอง และผู้ว่าฯ อัศวินที่ทำให้มันมีสีสันขึ้นมา แต่ก็ต้องให้โอกาส ชัชชาติ ทดลองการบริหารคลองด้วยปรัชญา ‘ให้มันโตเอง’ ด้วย 

ตราบใดที่มันยังไม่ถูกถมเหมือน ‘คลองถม’ (คลองสามเพ็ง) เพื่อนบ้านของมัน ตราบนั้นก็ยังมีโอกาสสำหรับคลองโอ่งอ่างอยู่เสมอ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6Dz3Ff5U99Fc2CG869qAYK/5e35ebc4acea993267f01ed46c5ee793/Life-and-death-and-the-politics-of-do-nothing-in-klong-ong-ang-SPACEBAR-Photo01
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1Y2iGaxIfCSaBDmc0HnzU/56e2aabfe00d4e3ff749cc595c5db175/Life-and-death-and-the-politics-of-do-nothing-in-klong-ong-ang-SPACEBAR-Photo02
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2F85HvHkAlRMRoJ7E7RxQF/b1e666f4e882758dceef145924889eb7/Life-and-death-and-the-politics-of-do-nothing-in-klong-ong-ang-SPACEBAR-Photo03

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์