‘หลวงศุภชลาศัย’ ผู้ปลอมคำสั่งระดมพล จนเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ

5 ม.ค. 2566 - 10:23

  • หลวงศุภชลาศัยคือหนึ่งในแกนนำฝ่ายทหารเรือของคณะราษฎร

  • เขาคือผู้วางกลยุทธ์ควบคุมกำลังพลเอาไว้เพื่อยึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน 2475

Luang-suphachalasai-the-keyman-of-siamese-revolution-1932-SPACEBAR-Thumbnail
เจ้าของชื่อ ‘สนามศุภชลาศัย’ ก็คือผู้ริเริ่มก่อตั้งสนามกีฬาแห่งนี้เอง นั่นคือ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก แต่หลวงศุภชลาศัยไม่ใช่คนตั้งชื่อสนามเอง เพราะชื่อแรกของมันคือ ‘สนามกรีฑาสถาน’ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2484 กรมพลศึกษาเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบันตามชื่อของหลวงศุภชลาศัย เป็นที่ระลึก 

นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย มีชะตาชีวิตที่ไม่ได้เกี่ยวกับสนามกีฬาหรือเรื่องพลศึกษามาแต่แรก เพราะอย่างที่ยศของท่านบอกเอาไว้ คุณหลวงท่านเป็นนายทหารเรือโดยอาชีพมาตั้งแต่แแรก และใฝ่ฝันจะเป็นทหารเรือมาตั้งแต่เด็ก เพราะเคยหนีโรงเรียนไปดูเรือพิฆาตตอร์ปิโด ซึ่งทางราชการได้สั่งจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามา ทำให้ท่านชื่นชอบและอยากเป็นทหารเรือ 

พอโตขึ้นมาก็ได้เรียนที่โรงเรียนนายเรือและสำเร็จการศึกษาได้เป็นทหารเรือสมความตั้งใจ ได้รับราชการประจำเรือรบลำต่างๆ อย่างที่ทหารเรือควรจะเป็น

แต่ถ้าชีวิตของหลวงศุภชลาศัยเป็นทหารเรือไปเรื่อยๆ แบบนี้ก็คงไม่มีสนามกีฬาแห่งชาติในชื่อของท่าน  

จุดเปลี่ยนในชีวิตของหลวงศุภชลาศัยเกิดขึ้นเมื่อท่านยังเป็นนาวาโทอายุได้ 36 ปี เมื่อทหารเรือด้วยกันที่ชื่อ หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) มาชักชวนให้เข้าร่วมกับขบวนการที่มีชื่อว่า ‘คณะราษฎร’ หลวงสินธุสงครามชัยผู้นี้เป็นนักเรียนนอก ออกไปเรียนวิชาการที่เดนมาร์ก ระหว่างนั้นเดินทางมายังปารีสก็ได้คลุกคลีกับนักเรียนนอกฝรั่งเศสที่รวมหัวกันคิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครองของบ้านเมือง จนหลวงสินธุสงครามชัยตัดสินใจร่วมหัวจมท้ายด้วยคน 

เมื่อกลับมาไทย หลวงสินธุสงครามชัยก็พยายามมองหาทหารเรือหนุ่มด้วยกันที่มีอุดมการณ์เดียวกัน จนได้นายทหารมาร่วมเป็นร่วมตายอยู่จำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือหลวงศุภชลาศัย ซึ่งแม้จะมีอาวุโสสูงกกว่าแต่ก็ขอร่วมเป็นร่วมตายด้วยคน

เมื่อถึงเวลานัดหมายที่จะก่อการ คณะราษฎรฝ่ายทหารที่ประกอบไปด้วยฝ่ายทหารบกและทหารเรือจะต้องนำกำลังพลออกมายึดอำนาจและควบคุมตัวบุคคลสำคัญของชาติเอาไว้ แต่เนื่องจากพวกเขาเป็นแค่คณะลับเล็กๆ วิธีการเดียวที่จะยึดกุมกำลังพลมาอยู่ในมือได้ ก็คือ “ต้องปลอมคำสั่งระดมพล” ของผู้บังคับบัญชา  

และผู้ที่ได้รับหน้าที่นี้คือ นาวาโท หลวงศุภชลาศัย  

หลวงศุภชลาศัย ได้จัดพิมพ์ข้อความคำสั่งปลอมขึ้นมา 11 ฉบับ เพื่อระดมผู้บังคับการเรือรบหลวงทุกลำให้นำกำลังเข้ามาในพระนคร เพื่อสนับสนุนฝ่ายคณะราษฎร โดยนาวาเอก หลวงศุภชลาศัยได้พิมพ์ข้อความว่า “ขณะนี้จีนในกรุงเทพฯ ได้ก่อการจลาจลขึ้นแล้ว ให้ผู้บังคับการเรือรบทุกลำติดไฟเตรียมพร้อม และรอรับคำสั่ง” แล้วพิมพ์ชื่อพลเรือตรีพระยาปรีชาชลยุทธ ผู้รั้งตำแหน่งแม่ทัพเรือเป็นผู้ออกคำสั่ง 

ในเวลานั้นคนจีนในกรุงเทพฯ มักก่อเหตุจลาจลอยู่บ่อยครั้งและยังเกิดความตึงเครียดระหว่างเชื้อชาติอยู่บ่อยๆ คำสั่งนี้จึงไม่เป็นที่น่าสงสัย  

การใช้คำสั่งปลอมทำให้คณะราษฎรฝ่ายทหารเรือสามารถควบคุมกำลังพลเอาไว้อย่างง่ายดาย เช่นเดียวกับฝ่ายทหารบกที่ใช้วิธีเดียวกัน ในเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หลวงศุภชลาศัยและคณะทหารเรือปฏิวัติใช้คำสั่งปลอมระดมทหารได้กองพันพร้อมอาวุธครบครันเพื่อพาไปร่วมการปฏิวัติ โดยที่ทหารเหล่านั้นคิดว่าจะต้องไปปราบพวกอั้งยี่จีนที่เยาวราช 

กว่าผู้บัญชาการจะรู้ความจริงก็สายเกินไปแล้ว ผู้ใช้อำนาจการปกครองต่างก็ถูกควบคุมตัวไว้ และอำนาจการปกครองประเทศได้ถูกยึดไว้ในมือของคณะผู้ก่อการแล้วโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ (แต่ไปเสียเลือดแบบนองบ้านนองเมืองในปีถัดไป ในเหตุกบฎบวรเดช) 

ในวันนั้น หลวงศุภชลาศัยเสียแค่อินธนูบนบ่าไปข้างหนึ่ง เพราะต้องให้เรือเอกสงวน รุจิราภา เหยียบไหล่ขึ้นไปตัดสายโทรศัพท์ในกองพันเพื่อไม่ให้ข่าวการระดมพลด้วยคำสั่งปลอมแพร่งพรายออกไป ผลก็คือบ่าของหลวงศุภชลาศัยไม่มีบั้ง มีแต่รอยเท้าของเรือเอกสงวนเหลือไว้เป็นที่ระลึก 

และนี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้นาวาโทหนุ่มต้องเบนเข็มจากการเป็นทหารเรือ มาเป็นฝ่ายการเมืองอย่างเต็มตัว จนกระทั่งต้องเข้ามาร่วมบริหารจัดการประเทศในยุคใหม่ ในฐานะอธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก  

อ้างอิง: นายหนหวย, ทหารเรือปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์, 2521)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์